สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ต.ค. 2567

| 1,576 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น.
ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ และผ่านช่องทาง Facebook live / TIKTOK Live

 

  1. การเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ 9 ประเทศ
  • ตั้งแต่ปี 2538 กระทรวงการต่างประเทศได้เริ่มดำเนินโครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ถือเป็นเวลากว่า 29 ปีแล้วที่กระทรวงฯ มีแนวคิดในการใช้ศาสนาและวัฒนธรรมที่ไทยกับมิตรประเทศมีร่วมกัน เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีในระดับประชาชน ตลอดจนเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงเสมอมาทางประวัติศาสตร์
  • ในปี 2568 เนื่องโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2568 กระทรวงฯ จึงได้ขอพระราชทานผ้าพระกฐิน เครื่องบริวารพระกฐิน และเงินบำรุงพระอาราม เพื่อเชิญไปถวาย ณ วัดพุทธศาสนา จำนวน 9 แห่ง ใน 9 ประเทศ ดังนี้
    • วัดกว่างจี้ กรุงปักกิ่ง จีน
    • วัดอ่องเหม่โป่งตาชาน กรุงย่างกุ้ง เมียนมา
    • วัดพุดทะวะนาราม แขวงจำปาสัก สปป. ลาว
    • วัดฟุกมินห์เถรวาท จังหวัดท้ายบิ่ญ เวียดนาม
    • วัดมหาโพธิวิหาร กรุงนิวเดลี อินเดีย
    • วัดสวายโปแป กรุงพนมเปญ กัมพูชา
    • วัดจาการ์ตาธรรมจักรชยะ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
    • วัดพุทธไชยเชตวัน รัฐสลังงอร์ มาเลเซีย
    • วัดกันเดวิหาร จังหวัดเวสเทิร์น ศรีลังกา
  • วัดทั้ง 9 แห่งเป็นวัดสำคัญและเป็นที่เคารพศรัทธาในพื้นที่ บางวัดได้รับการอุปถัมภ์โดยตรงจากสมเด็จพระสังฆราช ประมุขแห่งสงฆ์ในประเทศนั้น ๆ บางวัดมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและมีความสัมพันธ์กับไทย โดยการดำเนินการในแต่ละประเทศจะมีผู้แทนจากภาครัฐของประเทศเจ้าบ้านให้เกียรติเข้าร่วมพิธี พร้อมด้วยหน่วยงานทีมประเทศไทย พุทธศาสนิกชนท้องถิ่น และชุมชนไทยจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานของสันติสุขร่วมกันในภูมิภาค
  • นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมคณะเพื่อเผยแพร่ข่าวกิจกรรมอันเป็นมงคลนี้ด้วย โดยจะมีการประชาสัมพันธ์เนื้อหาและรูปกิจกรรมให้สาธารณชนได้รับทราบในวงกว้างต่อไป

 

  1. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    • การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์และการประชุมกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (JCBC) ครั้งที่ 6
  • ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะให้การต้อนรับนายเอ็นริเก เอ มานาโล (H.E. Mr. Enrique A. Manalo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและร่วมเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 6 (6th Joint Commission on Bilateral Cooperation between the Kingdom of Thailand and the Republic of the Philippines: JCBC) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
    • การเยือนไทยครั้งนี้เป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ โดยจะเป็นการพบหารือต่อเนื่องจากการเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ฟิลิปปินส์ด้วย
    • การประชุม JCBC ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อทบทวนและติดตามผลความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในทุกมิติ หารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคต อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แรงงาน และการศึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นท้าทายในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความห่วงกังวลร่วมกัน

 

2.2 การประชุม BRICS Plus Summit ที่เมืองคาซาน รัสเซีย

  • ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีฯ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ที่เมืองคาซาน รัสเซีย ตามคำเชิญของประธานาธิบดีรัสเซีย
  • การประชุมนี้เป็นการประชุมในกรอบ BRICS Plus ครั้งที่ 4 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together” เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคี เพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ไทยได้ย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ด้วย ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอื่นที่จะเข้าร่วมการประชุม อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว เวียดนาม และคาซัคสถาน
  • การประชุม BRICS Plus จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ตามข้อเสนอของจีน เพื่อให้ประเทศสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพร่วมมือกัน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบพหุภาคี โดยมีการประชุมในกรอบ BRICS Plus มาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งไทยได้เข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้ง

 

2.3 การร่วมการเริ่มต้นแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ร่วมกับผู้แทนระดับสูงของ สปป. ลาวและเมียนมา

  • ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กรมอาเซียนจะร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (2567-2573) (Joint Plan of Action – CLEAR Sky Strategy (2024-2030) ระหว่างไทย สปป. ลาว กับเมียนมา และงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
  • กิจกรรมหลัก ได้แก่
    • งานเปิดตัวยุทธศาสตร์ฟ้าใส โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงานร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ สปป. ลาว และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมียนมาเข้าร่วมงานพิธีเปิดตัวด้วย
    • งานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญวิทยากรจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้แก่ (1) กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย (2) สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (3) กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน (4) หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (5) องค์การอนามัยโลก และ (6) ธนาคารโลก เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการนำแผนปฏิบัติการร่วมฯ มาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
    • นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นต้น ร่วมจัดนิทรรศการความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ณ บริเวณโถงวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
  • แผนปฏิบัติการฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส เป็นเอกสารที่มีวัตถุประสงค์เป็นแผนงานและแนวทางความร่วมมือระหว่างไทย สปป. ลาว กับเมียนมา ในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ สืบเนื่อง จากเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย สปป. ลาว กับเมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปี 2566 โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบต่อแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)

 

  1. ความคืบหน้าผู้เสียชีวิตไทย 1 รายที่อิสราเอล
  • ตามที่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งข่าวการเสียชีวิตของคนไทย 1 ราย จากเหตุระเบิดที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่บริเวณนิคมเกษตรทางเหนือของอิสราเอล ติดชายแดนเลบานอน กระทรวงฯ ขอเรียนว่า ขณะนี้ทางการอิสราเอลได้พิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแล้วและแจ้งยืนยันว่า คือ นายนิสันต์ มีรัมย์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยทางการอิสราเอลได้ออกมรณบัตรของนายนิสันต์ฯ แล้ว และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้โทรศัพท์แจ้งญาติผู้เสียชีวิตด้วยแล้ว
  • กระทรวงฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของคุณนิสันต์ฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ ได้รับทราบจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ว่า ได้ประสานการส่งร่างของคุณนิสันต์ฯ โดยเที่ยวบิน El Al (เอล แอล) เที่ยวบินที่ LY081 ออกจากอิสราเอล วันที่ 21 ต.ค. เวลา 22.45 น. ถึงไทยวันที่ 22 ต.ค. เวลา 14.00 น.
  • ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับฝ่ายอิสราเอลเรื่องการชดเชยเยียวยาให้แก่ครอบครัวของคุณนิสันต์ฯ โดยจะประสานงานใกล้ชิดกับครอบครัวคุณนิสันต์ฯ ต่อไป
  • กระทรวงฯ ขอเตือนอีกครั้งว่า สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศใกล้เคียง ยังมีแนวโน้มตึงเครียด จึงขอแนะนำให้คนไทยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูง พิจารณาเดินทางออกจากพื้นที่ในขณะที่สถานการณ์ยังอำนวย และไม่จำเป็นต้องอยู่รอความช่วยเหลือจากทางราชการในการอพยพ สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในประเทศ/พื้นที่ที่กำลังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะตอนเหนือของอิสราเอลและเลบานอน ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้

 

  1. งานเทศกาลไทยในประเทศต่าง ๆ
  • เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นางต้องฤดี มากบุญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในการประชุมเพื่อกำหนดแผนงานร่วมสำหรับการจัดเทศกาลไทยในต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยเป็นข้อริเริ่มของกระทรวงฯ ที่จะ rebrand เทศกาลไทย โดยกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการจัดเทศกาลไทยของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้ชาวต่างชาติมีภาพจำเกี่ยวกับประเทศไทยที่ “มีเสน่ห์อย่างไทย” ควบคู่ไปกับ “ความทันสมัย ก้าวหน้า และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
  • ในการนี้ กระทรวงฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเบื้องต้น ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนมูลนิธิไทยและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนา Soft Power ที่อยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งต่อไป
  • ที่ประชุมเห็นพ้องว่า การจัดเทศกาลไทยเป็น “พื้นที่/หน้าต่าง” ในการ showcase ประเทศไทย ส่งเสริม “พลังสร้างสรรค์” ของไทยให้ “รุกไปในระดับโลก” ตามยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสของสินค้าและบริการ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และภาพลักษณ์ใหม่ ของไทยที่เปิดรับต่อแนวโน้มต่าง ๆ ของโลก อาทิ sustainability creativity และ inclusiveness จนสามารถสร้าง Thailand’s footprint ในวงกว้าง
  • ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงการต่างประเทศมีแผนจะจัดเทศกาลไทยใน 45 เมือง 32 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ theme หลัก “Thailand’s Creative Economy” และได้กำหนดเมืองสำหรับเทศกาลไทย flagship 6 แห่ง ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ กรุงวอชิงตัน กรุงปารีส กรุงปักกิ่ง กรุงนิวเดลี กรุงริยาด และกรุงฮานอย
  • งานเทศกาลไทยดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือระหว่าง “หน่วยงานบูรณาการในประเทศไทย” และ “ทีมประเทศไทยในต่างประเทศ” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่ “มีพลัง” และนำเสนอประเทศไทยผ่านการจัดเทศกาลไทยในต่างประเทศให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยสามารถตอบนโยบายของรัฐบาล ทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรม soft power นโยบาย Local to Global และการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม

 

รับชมย้อนหลังที่: https://fb.watch/vgrLfN3-gY/

* * * * *

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ