สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.ค. 2567

| 2,209 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. ผลการเยือนไทยของผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอียิปต์

  • เมื่อวันที่ ๕ - ๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ศาสตราจารย์ ดร. อะห์เมด มุฮัมมัด อะห์เมด อัล-ฏอยยิบ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐบาล โดยการเยือนไทยของผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามฯ ตรงกับวาระครบรอบ ๗๐ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
  • ในการเยือนครั้งนี้ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามฯ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ตลอดจนได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารือด้วย
  • ระหว่างการหารือดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ยินดีกับโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ฝ่ายไทยยังได้ขอบคุณฝ่ายอียิปต์ที่มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร (Al-Azhar University) อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับของมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ในไทย
  • นอกจากนี้ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามฯ ยังได้พบหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี และกล่าวปาฐกถาพิเศษในประเด็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมที่มีความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธ์ุ การดำเนินแนวทางสายกลาง รวมถึงการส่งเสริมการหารือระหว่างศาสนา (Interfaith Dialogue) และการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

 

๒. ผลการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของ รมว.กต.

  • เมื่อวันที่ ๘ - ๑๐ ก.ค. ๒๕๖๗ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการเยือนจีนครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการฯ
  • ในการเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานร่วมกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ในการประชุมกลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย - จีน ครั้งที่ ๒ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจ อาทิ การส่งสินค้าเกษตรไปจีน ความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านนโยบาย IGNITE Thailand และความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานทดแทน รวมทั้งได้หารือการเพิ่มความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญ
  • รัฐมนตรีฯ ได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณฝ่ายจีนที่ตอบรับให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง มาประดิษฐานที่ไทยเป็นการชั่วคราว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๕๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี ๒๕๖๘ ด้วย
  • ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับกรอบอาเซียน - จีน และกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ และเห็นพ้องจะร่วมมือกันมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
  • ในการเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน รวมถึงพบหารือกับนายหลิว เจี้ยนเชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และนายเก๋อ ไห่เจียว ประธาน Bank of China ด้วย ซึ่งได้หารือกับเกี่ยวกับการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ในไทย เช่น Semiconductor ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

 

๓. การเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการและการเข้าร่วม BIMSTEC FM Retreat ครั้งที่ ๒ ของ รมว.กต. ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

  • นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๒ ก.ค. ๒๕๖๗
  • ในวันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๖๗ รัฐมนตรีฯ มีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับนาย Jaishankar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เพื่อกระชับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน ผลักดันการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาล การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับเอเชียใต้ และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ จะมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา และหารือสามฝ่ายกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียและเมียนมาด้วย โดยการเยือนครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาคที่ทุกฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน
  • ในระหว่างการเยือนอินเดียครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี BIMSTEC อย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ ๒ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการผลักความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC การเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ ๖ ของไทยในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำบทบาทนำของไทยในฐานะประธาน BIMSTEC ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เพื่อขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือไปสู่อนาคตที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง ภายใต้วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ๒๐๓๐
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ พร้อมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มสมาชิก BIMSTEC ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อหารือแนวทางการพัฒนา BIMSTEC ในอนาคตด้วย
  • ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่าย: ไทย-อินเดีย สายธารแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงนิวเดลีด้วย

 

. ภารกิจ รมว. กต. และ ผช. รมต. ในห้วงสัปดาห์หน้า

๔.๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดร่วมพิธีเปิดสำนักงาน BOI ณ กรุงริยาด

  • ในวันที่ ๑๔ ก.ค. ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงริยาด ซึ่งจัดโดย BOI
  • สำนักงาน BOI ณ กรุงริยาด จะเป็นสำนักงาน BOI ในต่างประเทศแห่งที่ ๑๗ และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยจะรับผิดชอบทั้งภารกิจดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทย และการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปลงทุนในตะวันออกกลาง
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ จะนำคณะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย รวมกว่า ๗๐ คน เดินทางไปจัดงาน "Thai - Saudi Investment Forum" ซึ่งเป็นการประชุมภาคธุรกิจครั้งใหญ่ และภายในงานจะมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจด้วย
  • ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้แทนระดับสูงของซาอุดีฯ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซาอุดีอาระเบีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน ซาอุดีอาระเบีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และเกษตร ซาอุดีอาระเบีย
  • ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลไทยและซาอุฯ ได้ฟื้นความสัมพันธ์กันในปี ๒๕๖๕ รัฐบาลทั้งสองฝ่าย ได้จัดคณะเดินทางเยือนซึ่งกันและกันมากกว่า ๑๐ ครั้ง รวมทั้งเร่งสร้างความร่วมมือผ่านกลไกคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทำให้มีแนวโน้มความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าไทย- ซาอุดีฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันอย่างจริงจัง

 

๔.๒ ผช.รมต. ร่วมการประชุม High Level Political Forum on Sustainable Development 2024 (HLPF) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

  • นายรัศม์ ชาลีจันทร์์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุม HLPF ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เป็นการประชุมประจำปี เพื่อติดตามทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (2030 Agenda for Sustainable Development)
  • การประชุมดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ระหว่าง ๘ - ๑๒ ก.ค. ๒๕๖๗ เป็นการหารือเชิงลึกและทบทวนการปฏิบัติในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในขณะที่ ผช.รมต. และคณะ จะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Segment) ในช่วง ๑๕ - ๑๗ ก.ค. ๒๕๖๗
  • นอกจากนี้ ผช.รมต. จะได้ใช้โอกาสในห้วงการประชุมฯ พบหารือทวิภาคีกับผู้แทนระดับสูงจากประเทศและองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้บริหารของ UN เพื่อส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับไทยในมิติต่างๆ ต่อไปด้วย

 

๕. กรณีรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา

  • กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวแล้ว ๒ ครั้งแล้ว เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ และอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๗ ว่าได้รับทราบเนื้อหาของรายงานดังกล่าว และได้ยืนยันตามแถลงการณ์ของธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งว่า ทางธนาคารไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ตามที่มีการประชุมคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งรัฐฯ ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ ทราบว่าจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และรายงานผลการตรวจสอบภายใน ๓๐ วัน ต่อคณะกรรมาธิการฯ
  • ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยต้องการเห็นความสงบในเมียนมาโดยเร็ว สนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในทุกรูปแบบ และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา และปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และกระทรวงฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และ ปปง. ต่อไปในประเด็นนี้

 

๖. การแจ้งความร้องทุกข์สำหรับคนไทยในต่างประเทศที่อาจตกเป็นเหยือของขบวนการอาชญากรรมออนไลน์

  • ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งเตือนชุมชนไทยในต่างประเทศเกี่ยวกับกระบวนการ call center ที่ได้หลอกลวงคนไทยในหลายประเทศ และหลายกรณีได้ แอบอ้างชื่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ ด้วย นั้น
  • เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาจัดทำแนวทาง และช่องทางการแจ้งความร้องทุกข์สำหรับคนไทยในต่างประเทศที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ตอบรับด้วยดี และกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับคนไทยในต่าประเทศ ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชีในไทยไว้ ดังนี้
    • แจ้งศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ thaipoliceonline.go.th หรือโทรปรึกษาสายด่วน AOC เบอร์ ๑๔๔๑ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อเร่งอายัดบัญชีคนร้าย
    • ดำเนินการลงทะเบียนในระบบ
    • จัดเตรียมข้อมูลของตนเองที่ต้องการแจ้งความ พร้อมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลของคนร้าย
    • ผู้แจ้งจะได้รับแจ้ง (CASE ID) จากทางระบบ โดยสามารถนำเลขแจ้งไปติดตามความคืบหน้าของคดีผ่านระบบออนไลน์ได้
    • ระบบจะประมวลผลความเชื่อมโยงของคดีที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณามอบหมายต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนต่อไป

 

รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/xQJjSB4McyVm3KVa/?