วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ส.ค. 2565
เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศวาระปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึง ๒๕๗๐ ร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายจัดการเสวนาในหัวข้อ “Women in Diplomacy: The Role of Women in Supporting Thailand’s Promotion of International Law” ณ บ้านปาร์คนายเลิศ โดยมีเอกอัครราชทูตสตรีประจำประเทศไทย ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและนักการทูตสตรีระดับสูงทั้งอดีตและปัจจุบันของกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมงาน
การเสวนาฯ ครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ เป็นห้วงเวลาที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองข้อมติเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ กำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสตรีด้านการทูต โดยการจัดการเสวนาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างสตรีที่ทำงานด้านการทูตเพื่อส่งเสริมกฎหมายระหว่างประเทศและหลักนิติธรรม รองปลัดวิลาวรรณฯ กล่าวถึงการที่ตำแหน่งระดับสูงต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติและสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ มีอัตราส่วนของเพศชายมากกว่าเพศหญิง และขอให้สตรีที่ทำงานด้านการทูตสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไปเพื่อส่งเสริมให้สตรีได้มีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์การสหประชาชาติ และในสถาบันระหว่างประเทศอื่น ๆ
ดร. สุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกล่าวแนะนำบทบาทและความรับผิดชอบหลักของกรมสนธิสัญญาฯ ในการเป็นผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงการจัดทำสนธิสัญญาแก่หน่วยงานภาครัฐ ดร. สุพรรณวษาฯ กล่าวถึงสัดส่วนชายหญิงของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในปัจจุบันของกรมฯ และแสดงความยินดีที่อัตราส่วนของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นสตรีมีเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ ๖๒ ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด) โดยเสนอ ๓ แนวทางดังต่อไปนี้เพื่อช่วยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในการส่งเสริมการเพิ่มโอกาสให้สตรีสามารถดำรงตำแหน่งในองค์กรด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
แนวทางที่ ๑ การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการรักษาองค์ความรู้ของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างศักยภาพและความเชี่ยวชาญของนักกฎหมายระหว่างประเทศสตรี ในประเด็นเทคนิคใหม่ๆ อาทิ อาชญากรรมทางไซเบอร์ โรคระบาด เป็นต้น
แนวทางที่ ๒ การสนับสนุนและส่งเสริมให้นักกฎหมายสตรีได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกฎหมาย (คณะกรรมการหก) ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
แนวทางที่ ๓ การแสวงหาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และสถาบันด้านกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกองจัดทำประมวลกฎหมายของสำนักงานกฎหมายแห่งสหประชาชาติ (Codification Division, United Nations Office of Legal Affairs) ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคขององค์การสหประชาชาติสำหรับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก
นางกีต้า ซับราวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในฐานะวิทยากรรับเชิญ ย้ำว่า ความเสมอภาคทางเพศเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสันติภาพและได้กล่าวชื่นชมคำสัญญาและความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการมีส่วนร่วมของสตรีในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยชื่นชมการที่รัฐบาลไทยแต่งตั้งผู้แทนพิเศษในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในกระบวนการรักษาสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเสนอแนวทางสี่ประการเพื่อช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการปฏิบัติตามวาระ สตรี สันติภาพและความมั่นคง ได้แก่ (๑) การทำความเข้าใจปัญหาโดยรับฟังมุมมองและประสบการณ์ของสตรีและเด็กผู้หญิง (๒) การคุ้มครองและการเสริมสร้างศักยภาพของสตรี (๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคณะทำงานร่วมสามคณะ ได้แก่ คณะทำงานร่วมเกี่ยวกับการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการหาทางออกทางการเมือง (๔) การให้สตรีเป็นศูนย์กลางของการสร้างสันติภาพเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **