เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า ในช่วงการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศประจำปีของกลุ่ม ๗๗ (Group of 77: G77) ครั้งที่ ๔๕ ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ นครนิวยอร์ก
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างระบบธรรมาภิบาลโลกภายหลังโควิด-๑๙ ที่เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเสนอ ๓ แนวทาง ได้แก่ (๑) ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและอำนวยความสะดวกแก่การชำระเงินข้ามประเทศและการค้าดิจิทัล (๒) ส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีเพื่อแบ่งปันแนวทางการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยท้องถิ่น อาทิ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG Model) และ (๓) คัดค้านการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเชิงบังคับฝ่ายเดียวที่อ้างเหตุผลเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาระบบภาษีระหว่างประเทศที่เป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศประจำปีของกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๕ เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม โดยสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ สำหรับวาระปี ๒๕๖๕ ถัดจากสาธารณรัฐกินี
ปัจจุบัน กลุ่ม ๗๗ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมดจำนวน ๑๓๔ ประเทศและเป็นกลุ่มเจรจาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวทีสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาในระบบสหประชาชาติและส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งไทยเคยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ และจีน วาระปี ๒๕๕๙