กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา หารือกับนาย Taizo Mikazuki ผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะ

กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา หารือกับนาย Taizo Mikazuki ผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,578 view

          วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายกฤษณ์ ตันคณารัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา หารือกับนาย Taizo Mikazuki ผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหาลู่ทางขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับจังหวัดชิกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทะเลสาบบิวะแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น พร้อมทั้งเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบบิวะ และดูงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ Ohmi Environmental Plaza และศูนย์บำบัดน้ำทิ้ง Konanchubu

          ในการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะ สองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างจังหวัดชิกะกับประเทศไทยผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะได้เดินทางไปประเทศไทย 2 ครั้ง ในปี 2559 และ 2560 เพื่อประชาสัมพันธ์ จังหวัดฯ นอกจากนั้น จังหวัดชิกะเคยเชิญวิทยากรจากไทยมาบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยแก่นักธุรกิจของจังหวัดฯ ในขณะที่ประเทศไทย โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารจัดการน้ำของจังหวัดฯ ไปแลกเปลี่ยนด้านทรัพยากรน้ำที่จังหวัดตราดและจังหวัดอุดรธานีในปี 2559 สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางน้ำ และการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 คลี่คลาย

          ในการเยือนพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบบิวะ  ศูนย์บำบัดน้ำทิ้ง Konanchubu และ Ohmi Environmental Plaza กงสุลใหญ่ฯ และคณะได้ดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำบริเวณทะเลสาบบิวะซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดชิกะและภูมิภาคคันไซ รวมทั้งได้รับฟังการนำเสนอเทคโนโลยีการจัดการน้ำจากบริษัทเอกชนชั้นนำของจังหวัดชิกะ เช่น เทคโนโลยีการซ่อมแซมท่อน้ำโดยไม่ต้องใช้วิธีขุด การตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบง่ายซึ่งสามารถใช้ตรวจคุณภาพน้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวันและภาคการผลิตโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน      

          การเยือนในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ว่าราชการจังหวัดชิกะ และรับทราบประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทางน้ำซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัดชิกะ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ