สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศเกาหลีใต้และอินเดีย
๑.๑ การหารือกับนายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
(เกาหลีใต้) เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔
- ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับเมียนมาและการหาทางออกต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างสันติ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ตอบรับคำเชิญของเกาหลีใต้ที่เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ “หุ้นส่วนการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลก ปี ๒๐๓๐” (Partnering for Green Growth and Global Goals of 2030: หรือ P4G) ครั้งที่ ๒
ซึ่งจะจัดขึ้นผ่านระบบทางไกล ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
๑.๒ การหารือกับ นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดียเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
- ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการรับมือกับโควิด-๑๙ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียขอบคุณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทย และสองฝ่ายเห็นพ้องจะผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในช่วงเวลาที่ยากลำบากร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายต่างขอบคุณสำหรับการดูแลคนชาติของตนที่ตกค้างในไทยและอินเดีย รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องการอพยพคนชาติกลับประเทศ โดยอินเดียพร้อมจะสนับสนุนการส่งออกยาและเวชภัณฑ์ให้แก่ไทยตามคำขอ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะร่วมมือกันด้านการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ทั้งในกรอบทวิภาคีและอาเซียน รวมถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและมิติอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบริบทโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังโควิด-๑๙ ด้วย
๒. สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในอินเดีย และมาตรการการดูแลช่วยเหลือคนไทยในอินเดีย
- รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในอินเดียที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสภาวะขาดแคลนโรงพยาบาล เตียงผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงยาต้านไวรัส และออกซิเจน ซึ่งอยู่ในสภาวะไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล
- ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในอินเดียประมาณ ๑,๐๐๐ คน โดยมีในเขตกรุงนิวเดลีและพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑๐๐ คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสถานกงสุลใหญ่ทั้ง ๓ แห่ง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงสภาพความเป็นอยู่และความช่วยเหลือที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งยาและเวชภัณฑ์และสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้แนะนำให้ชาวไทยที่ยังอยู่ในอินเดียเดินทางกลับไทย หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพำนักในอินเดีย โดยมีเที่ยวบินสำหรับนำคนไทยในอินเดียกลับบ้าน ๓ เที่ยวบินในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ (เที่ยวบินวันที่ ๘ พฤษภาคม มีผู้โดยสาร ๑๕๖ คน จากเมืองเจนไน และวันที่ ๑๕ พฤษภาคม มีผู้โดยสาร ๑๒๐ คน จากกรุงนิวเดลี ซึ่งขณะได้ปิดรับลงทะเบียนแล้ว) ขณะนี้ ยังเปิดให้คนไทยในอินเดียลงทะเบียนกลับไทยสำหรับเที่ยวบินในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จากกรุงนิวเดลี ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ ๗ - ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ทั้งนี้ หากมีเที่ยวบินพิเศษเพิ่มเติมทาง สถานเอกอัครราชทูตฯ จะแจ้งให้ทราบในโอกาสแรก
- อย่างไรก็ดี หากมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างที่สุด จะมีเที่ยวบินภารกิจพิเศษเพื่อมอบสิ่งของช่วยเหลือ ซึ่งจะออกจากกรุงนิวเดลีในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยขณะนี้มีคนไทยและข้าราชการลงทะเบียนเดินทางกลับแล้ว ๓๘ คน
- สามารถศึกษาข้อมูล และลงทะเบียนจองเที่ยวบินกลับประเทศไทยได้ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณกรุงนิวเดลี (http://newdelhi.thaiembassy.org/) ตาม QR Code ที่ปรากฎบนหน้าจอ หรือเพจ Facebook “Royal Thai Embassy, New Delhi"
๓. คำแนะนำสำหรับการเดินทางไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
- ตามที่ปรากฏข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรปนั้น ตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป (https://reopen.europa.eu) ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔
- การเดินทางจากประเทศไทยไปยัง ๑๓ ประเทศสมาชิกอียู ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ยังสามารถไปได้โดยไม่มีเงื่อนไข และ
- การเดินทางจากประเทศไทยไปยัง ๑๔ ประเทศสมาชิกอียู ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส ไปได้แต่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด
- ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง ประกอบกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้เดินทางจึงจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทางก่อนออกเดินทางเสมอ และควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศที่ไปเยือนอย่างเคร่งครัด อาทิ การกักตัว โดยสมัครใจ ณ ที่พัก การตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กาหนด การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ
- ในขณะนี้ อียูยังไม่ได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนประเภทใดเป็นเงื่อนไขใน การเดินทางเข้าเขตอียู ผู้เดินทางจึงควรติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด โดยสามารถติดตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศสมาชิกอียูล่าสุด ได้ทางเว็บไซต์ที่ระบุไว้แล้วข้างต้น
- ขณะนี้ อียูกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอกอียู ซึ่งเมื่อการพิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าอีกครั้งหนึ่ง
๔. คำแนะนำกรณีที่มีการเชิญชวนคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-๑๙ ในสหรัฐฯ
- กรณีที่มีการเชิญชวนคนไทยเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ (vaccine tourism) กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อมูลและให้คำแนะนำ ดังนี้
- ปัจจุบัน นโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนของสหรัฐฯ มีความแตกต่างในแต่ละมลรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าการของแต่ละมลรัฐ ในภาพรวมแล้ว ทุกมลรัฐจะจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่มีถิ่นพำนักในมลรัฐของตัวเอง (resident) ที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไปทุกคนและมลรัฐส่วนใหญ่จะจัดสรรวัคซีนให้แก่ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนัก แต่ทำงาน/ศึกษาอยู่ในมลรัฐนั้นด้วย (non-resident but working/ studying in the State)
- อย่างไรก็ดี จะมีบางมลรัฐที่จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนัก และไม่ได้ทำงาน/ศึกษาอยู่ในมลรัฐนั้น ๆ (non-resident) แต่ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยวด้วย
- นอกจากนี้ จากการที่ปรากฏข่าวสารเรื่องการจัดการท่องเที่ยวเพื่อฉีดวัคซีน (vaccine tourism) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้เริ่มมีผู้บริหารและหน่วยงานของหลายมลรัฐ ได้ออกมาตรการเพื่อป้องกัน vaccine tourism อาทิ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา และหน่วยงานด้านสาธารณสุขรัฐแอละบามา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ จะจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่มีถิ่นพำนักในมลรัฐเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ละมลรัฐสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการการฉีดแจกจ่ายวัคซีนตามที่เห็นเหมาะสมได้อย่างรวดเร็วตามสถานการณ์
- กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับชาวต่างชาติของมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ โดยได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้เพื่อประกอบการพิจารณาให้ฉีดวัคซีน และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ขอ อย่างไรก็ดี ความเข้มงวดของการเรียกดูหลักฐานดังกล่าว อาจแตกต่างกันในทางปฏิบัติของสถานที่ให้บริการ ฉีดวัคซีนแต่ละแห่ง
- ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงขอให้คำแนะนำ ดังนี้
- ขอให้ประชาชนที่กำลังพิจารณาจะเดินทางมาท่องเที่ยวในสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีน โปรดใช้ดุลยพินิจในการศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ ได้แก่ นโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย
- ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ในสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉิน (EUA) เท่านั้น ดังนั้น หากผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทฯ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ และหากผู้เดินทางไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจมีราคาสูง
- ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต และ สถานกงสุลใหญ่ของไทยในสหรัฐฯ ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธให้เข้าสหรัฐฯ ของคนไทยอยู่เป็นบางครั้ง แม้ว่าจะได้รับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวมาแล้วก็ตาม โดยเมื่อถูกปฏิเสธการเข้าเมือง ก็จำเป็นต้องดำเนินการและ เสียค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ที่พัก ASQ
- หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กรมการกงสุล/แอพพลิเคชั่น Thaiconsular/สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ (รายละเอียดปรากฏตามสไลด์ประกอบ)
๕. สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา และการให้ความช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และผู้หนีภัยความไม่สงบ/
การสู้รบจากเมียนมา
- สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้เกิดการปะทะระหว่างทหารเมียนมาและกองกำลัง ชนกลุ่มน้อย KNU บริเวณตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากแนวชายแดน ประมาณ ๑ กม. อย่างไรก็ตามในขณะนี้ กองกำลังฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ของไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
- ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๔ มีผู้หนีภัยฯ จากเมียนมาเดินทางข้ามมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยความไม่สงบในพื้นที่ อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาพักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ๔ แห่ง ใน อ.แม่สะเรียง รวมทั้งสิ้น ๒,๑๕๙ คน (สถานะวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔)
- กรณีราษฎรไทยได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ในขณะนี้ ยังคงเหลือราษฎรไทยในพื้นที่ บ.ท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ที่ยังอยู่ในพื้นที่รวบรวมพลเรือน จำนวน ๑๓๖ คน (สถานะวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔) โดยราษฎรไทยส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับไปยังบ้านเรือนของตัวเองแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและ อำนวยความสะดวก ด้านราษฎรจาก อ.สบเมย ๑ ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนและเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สะเรียงนั้น แพทย์อนุญาตให้เดินทางกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้แล้ว
๖. แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับชาวต่างชาติในประเทศไทย
- รัฐบาลไทยมีความชัดเจนในแผนการฉีดวัคซีน ซึ่งพิจารณาบนพื้นฐานของความจำเป็นของทุกกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เนื่องจากจำนวนวัคซีนในช่วงต้นของการฉีดวัคซีนในไทยมีจำนวนจำกัด ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต รวมถึงกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข ดังนั้น ในระยะแรกจึงฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น จังหวัดชายแดน หรือในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น
- ในระยะแรกของแผนฯ เริ่มให้วัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ และยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักในไทยที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับการฉีดวัคซีนในระยะแรกนี้เช่นกัน อาทิ กลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.)
- ปัจจุบัน ไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้เพิ่มเติมแล้ว โดยในระยะที่สองของแผนการฉีดวัคซีนซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นปี ๒๕๖๔ จะขยายกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครอบคลุมสาธารณชน และกลุ่มที่ทำงานในภาครัฐ รวมถึงคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย โดยพิจารณาตามความเสี่ยงของบุคคล และความสมัครใจ
- แอพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ยังไม่ได้รองรับการลงทะเบียนสำหรับต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนในมิถุนายน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติโดย ผ่านระบบต่าง ๆ รวมถึงผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือติดต่อกับโรงพยาบาลโดยตรงเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
- อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามที่จะจัดหาวัคซีนให้กับภาคเอกชน โดยภาครัฐ (เช่น องค์การเภสัชกรรม) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อมาให้ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จจะทำให้วัคซีนสามารถหาซื้อได้ในช่วงระยะที่สองของแผนฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะรายงานความคืบหน้าของเรื่องนี้มาให้ทราบต่อไป
(English Version)
- Thailand’s vaccination strategy is based on ensuring accessibility to all who require it, regardless of their nationality. Due to the limited number of vaccines we had procured in the beginning of our vaccine rollout, we had to prioritize in order to prevent death and protect those most vulnerable to contracting COVID-19, to protect health systems. Therefore, vaccinations in the first phase prioritized medical personnel, frontline workers, the elderly and those with underlying diseases as well as those living within the high-risk zones such as border areas. The first phase commenced in February and is still on-going until the end of this month. Foreign residents in this risk group have also been inoculated in this phase, such as migrant workers and migrant health volunteers.
- Now that Thailand has been successful in procuring more vaccines, in the second phase of inoculation which starts in June and will run until the end of this year, coverage has been expanded to include the general public and people working for the public sector, including the diplomatic community and international organisations, as well as foreign residents in Thailand based on their membership in the risk groups.
- The หมอพร้อม (Mor Phrom) system does not currently accommodate registration for foreign residents for vaccination, which will commence in June. The Ministry of Public Health is currently working on the best method, including through a possible mobile application or contacting hospitals directly, to facilitate registration for foreign residents as soon as possible. We are constantly working on improving all platforms and means for registration to ensure ease of access and function.
- Efforts are also being made to avail of private sector vaccines, using vaccines purchased by the public sector (such as theGovernment Pharmaceutical Organization (GPO)). If this is successful, vaccines will also be made available for purchase during the second phase. More information for this option will be shared as the private sector secures their vaccination procurement. And we will help distribute this information as soon as possible too.
๗. ประชาสัมพันธ์
๗.๑ กิจกรรม ASEM Youth Dialogue with H.E. Mr. Don Pramudwinai, Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs
- กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนเยาวชนและผู้ที่สนใจรับชมการหารือระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับเยาวชนจากภูมิภาคเอเชียและยุโรป ในกิจกรรม ASEM Youth Dialogue on SDG 3 (Good Health & Well-being) ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. ผ่านระบบออนไลน์
- กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEF Young Leaders Summit ภายใต้หัวข้อ ‘Sustainable Development in a Post-COVID-19 World’ โดยมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation หรือ ASEF) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๓ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเพื่อรับชมกิจกรรมฯ ภายในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้ที่เว็บไซต์ (ตาม QR Code บนหน้าจอ) https://bit.ly/3eNeH5W
(English version)
- The Ministry of Foreign Affairs of Thailand would like to invite those interested to join the ASEM Youth Dialogue on SDG 3 (Good Health & Well-being) with H.E. Mr. Don Pramudwinai, Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand, via videoconference, on 14 May 2021 at 17:00 hrs. (Thailand local time).
- The virtual event is part of the Asia-Europe Foundation (ASEF) Young Leaders Summit, which is being organised in conjunction with the 13th Asia-Europe Meeting Summit (ASEM 13) to be hosted by Cambodia in November The aim of the event is to promote Asian and European youths’ involvement in achieving the Sustainable Development Goals in the post COVID-19 period.
- Those interested can visit the website (https://bit.ly/3eNeH5W) as displayed on the screen for further information and registration. Please note that the registration deadline is 9 May 2021.
๗.๒ รายการ Spokesman Live!!!
- ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตาม รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์คุณมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ในหัวข้อ “แนวโน้มการลงทุนในอาเซียน หลังโควิด-๑๙ กับโมเดลเศรษฐกิจใหม่”สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
๗.๓ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- สำหรับรายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ได้สัมภาษณ์คุณพิมพ์วดี โสวรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทาง เรื่อง การให้บริการหนังสือเดินทาง ในยุค New Normal ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
- เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) ได้สัมภาษณ์ท่านทูตธฤต จรุงวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต/เลขาธิการมูลนิธิไทย ในหัวข้อ “Thailand’s Public Diplomacy” ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”
๗.๔ การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย
- กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนเยาวชนไทยอายุไม่เกิน ๒๕ ปี เข้าร่วมการประกวดออกแบบ ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทยภายใต้โครงการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ (5th National Youth Design Awards) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้น โดยเป็นครั้งแรกในรอบ ๒ ทศวรรษ ที่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง
- ผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดสามารถสมัครและส่งผลงานทางเว็บไซต์ (แสดงบนหน้าจอ) https://forms.gle/nP1n2Jys9cAPGqjj8 ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔
โดยสามารถสมัครเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบคู่ ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า ๔๕๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลชนะเลิศ ๑ รางวัล รางวัลละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลรองชนะเลิศ ๔ รางวัล รางวัลละ ๕๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลชมเชย ๕ รางวัล รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
โดยกำหนดตัดสินรางวัลชนะเลิศในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ