กระทรวงการต่างประเทศนำผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชาวประมงของไทย เพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับชาวประมง

กระทรวงการต่างประเทศนำผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชาวประมงของไทย เพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับชาวประมง

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 526 view

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมยุโรป ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับลูกเรือและผู้ประกอบการประมง โดยการประชุมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาโรงเรียนชาวประมงเพื่อการประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน” ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการดำเนินการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับชาวประมง โดยเฉพาะการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ลูกเรือประมง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีการประมง กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้านการประมงและมาตรฐานแรงงาน ความปลอดภัยและสุขอนามัยบนเรือ เป็นต้น โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการนำคณะชาวประมงเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการปฏิรูปการทำการประมงที่สหกรณ์และโรงเรียนชาวประมงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐

กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญ ดร. Karsten Zumholz ผู้อำนวยการโรงเรียนประมง เมือง Rendsburg สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำหลักสูตรโรงเรียนชาวประมง เดินทางมาประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรโรงเรียนชาวประมงสำหรับฝ่ายไทย และได้เชิญ ผศ. ดร. เมธี แก้วเนิน จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอแนวทางการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับลูกเรือและผู้ประกอบการประมง โดยมีผู้แทนจาก กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงสมุทรสงคราม สภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนชาวประมงจากจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วม

ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างฝ่ายต่างประเทศกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะ เพื่อสร้างเครือข่ายและสานต่อความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับฝ่ายไทยในอนาคต รวมถึงการนำผลการประชุมครั้งนี้ ไปต่อยอดในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นฯ ร่วมกันต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน ได้เข้าเยี่ยมคารวะอธิบดีกรมประมง และศึกษาดูงานศูนย์ฝึกอบรมของศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกของเรือ วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร รวมทั้งการเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตชาวประมงไทย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวประมงไทย ที่กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านบ้านในถุ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตจากประเทศในยุโรป และอาเซียนเข้าร่วมจำนวน ๑๑ คน

การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับชาวประมง เป็นการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนของไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับชาวประมงไทย รวมทั้งส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับต่างประเทศเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals - SDGs)โดยหากจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับชาวประมงแล้วเสร็จ จะได้มีการเผยแพร่หลักสูตรฯ ทางช่องทางต่าง ๆ โดยมอบให้แก่สมาคมประมงใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล ศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกของเรือ ๓๐ ศูนย์ สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาการประมง และศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง ๖๐ ศูนย์ ทั่วประเทศ รวมถึงในเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ชาวประมง สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ