เจ้าหน้าที่อาวุโสไทยกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

เจ้าหน้าที่อาวุโสไทยกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ค. 2565

| 12,121 view

เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation: Mekong - ROK) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมได้ทบทวนความก้าวหน้าของ Mekong - ROK โดยเฉพาะบทบาทที่แข็งขันของสาธารณรัฐเกาหลี ในการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น การจัดสรรเงินทุนให้แก่กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong - Republic of Korea Cooperation Fund: MKCF) ซึ่งได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งปัจจุบัน เป็นจำนวน ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเงินทุนนี้ใช้ประโยชน์สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก Mekong - ROK ในส่วนของไทย ได้รับทุน MKCF มาแล้ว ๕ โครงการ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ๒ โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ ๓ โครงการ ทั้งนี้ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ผู้ประสานงานโครงการ ได้แจ้งที่ประชุมว่า มีแผนจะประกาศผลการคัดเลือกข้อเสนอโครงการของประเทศสมาชิก Mekong - ROK ที่ได้รับทุน MKCF ในปีนี้ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๕
 
ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคตของ Mekong - ROK เพื่อขับเคลื่อนกรอบความร่วมมืออย่างมีนวัตกรรม และสอดรับกับจุดแข็งของสาธารณรัฐเกาหลีในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการเจริญเติบโตสีเขียว เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนร่วมกันของอนุภูมิภาคฯ และสาธารณรัฐเกาหลี โดยสาธารณรัฐเกาหลีย้ำว่า อนุภูมิภาคฯ มีความสำคัญ ในฐานะเครื่องยนต์ (engine) ของโลกและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และพร้อมกระชับความเป็นหุ้นส่วนแห่งอนาคตกับประเทศลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ Mekong - ROK ครั้งที่ ๑๒ และการประชุมผู้นำ Mekong - ROK ครั้งที่ ๓ ซึ่งมีกำหนดที่จะจัดขึ้นภายในปีนี้  
 
เจ้าหน้าที่อาวุโสไทยเน้นประเด็นความร่วมมือ Mekong - ROK เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน มั่นคงและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ (๑) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขรอบด้าน การเกษตรอัจฉริยะ และความมั่นคงทางอาหาร (๒) การเติบโตสีเขียว การพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัล และการสอดประสานระหว่างรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยกับนโยบายสีเขียวของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (๓) ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนผ่านสภาธุรกิจและการประชุมภาคธุรกิจ Mekong - ROK และ (๔) สนับสนุนการสอดประสานการทำงานระหว่าง Mekong - ROK กับกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ โดยเฉพาะ ACMECS ในฐานะ “ข้อต่อ” ที่เชื่อมต่อและประสานผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของประเทศลุ่มน้ำโขงกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
 
Mekong - ROK จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ มีสมาชิกประกอบด้วยประเทศลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ และสาธารณรัฐเกาหลี ปัจจุบัน ดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕ บนพื้นฐานของเสาหลัก ๓ เสา ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ และสาขาความร่วมมือ ๗ สาขา ได้แก่ (๑) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๓) การเกษตรและการพัฒนาชนบท (๔) โครงสร้างพื้นฐาน (๕) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๖) สิ่งแวดล้อม และ (๗) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ