การจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

การจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ก.ค. 2565

| 17,524 view

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๓.๐๐ น. (๑๒.๐๐ น. ตามเวลากรุงวอชิงตัน) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 TIP Report) ซึ่งรวบรวมรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ โดยรายงานฯ ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นจากระดับ Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่าในภาพรวม รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกล่าวถึงพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ จำนวนการสืบสวนคดีและการระบุตัวผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้น การจัดตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครอง
ผู้เสียหายแห่งใหม่ การจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) เสร็จสมบูรณ์ โดยขยายระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรองก่อน การคัดแยกผู้เสียหายเป็น ๔๕ วัน การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคัดกรองผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และ
การดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น


ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มอบรางวัล 2022 TIP Report Heroes ให้แก่ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านต่อต้านการค้ามนุษย์จากประเทศต่าง ๆ
โดยในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลจาก ๖ ประเทศ ซึ่งนางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล องค์กร Stella Maris ประเทศไทย ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วยจากผลงานที่โดดเด่นในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากแรงงานบังคับโดยเฉพาะในภาคการประมงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน
การต่อต้านค้ามนุษย์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เข้าร่วมพิธีประกาศมอบรางวัลดังกล่าวเพื่อร่วมแสดงความยินดีด้วย


หน่วยงานในทุกภาคส่วนของรัฐบาลไทยมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาโดยต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม โดยเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและพัฒนา
การทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์


รัฐบาลไทยยังได้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และต่อต้านการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนการเชื่อมโยงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของต่างประเทศ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ และศูนย์ National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) ของสหรัฐฯ รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย