นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. ๒๐๑๙

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. ๒๐๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 561 view

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ค.ศ. ๒๐๑๙ (United Nations Climate Action Summit 2019) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๔ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

การประชุมดังกล่าวเป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อยกระดับความมุ่งมั่นในการดำเนินการของประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสภายใต้กรอบอนุสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญ ของอาเซียนในด้านสภาพภูมิอากาศใน ๒ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านพลังงาน อาเซียนจะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ ๓๐ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ ๒๓ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ และ (๒) ด้านการขนส่งทางบก อาเซียนจะลดการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียนร้อยละ ๒๖ ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๒๕ รวมถึงจะเสนอและเสริมสร้างมาตรการนโยบายการคลังบนพื้นฐานการประหยัดพลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับประเทศ และส่งเสริมการประกาศใช้มาตรฐานการใช้เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กของแต่ละประเทศ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศและทุกภาคส่วน โดยอาเซียนพร้อมที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประกันความยั่งยืนให้กับอนุชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีมาจากแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมฯ (ASEAN Joint Statement to the United Nations Climate Action Summit 2019) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยผ่านการเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียน สะท้อนเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในด้านสภาพภูมิอากาศของอาเซียน และเน้นย้ำบทบาทของอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลัก (theme) สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ