สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
- ในช่วงที่ทุกท่านกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เน้นความสำคัญในการยึดมาตรการระดับบุคคลในการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-๑๙ เราทุกคนต้องร่วมมือกันตัดวงจรการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างเต็มรูปแบบได้เร็วขึ้น
- ดร. Ahmed Al-Mandhari ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่อง
ในวงกว้างจะก่อให้เกิด การกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นของไวรัส เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อชีวิต ลดประสิทธิภาพการรับมือการแพร่ระบาด และชะลอการสิ้นสุดของการแพร่ระบาด”
ดังนั้น ขอให้ทุกท่านโปรดรักษาสุขภาพและระมัดระวังตัวโดยการสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างของท่าน
๑. การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
- นายชอง อึย-ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- โดยเป็นการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ ๒ และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โดยมีกำหนดการพบหารือกับนาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔
- วัตถุประสงค์ของการเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างกันในฐานะความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ซึ่งบันทึก
ความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์นี้จะครบรอบ ๑๐ ปี ใน ปี ๒๕๖๕ ทั้งสองประเทศมุ่งหวังขยายความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้าภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙
- ประเด็นความร่วมมือที่ไทยและเกาหลีใต้จะผลักดันและหารือ ได้แก่
- ๑. การกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และทิศทางความสัมพันธ์ที่จะขับเคลื่อนต่อไปให้รุดหน้ายิ่งขึ้นภายใต้หุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ โดยจะหารือผ่านกลไกทางการเมือง (Political Consultation) ครั้งที่ ๔ ที่ระดับปลัดกระทรวงฯ ไทยจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในอนาคต
- ๒. ความร่วมมือหุ้นส่วนใน ๓ สาขา คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้เชี่ยวชาญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ (Automation and Robotic) การเติบโตสีเขียวและสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
- ๓. การแสวงหาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้เคยหารือแนวทางการจัดทำการแลกเปลี่ยนวัคซีน หรือ Vaccine Swap Arrangement เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔
- ๔. การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) กับนโยบาย Green New Deal ของเกาหลีใต้ ทั้งสองประเทศมีนโยบายที่สอดคล้องกัน
- ๕. การส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เช่น ผ่านสื่อบันเทิง ซึ่งเป็นจุดแข็งของเกาหลีใต้ รวมถึงด้านแรงงาน โดยเฉพาะ
การแก้ไขและคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ไทย – เกาหลีใต้
- ๖. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน ซึ่งเกาหลีใต้สนใจลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศไทย
- ๗. ความร่วมมือในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก APEC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี ๒๕๖๕ และการสนับสนุนบทบาทสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ACMECS) และความร่วมมืออาเซียน-เกาหลีใต้ และแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค
- ในช่วงที่พำนักในประเทศไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้และคณะจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ ของฝ่ายไทยอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของส่วนรวม โดยใช้มาตรการเดียวกันกับการเยือนของรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีความเรียบร้อยและประสิทธิภาพ
๒. ผลการประชุมความร่วมมือระดับสูงไทย-มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
- กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้องได้จัดการประชุมความร่วมมือระดับสูงไทย-มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong-Thailand High-Level Cooperation Conference: HLCC) ครั้งที่ ๑ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานฝ่ายไทย ร่วมกับนายหม่า ซิงรุ่ย
ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก
กระทรวงการต่างประเทศ และกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว รวมถึงผู้แทนของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยเข้าร่วม
- การประชุมครั้งนี้ เป็นการยกระดับกลไกการประชุมฯ จากระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เป็นระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก โดยฝ่ายกวางตุ้งเป็นเจ้าภาพ เพื่อเพิ่มพลวัตให้ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับหนึ่งของจีน เพื่อส่งเสริม
ความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ของไทย กับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Guangdong - Hongkong - Macao Greater Bay Area) หรือ GBA ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยและบริการสมัยใหม่
- หัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ “การสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่าง GBA กับ EEC เพื่ออนาคต” ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ได้ใช้กำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้ง และส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยไทยได้เสนอ “นโยบาย ๔ เชื่อม”
เพื่อขับเคลื่อนให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือลึกซึ้งยิ่งขึ้น ได้แก่
(๑) การเชื่อมโยงเชิงนโยบาย โดยเฉพาะด้านยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ
(๒) การเชื่อมโยงด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานและทางบก เรือ อากาศ
(๓) การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน
(๔) การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
- ที่ประชุมฯ มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือและตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกและภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โควิด-๑๙ และมุ่งกลับไปเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอีกครั้งหลังภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวอย่างยั่งยืน และส่งผลเป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่มีความเร่งด่วน ได้แก่ อุตสาหกรรมชั้นสูง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเกษตร วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ และ การแลกเปลี่ยนระหว่างท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดต่าง ๆ ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและมณฑลกวางตุ้ง
- ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะจัดการประชุม HLCC เป็นประจำทุก ๒ ปี โดยมณฑลกวางตุ้งและไทยสลับกันเป็นเจ้าภาพ
๓. สถานะการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทยผ่านระบบ EXPATVAC
- ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทยทุกกลุ่มอายุและทุกจังหวัด ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนทางเว็บไซต์ expatvac.consular.go.th มีชาวต่างชาติลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีน ที่ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว ๕๔,๗๔๕ คน (จำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม) เป็นบุคคลอายุต่ำกว่า ๖๐ ปี ๔๒,๙๘๕ คน บุคคลอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๑,๗๖๐ คน สตรีมีครรภ์ ๒๕๗ คน ผู้มีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มโรคเสี่ยง ๓,๙๔๗ คน (สถานะเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔)
- กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศได้จัดส่งรายชื่อชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนสำเร็จให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้วจำนวน ๒๒,๓๓๐ คน เป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ ๕,๖๖๔ คน และในต่างจังหวัด ๑๘,๖๖๖ คน ซึ่งโรงพยาบาลต่าง ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งนัดหมายฉีดวัคซีนทางอีเมลหรือข้อความต่อไป
- ขอให้ผู้ที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วรอการยืนยันตรวจสอบนัดหมายฉีดวัคซีนทางอีเมล์หรือข้อความ เนื่องจากไม่เปิดให้มีการ Walk-in ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนในขณะนี้
จากการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข ทราบว่า ได้มีการทยอยฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติไปแล้ว รวมถึงในต่างจังหวัด เช่น กาญจนบุรี เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์
- สำหรับในกรุงเทพฯ จะมีการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติกลุ่มดังกล่าว โดยโรงพยาบาล ๕ แห่ง ได้แก่ รพ. BNH รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กรุงเทพ รพ. Medpark และ รพ.สมิติเวช โดยในวันนี้ (๒๖ สิงหาคม) รพ.กรุงเทพ ได้มีการจัดฉีดวัคซีนที่สยามพารากอน ชั้น ๕ (รอยัล พารากอนฮอลล์) ด้วย
Vaccination services for foreign residents in Thailand
- Since1 August 2021, Department of Consular Affairs, Ministry of Foreign Affairs, has launched a website expatvac.consular.go.th for foreign residents of all age groups nationwide to register for the first dose of COVID-19 vaccine.
- As of now, the Ministry of Public Health, in coordination with the Ministry of Foreign Affairs has sent the list of 22,330 foreign nationals (5,664 are in Bangkok and 18,666 are in other provinces) who registered for vaccination through the website to responsible hospitals nationwide for vaccination appointments. The hospitals will expedite the process of vaccination appointment for foreign residents in Thailand. The inoculation for this group of foreign nationals has started from 18 August 2021 onwards.
- The accumulated number of foreign residents registered (as of 25 August 2021) is 54,745 persons. 42,985 of which are under 60 years old, 11,760 at 60 years old and over. Among those registered, 247 are pregnant women and 3,947 are in 7-disease health condition groups.
- In Bangkok area, 5 hospitals are now providing vaccination for foreign nationals through Expatvac system namely; BNH Hospital, Bumrungrad Hospital, Bangkok Hospital, Medpark Hospital, and Samithivej Hospital.
- For foreign nationals who registered through Expatvac, please check for appointment confirmation though email or SMS. The hospitals are sending the confirmation to the registrants.
- Today (26 Aug 2021), Bangkok Hospital has also operated the vaccination on the 5th floor, Siam Paragon (Royal Paragon Hall).
๔. ความคืบหน้าของการให้ความช่วยเหลือคนไทยในสถานการณ์อัฟกานิสถาน
- กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา และสถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต ว่า คนไทยทั้ง ๔ รายที่อพยพออกจากอัฟกานิสถาน เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว โดย ๒ รายเดินทางออกจากประเทศคูเวต ได้เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ และอีก ๒ รายที่เดินทางออกจากประเทศกาตาร์ เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔
- คนไทยทั้ง ๔ ราย เข้ารับการกักตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และได้ขอบคุณกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตทั้ง ๓ แห่ง
สำหรับการประสานงานในการช่วยเหลือให้สามารถเดินทางกลับประเทศไทยในครั้งนี้
- จากการได้ประสานงานใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ที่มีเขตอาณาดูแลประเทศอัฟกานิสถาน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ ทราบว่า ไม่มีคนไทย ในอัฟกานิสถานเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี หากมีคนไทยที่ประสงค์อพยพจากอัฟกานิสถานหรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด หรือสายด่วนกรมการกงสุล ๐๒-๕๗๒-๘๔๔๒ ได้ ๒๔ ชั่วโมง
๕. มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับคนไทยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในประเทศหรือดินแดนต่าง ๆ
๕.๑ การเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยแวะเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารในประเทศในกลุ่มเชงเก็น
- กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานว่ามีบางท่านถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่องจากประเทศกลุ่มเชงเก็นไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากขณะนี้ขาดหนังสือการยกเว้นการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จึงขอเรียนว่า โดยที่สหรัฐฯ ยังคงมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักหรือไม่ได้เป็นบุคคลในครอบครัวของชาวสหรัฐฯ หรือผู้มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางมาจากกลุ่มประเทศในเชงเก็น
- เพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธโดยสายการบินและต้องตกค้างระหว่างการเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารในประเทศเชงเก็น ขอให้คนไทยที่ไม่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ หรือไม่ได้เป็นบุคคลในครอบครัวของ ชาวสหรัฐฯ หรือผู้ที่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านประเทศในกลุ่มเชงเก็นก่อนเดินทางเข้าไปยังสหรัฐฯ
- หากมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านประเทศในกลุ่มเชงเก็นเพื่อเดินทางต่อไป ยังสหรัฐฯ อาทิ เพื่อปฏิบัติภารกิจ ประชุม ศึกษาต่อ ขอให้ประสานงานกับหน่วยงานของสหรัฐฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อขอรับเอกสารยกเว้นการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ก่อนการเดินทาง ตามมาตรการในประกาศประธานาธิบดีที่ ๙๙๙๓ (Proclamation 9993 ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓)
๕.๒ การยกระดับมาตรการเข้าเมืองของฮ่องกง
- ฮ่องกงได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
โดยเพิ่มให้ ๑๕ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจากเดิมเป็นกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง ส่งผลให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องกักตัวยาวนานขึ้น แม้จะได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ มาครบแล้ว
- มาตรการล่าสุดมีสาระสำคัญดังนี้
- ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจากประเทศไทย (หรือมีประวัติเดินทางไปประเทศไทยในช่วง ๒๑ วันก่อนเดินทางเข้าฮ่องกง) ต้องเตรียมเอกสารก่อนเดินทาง
ดังต่อไปนี้
- กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มออนไลน์ Health Declaration Form ของรัฐบาลฮ่องกงที่ https://www.chp.gov.hk/hdf/ เพื่อแสดง QR Code ต่อเจ้าหน้าที่
ที่ท่าอากาศยานฮ่องกง โดย QR Code จะมีอายุ ๔๘ ชั่วโมง
- หลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ มาเก๊า หรือหน่วยงานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นหน่วยงาน Stringent Regulatory Authority (SRAs)
- แสดงผลตรวจว่าปลอดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ซึ่งได้ทำการตรวจเป็นเวลาไม่เกิน ๗๒ ชม. ก่อนกำหนดเวลาเครื่องออก
- แสดงหลักฐานการสำรองห้องพักในโรงแรมกักตัวในฮ่องกง ๒๐ คืน (นับวันที่เดินทางถึงฮ่องกงเป็นวันแรก)
- ในระหว่างการกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อ ๖ ครั้ง หลังจากที่ออกจากการกักตัวแล้วจะมีการเฝ้าระวังตัวอีก ๗ วัน และ ตรวจเชื้อฯ ในวันที่ ๒๖ นับจากวันที่เดินทางถึงฮ่องกง ที่ศูนย์ตรวจหาเชื้อฯ ของรัฐบาลฮ่องกง (Community Testing Centre)
๖. ประชาสัมพันธ์
๖.๑ การประกวดจัดทำคลิปวิดีทัศน์ Thai-Vietnamese Friendship in the New Normal
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ร่วมกับ Voice of Vietnam (VOV) เชิญชวนเยาวชนไทย-เวียดนาม เข้าร่วมกิจกรรมประกวดคลิปวีดิทัศน์ Thai-Vietnamese Friendship in the New Normal โดยผู้เข้าร่วมต้องเป็นเยาวชนไทยและเวียดนาม อายุ ๑๘ - ๓๐ ปี (ไม่จำกัดว่าพำนักอยู่ในประเทศใด) โดยจับคู่กันจัดทำคลิปวีดิโอ
ความยาว ๒ - ๕ นาที ที่แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่าง ๒ ประเทศอย่างสร้างสรรค์ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊ก Thái Thế - ไทยเท่ (fb.com/ ThaiThebyRTEHanoi/)
๖.๒ กิจกรรมการเสวนาออนไลน์ "New Normal: New Coolture – Bridging the Gap"
กรมสารนิเทศขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาออนไลน์ “New Normal: New Coolture – Bridging the Gap” ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ ๓ เป็นการเสวนาของวิทยากรที่มาจากหลายกลุ่มอายุ มีประสบการณ์ด้านการสื่อสาร (คุณเอม นภพัฒน์จักษ์ บก. Workpoint News คุณเคน นครินทร์
The Standard คุณสุทธิชัย หยุ่น และอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีจากมุมมองที่หลากหลาย และวิธีการนำเสนอข้อมูลท่ามกลางความแตกต่างของคนหลายรุ่น ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/3D9SkTG ถึงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔
๖.๓ รายการ Spokesman Live!!! เชิญติดตามการสัมภาษณ์นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ อธิบดีกรมพิธีการทูต หัวข้อ “พิธีการทูตในยุค New Normal”
ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
๖.๔ รายการบันทึกสถานการณ์ สัมภาษณ์นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต หัวข้อ “เสน่ห์ที่มาพร้อมกับศักยภาพของลาวใต้”
ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ทาง Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
๖.๕ รายการ “MFA Update” เชิญติดตามการสัมภาษณ์์นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร หัวข้อ “Trade and Investment Opportunities in Egypt” ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”
๗. สรุปคำถามจากผู้ชม
คำถาม: การลงทะเบียนฉีดวัคซีนของชาวต่างชาติที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางอีเมลหรือข้อความ จะสามารถติดตามหรือตรวจสอบอย่างไร
คำตอบ: โรงพยาบาลอยู่ระหว่างแจ้งตอบกลับผู้ลงทะเบียน ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้รับการฉัดวัคซีนเป็นลำดับต้นยังเป็นกลุ่มบุคคลอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป หากมีข้อมูลที่ต้องการสอบถามสามารถส่งคำถามได้ที่กล่องข้อความเฟซบุ๊ค กระทรวงการต่างประเทศ
คำถาม: กระทรวงการต่างประเทศมีนโยบายช่วยเหลือคนไทยในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซียที่จำเป็นต้องทำหนังสือเดินทางอย่างไร เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางไปทำหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ อย่างไร
คำตอบ: กระทรวงการต่างประเทศเข้าใจถึงข้อจำกัดในการเดินทาง และจะได้ประสานสอบถามไปยังเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถึงแนวทางการอำนวยความสะดวก ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดโครงการกงสุลสัญจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในต่างรัฐในมาเลเซีย
รับชมย้อนหลัง https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/2984573911780449