การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 625 view

         เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๐๐ - ๐๘.๒๐ น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

         ๑ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Yen Loan) มูลค่า ๙๔,๓๔๐ ล้านเยน (ประมาณ ๒.๗ พันล้านบาท) ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๐.๕ เพื่อสนับสนุนการดำเนินหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันโคเซ็นในไทย เพื่อพัฒนาวิศวกรและบุคลากรทักษะเฉพาะเพื่อรองรับการลงทุนของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งขณะนี้ ได้เริ่มดำเนินการแล้วที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN - KMITL) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN - KMUTT)

         ๒ การส่งเสริม SMEs และ startups ในไทย นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และ Startups ของไทยและญี่ปุ่น จำนวน ๖ ฉบับ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในไทยซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการจัดตั้ง Startups ที่มีนวัตกรรมของรัฐบาลไทยภายใต้โครงการ Innospace (Thailand)

         ๓ ความร่วมมือไทย - ญี่ปุ่น ในการพัฒนาประเทศที่สาม นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีกับการลงนามบันทึกช่วยจำว่าด้วยกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระยะที่สาม (Memorandum on Japan-Thailand Partnership Programme Phase 3) เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เพื่อต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน  โดยใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยและญี่ปุ่น

         ๔. นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกัน เช่น (๑) ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ (๒) ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น (๓) ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (๔) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และ (๕) ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

         ๕. ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) บรรลุผลการเจรจาในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ หรืออย่างช้าสุดภายในปี ๒๕๖๒ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคในภาพรวม  

         ๖. นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกใน ปี ๒๕๖๓

 

* * * * *

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ