คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ในหัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคม ACMECS”

คำกล่าวของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ในหัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคม ACMECS”

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,367 view

ปาฐกถานายกรัฐมนตรีในการประชุม ACMECS CEO Forum

“บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคม ACMECS”

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๑

*****************

 

ฯพณฯ อูวินมยิน (อู วิน มิ้น) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ฯพณฯ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

ขอต้อนรับทุกท่านสู่การประชุมภาคเอกชนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง หรือ ACMECS CEO Forum ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนจำนวนมาก  ทั้งจากประเทศสมาชิก ACMECS และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมนี้  ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมผู้นำ ACMECS ได้ริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ คู่ขนานไปกับการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ

 

ประเทศไทยได้ร่วมกับชาติสมาชิก ACMECS อีก ๔ ประเทศ ริเริ่มจัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS ขึ้นในปี ๒๕๔๖ นับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS ได้แก่ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติสมาชิกทั้ง ๕ โดยอาศัยความได้เปรียบจากความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมในการลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงาน และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันโดยเฉพาะในบริเวณตะเข็บชายแดน เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคม ให้สามารถรองรับการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ได้อย่างคล่องตัวและสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

 

ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ผลของการดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือในกรอบ ACMECS แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและในระดับท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองแบบยั่งยืนร่วมกันของอนุภูมิภาค ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ACMECS เติบโตขึ้นมาก เศรษฐกิจของภูมิภาค CLMTV มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๖ - ๘ ต่อปี ซึ่งนับได้ว่าสูงที่สุดในอาเซียน และเป็นเครื่องจักรในการเจริญเติบโต (engine of growth) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและของโลกต่อไปในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันแรกเริ่มก่อตั้ง ACMECS จวบจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด โลกก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศ ACMECS จึงต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของ ACMECS ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจะต้องยกระดับสินค้าเกษตรด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า แทนที่จะมุ่งแข่งขันด้านต้นทุน และแข่งขันกันที่ค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่างกันเอง โดยขาดความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีแต่จะลดทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลง

 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านเทคโนโลยีแล้ว อนุภูมิภาค ACMECS ยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน อนุภูมิภาค ACMECS ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียนที่ตั้งอยู่ริมลุ่มแม่น้ำโขง ได้มีสถานะเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ตำแหน่งที่ตั้งของ ACMECS ซึ่งเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกเข้าด้วยกันจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับ Belt and Road Initiative ของจีน และยุทธศาสตร์ Free and Open Indo Pacific ที่สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรได้ร่วมกันริเริ่มขึ้น ชาติสมาชิก ACMECS จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partners) ทั้งหลายให้มีสมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ

 

ในการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ ๗ เมื่อปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยและผู้นำชาติสมาชิก ได้หารือถึงความจำเป็นในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านเทคโนโลยี และด้านภูมิรัฐศาสตร์ และได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ACMECS ซึ่งต่อมา เมื่อประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธาน ACMECS รัฐบาลไทยจึงได้หารือกับชาติสมาชิก อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ACMECS อย่างแท้จริง ผลจากการหารือดังกล่าวได้นำไปสู่ฉันทามติของทุกชาติสมาชิก ในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS หรือ ACMECS Master Plan เพื่อปรับโครงสร้างและจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับความท้าทายที่สมาชิกในอนุภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

 

ในวันพรุ่งนี้ ที่ประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ ๘ จะพิจารณาให้การรับรองแผนแม่บท ACMECS ซึ่งจะเป็นเสมือนพิมพ์เขียวในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนุภูมิภาคแห่งนี้ต่อไปในอนาคต หลักการสำคัญของแผนแม่บทฉบับนี้จะมุ่งเน้นที่การสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อให้เกิดขึ้นในอนุภูมิภาค ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ดิจิทัล พลังงาน การเชื่อมโยงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุน และการเงินตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ ACMECS ก้าวไปสู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจยุคใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานและมีการเชื่อมโยงที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างในการพัฒนาของกลุ่มประเทศสมาชิก และก้าวไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน สามารถบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่มูลค่าของเศรษฐกิจอาเซียน และเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ

 

ผมได้ถือโอกาสกล่าวโดยสรุปถึงที่มาและเนื้อหาสำคัญแผนแม่บทฉบับนี้ ก่อนที่ที่ประชุมผู้นำจะให้การรับรอง ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ภายใต้แผนแม่บทฉบับนี้ ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา ACMECS เพราะจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินไปพร้อม ๆ กัน รวมกันเป็นฐานการผลิตที่มีเอกภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นจุดเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย - แปซิฟิก เพิ่มพูนการค้าและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภูมิภาคอื่นได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนที่จะต้องร่วมงานกับภาครัฐและภาคประชาสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ACMECS ต่อไปอย่างยั่งยืนในสามประการ ดังต่อไปนี้

 

ประการแรก ภาคเอกชนจะร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่ผมได้กล่าวถึงนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การส่งเสริมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพราะการพัฒนาในอนุภูมิภาค ACMECS ในระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ประเมินไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมต้องการเงินลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงถึงปีละ ๑.๕ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ ๖ ของ GDP รวม ตัวเลขการลงทุนที่ว่านี้ สูงเกินกว่าที่ภาครัฐจะสามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ในรูปแบบ Public - Private Partnership หรือ PPP ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้เริ่มดำเนินความร่วมมือ PPP กับภาคเอกชนไปแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยโครงการลงทุนหลักที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งรัฐบาลจะเปิดประมูลในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส ๓ การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส ๓ เป็นต้น

 

ประเทศไทยมองว่า หากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเทศอื่น ๆ ใน ACMECS ได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มพูนการค้าการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งตามแนวชายแดน  ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ลดช่องว่างในการพัฒนา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจทั้งอนุภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงได้ผลักดันให้แผนแม่บทบรรจุเรื่องการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนา ACMECS ในอนาคต และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้นเพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ACMECS อย่างไรก็ดี ในการขับเคลื่อนกองทุน ACMECS ให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงินของภาครัฐให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและภาคเอกชนจะต้องเป็นพลังสำคัญในการช่วยแสวงหาแหล่งเงินทุนและช่วยระดมทุนสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ACMECS  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญของ ACMECS เช่น แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (North - South Economic Corridor) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor) นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล ภายใต้ Belt and Road Initiative ของจีน และยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ได้อีกด้วย

 

ประการที่สอง ภาคเอกชนต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไปสู่โลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น นวัตกรรมด้านดิจิทัล e-commerce และ Fintech เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจของ ACMECS อย่างมาก และอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งหากภาคธุรกิจปล่อยปละละเลย ไม่เตรียมการไว้ให้พร้อม ก็อาจทำให้เราพลาดโอกาส และส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจของ ACMECS ในภาพรวม อีกทั้งยังอาจมีความเสี่ยง จากนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่เป็นช่องทางของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติได้ ประเทศไทยมองว่า ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความพร้อมและความต้องการของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เราจึงพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุนภาคเอกชนในการปรับตัวให้ทันโลกธุรกิจสมัยใหม่ โดยการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ (smart farmers) ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (startups) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Smart ACMECS ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งของแผนแม่บท ที่ผู้นำ ACMECS จะพิจารณารับรองในวันพรุ่งนี้ ผมจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นและสอดประสานกันมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้

 

นอกจากด้านเทคโนโลยีแล้ว การเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นประเด็นที่ภาคเอกชน ACMECS ต้องเร่งปรับตัว และรีบตักตวงโอกาสจากการที่ภูมิภาคเอเชียกลับมามีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างกัน ขณะนี้ อนุภูมิภาค ACMECS กำลังเป็นที่สนใจของนานาประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาทำการค้า และลงทุน ประเทศไทยตระหนักดีว่า เศรษฐกิจของชาติ ACMECS มีการพึ่งพาการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ACMECS ก็มีความสนใจที่จะขยายการค้าขายตามแนวชายแดน เพื่อเข้าถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๖๐ การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา มีมูลค่ารวมกันสูงกว่า ๕ แสนล้านบาท หากรวมการค้าผ่านแดนกับเวียดนามด้วยแล้ว ตัวเลขมูลค่าการค้ารวมจะสูงราว ๖ แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ACMECS

 

รัฐบาลไทยขอให้ความมั่นใจว่า เรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการลดอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ที่ผ่านมา ความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก ซึ่งได้ปรับการจัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจกับไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีของการค้าชายแดน ซึ่งมีมิติของความมั่นคงและผลกระทบด้านสังคมเพิ่มเข้ามาด้วยนั้น ผมขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ร่วมทำงานกับภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีความมั่นคง บรรยากาศแห่งความเป็นมิตร และบรรยากาศของการทำงานข้ามพรมแดน และช่วยกันรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงบริเวณชายแดน เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ช่องทางหนึ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถร่วมมือกันในด้านนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพูดคุยผ่าน CLMVT Forum ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและสร้างเวทีให้ผู้นำธุรกิจชั้นนำใน ACMECS และผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ได้มาร่วมกันระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่าย เพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ตลอดจนหาช่องทางปลดล๊อกอุปสรรคในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจชายแดนระหว่างกัน ผมจึงขอเชิญภาคเอกชนให้ร่วมกันพิจารณาดูว่า จะสามารถใช้ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการประชุมในครั้งนั้น จัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ให้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และ CLMVT Forum จะสามารถเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาแบบไร้รอยต่อใน ACMECS ได้อย่างไร ผมและผู้นำชาติ ACMECS ทุกท่านพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้แทนภาคเอกชนทุกท่านที่มาเข้าร่วมงานในวันนี้จะมีข้อเสนอที่น่าสนใจให้ภาครัฐได้รับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ประการที่สาม ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนา สามารถเจริญเติบโตไปได้พร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) โดยในการส่งเสริมให้เกิดการกระจายการพัฒนาไปยังชาติสมาชิก ACMECS ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับชาติ ACMECS ทุกประเทศ โดยยึดหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม มีพลังจากความร่วมมือที่เป็นเอกภาพ (Power in Unity) เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Stronger Together  ประเทศไทยขอยืนยันว่า เราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางวิชาการต่อประเทศสมาชิก ACMECS อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข้ง เกิดการพัฒนาภาคเกษตรจากภายในสู่ภายนอก ในขณะเดียวกัน เราก็พร้อมที่จะ ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่จำเป็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับชุมชน

 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการกระจายความเจริญได้อย่างเป็นระบบ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ทั่วถึงไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ความจริงนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ภาคเอกชนของไทยจำนวนหนึ่งได้เข้าไปลงทุนในประเทศ ACMECS แล้ว และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในชาติ ACMECS อื่น ๆ ซึ่งหากภาคเอกชนไทยและพวกท่าน ซึ่งเป็นภาคเอกชนชั้นนำจากชาติสมาชิก ACMECS สามารถที่จะเชื่อมโยงการลงทุนและห่วงโซ่การผลิตได้อย่างเป็นระบบ และดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันของชาติ ACMECS แล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระจายเม็ดเงินลงทุนภายในอนุภูมิภาค และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ผมมีความเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนไทยสามารถเชื่อมต่อและร่วมมือกับภาคเอกชนของชาติ ACMECS ทุกชาติได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในขณะที่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค กลับดูเหมือนจะเป็นได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะที่มีกระแสนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับในเวทีเศรษฐกิจโลก

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ

 

ประเทศไทยมองว่า นอกจากการร่วมมือกันพัฒนาชายแดน และส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตแล้ว ภาคธุรกิจที่สามารถเร่งรัดการพัฒนาให้เห็นผลได้ในทันที ได้แก่ การท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS  

 

ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วทั้งอนุภูมิภาค ACMECS เพื่อให้ ACMECS เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ตามนโยบาย “๒ ประเทศ ๑ จุดหมายปลายทาง” (Two Countries, One Destination) กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา และนโยบาย “ประเทศไทย + ๑) (Thailand + 1) เพื่อพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวให้ขยายไปทั่วทั้งอนุภูมิภาค ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวใน ACMECS ส่วนมากยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เพียงไม่กี่เมืองของไทย รัฐบาลไทยจึงได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ดังนั้น หาก ACMECS สามารถร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวข้ามแดนไปท่องเที่ยวต่อในชาติสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของ ACMECS ก็จะเกิดการพัฒนาขึ้นไปได้พร้อม ๆ กัน ผมจึงขอฝากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ACMECS ให้ร่วมกันส่งเสริมและเชื่อมโยงตลาดท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน เพื่อที่ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์และเติบโตไปพร้อม ๆ กัน

 

ในด้านการจ้างแรงงาน ประเทศไทยมีนโยบายที่เปิดกว้างในการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิก ACMECS ที่มีชายแดนติดกับไทย ในช่วงปลายปี ๒๕๖๐ แรงงานต่างด้าวในไทยที่มาจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา มีจำนวนราว ๒ ล้านคน ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ จำนวนทั้งสิ้น ๑๐ แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมสำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับชาติสมาชิก ACMECS อื่น ๆ มีศักยภาพที่จะรองรับแรงงานต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยัง มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้ ผมจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ พิจารณาเข้ามาทำการลงทุนในพื้นที่ SEZ โดยอุตสาหกรรมที่ไทยมองว่ามีความเหมาะสมต่อการลงทุนในเขต SEZ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหรือวัตถุดิบที่ต้องนำข้ามแดนมาจากประเทศ ACMECS อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาสายพานการผลิตหรือห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศ ACMECS อาทิ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจสิ่งทอ ธุรกิจกระจายสินค้า ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการค้าชายแดน เป็นต้น

 

รัฐบาลไทยขอยืนยันต่อชาติสมาชิก ACMECS และภาคเอกชนว่า ประเทศไทยมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เราตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม เราทราบดีว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ ACMECS และที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ได้เร่งรัดการปฏิรูปการจัดทำทะเบียนประวัติ และการขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อสร้างระบบการจ้างงานที่เป็นธรรม และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ในการนี้ ผมขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้ช่วยกำกับดูแลการจ้างงานให้มีความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นการเอารัดเอาเปรียบ  ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานจากทุกชาติได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจของ ACMECS โดยเท่าเทียมกัน

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม และได้ให้การผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS มาโดยตลอด เพราะเรามองว่า ความพยายามในการลดช่องว่างในการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ตามแนวทางของ ACMECS สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในวันนี้ ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าอย่างมีสมดุล เพื่อให้ทุก ๆ ประเทศมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สามารถเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) อีกทั้งยังสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (inclusive growth) ผมจึงขอเชิญชวนภาคเอกชนจากทุกประเทศมาร่วมมือกันพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS ให้ลึกซึ้ง แนบแน่น และเจริญก้าวหน้าต่อไป

การจัดเวที ACMECS CEO Forum ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านในที่นี้ ทั้งผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นพลวัตขับเคลี่อนที่สำคัญของภูมิภาคนี้จะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่ประเด็นความร่วมมือที่ภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง ๕ ประเทศ สามารถเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้พร้อม ๆ กัน ตามหลักการที่ว่า “Stronger Together and Leave No One Behind” เราต้อง “ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง และร่วมมือกัน” เพื่อประชาคม ACMECS ซึ่งท่านทั้งหลายในที่นี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้เกิดขึ้น

ในการนี้ ผมขอประกาศเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ในวันนี้ และ ขอให้การประชุมในวันนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี

ขอบคุณครับ

*****************************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ