สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๖ กรกฎาคม เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๖ กรกฎาคม เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ก.ค. 2566

| 6,450 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๖ กรกฎาคม เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องแถลงข่าว
และทาง
Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖

  • กระทรวงการต่างประเทศขอประชาสัมพันธ์เชิญเสนอชื่อบุคคล/กลุ่มบุคคล/องค์กรจากทั้งไทยและต่างประเทศ
    เข้ารับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี ๒๕๖๖ (Public Diplomacy Awards 2023) ซึ่งในปีนี้ กต. และมูลนิธิไทยจะมอบรางวัลการทูตสาธารณะจำนวน ๑ - ๓ รางวัล ให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ดำเนินงานด้านสาธารณประโยชน์ มนุษยธรรม กีฬา วัฒนธรรม นวัตกรรม หรืออื่น ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทยในสายตาของประชาคมโลก โดยเฉพาะที่จะให้เกิดความนิยมไทย หรือ “fanclub” ของประเทศไทย โดยจะยังคงเปิดรับการเสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ซึ่งการเสนอชื่อจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อด้วย
  • ผู้ที่ได้รับรางวัลฯ จะได้รับการประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ถ้วยรางวัลที่จารึกชื่อผู้ได้รับรางวัล ประกาศนียบัตร เงินรางวัล ๓ แสนบาท/รางวัล รวมถึง กต. จะจารึกชื่อไว้บนแผ่นป้ายเกียรติยศ จัดแสดง ณ กระทรวงการต่างประเทศ ฝั่งถนนศรีอยุธยา ด้วย
  • ภายหลังปิดรับการเสนอชื่อ คณะอนุกรรมการคัดเลือกซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการระดับสูงของ กต./ ผู้แทนมูลนิธิไทย/ รวมถึงผู้แทนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน รวม ๙ คน จะร่วมกันพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิไทยในขั้นสุดท้าย ก่อนจะประกาศผลการพิจารณาผู้ได้รับรางวัลฯ ภายในเดือน ก.ย. ๒๕๖๖ และจะกำหนดจัดพิธีมอบรางวัลต่อไป
  • รางวัลการทูตสาธารณะเริ่มมีขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๕ โดยนายแพทย์สุนทร อันตรเสน เป็นผู้ได้รับรางวัลฯ เป็นคนแรก ซึ่งนายแพทย์สุนทรฯ มีผลงานที่โดดเด่นในการจัดตั้งและดำเนินโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งออกตรวจ รักษาและผ่าตัดโรคหูน้ำหนวกในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านมาตลอดระยะเวลามากกว่า ๓๐ ปี ถือว่าได้สร้างคุณูปการให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ และทำให้ผู้คนได้รู้จักความมีน้ำใจของคนไทยและประเทศไทย
  • อนึ่ง มูลนิธิไทย (Thailand Foundation) เป็นมูลนิธิภายใต้ กต. มีพันธกิจในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับประเทศไทยและความนิยมไทยในระดับประชาชน คล้ายกับหน่วยงานในต่างประเทศ อาทิ สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) - ฝรั่งเศส/ บริติช เคานซิล (British Council) - สหราชอาณาจักร/ สถาบันเกอเธ (Goethe-Institut) - เยอรมนี/ และ Japan Foundation - ญี่ปุ่น
  • ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลการทูตสาธารณะกับทางมูลนิธิไทยได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๒๐๓-๕๐๐๐ ต่อ ๑๑๐๓๑ หรืออีเมล [email protected]

๒. การอำนวยความสะดวกของทางการไทยในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ปี ๒๕๖๖

  • ในแต่ละปี ชาวไทยมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ (Hajj) ยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในซาอุดีอาระเบีย โดยแต่ละปีจะมีศาสนิกชนจากทั่วโลกร่วมแสวงบุญเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ (ตรงกับฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๔๔) ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ภาคสนาม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ มิถุนายน - ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ โดยมีผู้ประกอบพิธีฯ รวมทั้งสิ้นกว่า ๑.๘ ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีประมาณ ๑.๖ ล้านคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
  • ในปี ๒๕๖๖ ทางการซาอุดีอาระเบียได้จัดสรรโควตาของผู้แสวงบุญฮัจญ์แก่ประเทศต่าง ๆ โดยไทยได้รับจัดสรร ๑.๓ หมื่นคน (ผู้ลงทะเบียนจริง ๑๑,๔๙๗ คน) โดยแบ่งการเดินทางออกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ (๑) ระหว่างวันที่ ๒๑ พฤษภาคม - ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ และ (๒) ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๖ โดยส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ และเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียโดยเที่ยวบินจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานนราธิวาส และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ การประกอบพิธีฯ เสร็จสิ้นแล้ว และผู้แสวงบุญอยู่ระหว่างทยอยกลับประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน
  • ในส่วนภาครัฐไทย ได้รับการจัดสรรจำนวนเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนฮัจญ์จากทางการซาอุดีฯ ๑๓๐ คน โดยนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน และมีผู้แทน จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักจุฬาราชมนตรี/ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์/ ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับ/ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย/ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย/ กระทรวงสาธารณสุข (หน่วยแพทย์และพยาบาล)
  • สำหรับกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการประสานกับฝ่ายซาอุดีฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีฯ ประจำประเทศไทย/ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด/ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเจดดาห์ เพื่อให้การเดินทางไปประกอบพิธีฯ ของศาสนิกชนผ่านไปโดยราบรื่น โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเจดดาห์ เป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญและแก่คณะผู้แทนฮัจญ์ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเจดดาห์ เมืองมักกะห์ และเมืองมาดีนะห์ และร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
  • นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๖๖ นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกิตินัย นุตกุล กงสุลใหญ่ ณ นครเจดดาห์ ได้เป็น ปธ. ร่วม ในการประชุมเตรียมการสำหรับการประกอบพิธีฮัจญ์ของผู้แสวงบุญไทยในปีนี้ โดยได้รับฟังปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการถูกปฏิเสธการเข้าเมือง รวมทั้งการเตรียมการสำหรับการเดินทางกลับของผู้แสวงบุญหลังเสร็จสิ้นพิธีฯ
  • ในปีนี้ มีผู้แสวงบุญฮัจญ์ไทยเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวในช่วงเวลาที่พำนักในซาอุดีอาระเบีย ๑๑ คน จากข้อมูลของสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้แสวงบุญไทยเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยประมาณ ๓,๕๐๐ คน ซึ่งมากกว่าร้อยละ ๕๐ ป่วยเป็นโรคปอดและโรคทางเดินหายใจ
  • กระทรวงฯ ส่งเสริมกิจกรรมสำหรับศาสนิกชนในทุกศาสนาเสมอมา ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ได้เข้าร่วมพิธีฯ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งนี้

๓. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (ร่วมกับนางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน) (๑๐-๑๔ ก.ค. ๒๕๖๖)

  • อธิบดีกรมสารนิเทศ ในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (56th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting and ASEAN Post-Ministerial Conference: AMM PMC) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีประจำปี เพื่อติดตามความคืบหน้าประเด็นที่ผู้นำได้หารือกันก่อนหน้านี้
  • อธิบดีกรมอาเซียน ให้ข้อมูล ดังนี้
    • ภาพรวมการประชุม : การประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีประเทศเข้าร่วมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และภาคีภายนอก ทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศ
    • การประชุมที่สำคัญ : รนรม./รมว.กต. จะเข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๗ การประชุม ที่สำคัญ ดังนี้
      • วันที่ ๑๑ ก.ค. ๒๕๖๖
        • การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Commission of the Southeast Asia Nuclear-Weapon-Free Zone: SEANWFZ Commission) – การประชุมเกี่ยวกับสนธิสัญญา SEANWFZ ซึ่งเป็นกรอบแนวปฏิบัติของประเทศภูมิภาค ซึ่งมีประเทศภายนอกที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และอาเซียนต้องการให้เข้ามามีส่วนร่วม
        • การหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers Interface Meeting with ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) representatives) - เป็นหนึ่งในข้อริเริ่มของไทยในช่วงที่เป็นประธานอาเซียนเมื่อปี ๒๕๕๒ เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ใน AICHR และได้รับฟังความเห็นของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมอย่างรอบด้าน แสดงให้เห็นว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
        • การหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแบบเต็มคณะ (56th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (Plenary Session))
      • วันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๖๖
        • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแบบ Retreat Session : ซึ่งจะมีการหารือประเด็นปัญหาระหว่างประเทศต่าง ๆ
        • พิธีลงนามในพิธีสารของซาอุดีอาระเบียเพื่อเข้าร่วมเป็นอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) – นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และไทยได้ผลักดันเรื่องนี้
      • วันที่ ๑๓ ก.ค. ๒๕๖๖ – การประชุม ASEAN Post Ministerial Conference (PMC) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ๑๑ ประเทศ
        • รนรม./รมว.กต. จะเป็นประธานในการประชุมกับญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ก็ตรงกับวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นให้เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน รวมถึงจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษที่ในช่วงปลายปีนี้ที่ญี่ปุ่นด้วย
        • ไทยจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของอาเซียนกับเกาหลีใต้ในปี ๒๕๖๗
      • วันที่ ๑๔ ก.ค. ๒๕๖๖
        • การเข้าเยี่ยมคารวะนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
        • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ ๑๓ (13th East Asia Summit Foreign Ministers’ Meeting) ซึ่งจะมี 18 ประเทศเข้าร่วม
        • การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง
          และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (30th ASEAN Regional Forum) ซึ่งจะมี 28 ประเทศ
          เข้าร่วมการประชุม
      • การหารือทวิภาคี : ยังอยู่ระหว่างเตรียมการและกำหนดห้วงเวลาการหารือ โดยประเทศที่ยืนยันแล้ว ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม / ติมอร์-เลสเต / นอร์เวย์ / และปากีสถาน
  • ประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะมีการหารือ
    • การเสริมสร้างศักยภาพ และความเข้มแข็งของกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภายใต้บริบทเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถใช้กลไกของอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างกัน เน้นย้ำความสำคัญของอาเซียนในฐานะเวทีการหารือเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
    • สถานการณ์ในเมียนมา – แนวทางการขับเคลื่อนฉันทามติ ๕ ข้อ และแนวทางความร่วมมือภายใต้บริบทการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงผลกระทบของพายุไซโคลนโมคา
    • เรื่องอื่น ๆ อาทิ สถานการณ์ทะเลจีนใต้ ยูเครน และคาบสมุทรเกาหลี
  • เอกสารผลลัพธ์การประชุม :  กระทรวงฯ กำลังเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ๑๐ ฉบับ ที่สำคัญคือ Joint Communiqué of the 56th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting และฉบับอื่นที่น่าสนใจ (๑) ASEAN Regional Forum Statement on the Commemoration of 30 Years of the ASEAN Regional Forum และ(2) Joint Statement on the Reflection of the 20 Years of the People’s Republic of China’s Accession to the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia (TAC) ซึ่งในที่สุดจะมีการลงนามทั้งสิ้น 12 ฉบับ

 

* * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/lBZQXY0w36/?mibextid=qC1gEa

 

 

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ