กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย เสริมสร้างความรู้ และบทบาทของผู้สื่อข่าวและนักศึกษาในการรายงานข่าวเชิงบวก เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านโครงการฝึกอบรม ครั้งที่ 2

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ IOM ประเทศไทย เสริมสร้างความรู้ และบทบาทของผู้สื่อข่าวและนักศึกษาในการรายงานข่าวเชิงบวก เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน ผ่านโครงการฝึกอบรม ครั้งที่ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ต.ค. 2567

| 1,418 view

กระทรวงการต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเทศไทย และ Social Lab - Migration in Media (ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยฮันยาง สาธารณรัฐเกาหลี) ร่วมจัดโครงการฝึกอบรมเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้สื่อข่าวและนักศึกษา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 - 13 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน การดำเนินงานของภาครัฐและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องของไทย รวมทั้งส่งเสริมการทำงานอย่างมืออาชีพและบทบาทด้านสื่อสารมวลชนให้แก่ผู้สื่อข่าวและนักศึกษาในการรายงานข่าวเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีผู้เข้าฝึกอบรม ได้แก่ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย 16 คน และนักศึกษา 50 คน ในรูปแบบผสมผสานระหว่างในห้องเรียนและผ่านออนไลน์

ในพิธีเปิดการฝึกอบรม นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเน้นย้ำว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความคิดของสังคมโดยช่วยเสริมสร้างทัศนคติ และความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานในไทย นอกจากนี้ กล่าวถึงบทบาทของกรมสารนิเทศในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยโดยเน้นย้ำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โปร่งใส และปราศจากอคติแก่สาธารณชน ขณะที่คุณมิชิโกะ อิโตะ (Michiko Ito) รองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ (Deputy Head of Operations) IOM ประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวเปิดการฝึกอบรมโดยเน้นย้ำว่าการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงเกิดปัญหาของทัศนคติเชิงลบต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและอคติของกลุ่มคนเหล่านั้น ดังนั้น IOM จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นพื้นฐานของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนข้อเท็จจริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้สื่อข่าว รวมทั้งสนับสนุนการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

การฝึกอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวและนักศึกษา แบ่งตามกลุ่ม ๆ ละ 1 วัน จากนั้นผู้เข้าอบรมทั้งหมดเดินทางไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากในพื้นที่จริง ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมฯ ออกแบบให้มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เข้าร่วม โดยให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยและภูมิภาค การใช้คำศัพท์เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ถูกต้องและเหมาะสม การจัดการข้อมูลเท็จและบิดเบือน และเทคนิคการสัมภาษณ์และรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน

การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ และการรายงานของสื่อมวลชนในประเทศไทย” ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ IOM ประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ