ข่าวสารนิเทศร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ของราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และราชอาณาจักรไทย

ข่าวสารนิเทศร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ของราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และราชอาณาจักรไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 พ.ค. 2565

| 3,496 view

๑. กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำสำคัญสามรายการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ ๑๑-๑๓ พฤศจิกายน การประชุมผู้นำจี ๒๐ ในวันที่ ๑๕-๑๖ พฤศจิกายน และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๒๒ (๒๕๖๕)

 

๒. กรอบการประชุมอาเซียน จี ๒๐ และเอเปคมีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างโอกาสพิเศษแก่ประเทศ/เขตเศรษฐกิจสมาชิกในการผลักดันวาระและความพยายามระดับโลกและภูมิภาคร่วมกัน เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่งคั่ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับประชาชนทุกคนของเรา

 

๓. เพื่อการนี้ อาเซียนภายใต้หัวข้อ “อาเซียนร่วมจัดการความท้าทายไปด้วยกัน” (“ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together”) มุ่งมั่นจัดการความท้าทายที่เราเผชิญร่วมกันและรักษาพลวัตของการสร้างประชาคมอาเซียนด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอาเซียนท่ามกลางความไม่แน่นอนระดับโลกและรักษาบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของหลักการของความเคารพและผลประโยชน์ของกันและกันอย่างเท่าเทียม ประเด็นสำคัญอันดับต้นของพวกเรา คือ การเร่งความพยายามในการฟื้นฟูผลกระทบของโควิด-๑๙ การส่งเสริมการรวมกลุ่มของอาเซียนและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และการเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขและความคุ้มครองทางสังคมเพื่อประชาชนของเรา

                                       

๔. จี ๒๐ ภายใต้หัวข้อ “ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม” (“Recover Together, Recover Stronger”) มีเป้าหมายในการสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและครอบคลุมสำหรับทุกคน วาระการเป็นประธานของอินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะทำให้จี ๒๐ มีความหมายไม่เฉพาะสำหรับสมาชิก แต่สำหรับทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา โดยได้ระบุประเด็นสำคัญสามประการ ได้แก่ การเสริมสร้างสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขระดับโลก การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้จี ๒๐ สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นการฟื้นฟูของโลกอย่างเข้มแข็งและครอบคลุม

 

๕. สำหรับเอเปคซึ่งเป็นเวทีหารือที่มีเอกลักษณ์ระหว่างเขตเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐ ในเอเชีย-แปซิฟิก การดำเนินการยังคงคืบหน้าต่อไปในการเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเพื่อบรรลุความมั่งคั่งร่วมกัน หัวข้อหลักของเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ (๒๕๖๕) คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (“Open. Connect. Balance.”) สะท้อนเป้าหมายและความมุ่งมั่นร่วมกันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกในการจัดการกับความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เกิดจากโรคระบาดและความขัดแย้งซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงที่รู้สึกได้ทั่วโลก เอเปคมุ่งผลักดันวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่นและมีสันติภาพ ในฐานะเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพ ไทยผลักดันการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก การฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ และเน้นย้ำความครอบคลุมและความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยภูมิภาคและโลกฟื้นฟูจากโรคระบาดโควิด-๑๙

 

๖. ในฐานะประธานของการประชุมสำคัญสามรายการในปีนี้ พวกเรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือ ควบคู่กับที่พวกเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นแกนกลาง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียนในการดำเนินการเพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคและโลกของเราต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ