รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Mental health promotion and prevention in schools and learning environments: an urgent call to action for world leaders and donors”

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Mental health promotion and prevention in schools and learning environments: an urgent call to action for world leaders and donors”

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ย. 2565

| 20,521 view

เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “Mental health promotion and prevention in schools and learning environments: an urgent call to action for world leaders and donors” จัดโดยรัฐบาลไทย ร่วมกับ สมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรสเปน UNICEF WHO และ UNESCO ณ UNICEF House นครนิวยอร์ก

กิจกรรมฯ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบของการปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ต่อสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น และผลประโยชน์ด้านต้นทุนของการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลและผู้บริจาครายต่าง ๆ ดำเนินมาตรการและลงทุนเรื่องการส่งเสริมและปกป้องสุขภาพจิตและจิตสังคมในภาคการศึกษา สำหรับนักเรียนและผู้ให้การศึกษาทุกคน

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอแนวทางที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน โดยเน้นบทบาทของโรงเรียนใน ๓ เรื่อง ดังนี้

(๑) โรงเรียนช่วยส่งเสริมสุขภาพทางอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก และช่วยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในระยะเริ่มต้นและสัญญาณของความทุกข์ทางจิต โดยได้นำเสนอข้อริเริ่ม School Health HERO ของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว

(๒) โรงเรียนช่วยยับยั้งปัญหาสุขภาพจิต โดยช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน เพื่อรับมือกับภาวะรุมเร้าและความท้าทายในแต่ละวัน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นใจในตนเอง ผ่านการฝึกกำหนดเป้าหมายและการฝึกความมั่นคงทางจิตใจ ตลอดจนปลูกฝังความคิดเชิงบวกและพัฒนากรอบความคิดที่ถูกต้องเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

(๓) โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับทุกคน โดยเฉพาะเพื่อชดเชยการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้ในช่วงโควิด-๑๙

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการพลิกโฉมและลงทุนด้านการศึกษา โดยเสนอให้พัฒนาโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการการเรียนรู้ ควบคู่กับการสร้างความสุขและแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในบริบทของโควิด-๑๙ และภายหลัง เสมือนการฉีด “วัคซีนเข็มกระตุ้น” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กทุกคน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ