ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ รัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ 31 ณ ประเทศมอลตา

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ รัศม์ ชาลีจันทร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ 31 ณ ประเทศมอลตา

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ธ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ธ.ค. 2567

| 1,161 view

เมื่อวันที่ 5-6 ธันวาคม 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม OSCE Ministerial Council ครั้งที่ 31 ณ ประเทศมอลตา ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงสุดประจำปีขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนระดับสูงรวม 68 ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียและเมดิเตอร์เรเนียนเข้าร่วม

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงในช่วงการประชุมเต็มคณะและ Troika ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Resilience, Enhancing Security” โดยได้แบ่งปันมุมมองของไทยต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน พร้อมบทบาทที่แข็งขันของไทยใน OSCE ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ได้แก่ (1) สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนและสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของไทย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้การเจรจาเพื่อสันติภาพ (2) ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่มั่นคงซึ่งส่งผลต่อการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม อีกทั้งการแข่งขันเพื่อทรัพยากรและการอพยพย้ายถิ่นฐาน และ (3) ความพร้อมของไทยในการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกและบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศสมาชิก OSCE และสหภาพยุโรปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือของ OSCE และอาเซียน ในฐานะสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงที่สำคัญของภูมิภาค ทั้งยังย้ำบทบาทของไทยฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศเดียวในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ OSCE ในกิจกรรมและการประชุมต่าง ๆ ของ OSCE โดยไทยพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับ OSCE อย่างใกล้ชิดจากการที่ไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568 - 2570

นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ที่ไทยเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียของ OSCE และ 50 ปี การลงนาม Helsinki Final Act ในปี 2568 ไทยจะจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงการประชุม OSCE Asian Partners for Cooperation Group ในปี 2568 โดยผลของการประชุมจะนำไปต่อยอดในการประชุม Asian Conference ในปี 2569 ซึ่งไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพต่อไป เพื่อเน้นย้ำความพยายามของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีกับ OSCE ในห้วงของการประชุม ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการท่องเที่ยวมอลตา ซึ่งเป็นประธาน OSCE และรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านการต่างประเทศเซอร์เบีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างกันด้วย

OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือในลักษณะการทูตเชิงป้องกัน (Preventative Diplomacy) เพื่่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมความมั่นคงองค์รวมใน 3 มิติ ได้แก่ (1) มิติการเมือง - การทหาร (2) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (3) มิติมนุษย์ โดยไทยให้ความสำคัญกับ OSCE ในฐานะที่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในประเด็นความมั่นคง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ