งานสัมมนา Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhanced Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean

งานสัมมนา Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhanced Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 เม.ย. 2566

| 6,364 view

เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกา ครั้งที่ ๓ ภายใต้หัวข้อ “Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhanced Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean” จัดโดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทย ๙ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามาและเปรู ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ระหว่างประเทศไทยกับลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาฯ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ นักศึกษาและสื่อมวลชนกว่า ๔๐๐ คน รวมทั้งผู้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกลกว่า ๑๕๐ คน

งานสัมมนาประกอบด้วยการเสวนาภายใต้ ๒ หัวข้อย่อย ได้แก่ หัวข้อแรก “Business outlook: How Latin American and Caribbean countries are transitioning and adopting policies that are environmentally-friendly and sustainable, which in Thailand is known as the Bio-Circular-Green Economy” ซึ่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาฯ ประจำประเทศไทยได้ชี้ทิศทางและแนวนโยบายเศรษฐกิจของประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งสร้างการเจริญเติบโต โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติของไทยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG อาทิ (๑) บริษัท BRASKEM ของบราซิล ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตพลาสติกชีวภาพ มีแผนที่จะร่วมมือกับ SCG Chemicals เพื่อส่งเสริมการผลิตพลาสติกชีวภาพในไทย (๒) เม็กซิโกส่งเสริมการลงทุนด้านวนเกษตร (agroforestry) อย่างยั่งยืนและการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) บำบัดน้ำเสีย (๓) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและน้ำตาลของกัวเตมาลานำระบบดาวเทียมมาใช้เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า (๔) ชิลีเป็นแหล่ง “พลังงานแห่งอนาคต” (Energies of the future) โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียว (๕) ศักยภาพของอาร์เจนตินาที่จะร่วมมือกับไทยด้านลิเทียมไอออนสำหรับผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า (๖) บริษัท อาเฆ ไทย จำกัด (Aje Thai) ผู้ผลิตน้ำอัดลมเปรูในไทย ส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตดอกมะพร้าวใน จ. สมุทรสาคร (๗) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในป่าแอมะซอนของโคลอมเบีย ผ่านนโยบาย Green Industrial Policy และ (๘) การขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ของรัฐบาลปานามา

ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๖๕ มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน จำนวน ๑๖,๙๐๓.๐๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๔ กว่า ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก และยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีดุลยภาพ จึงเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาความร่วมมือด้าน BCG กับไทย โดยยังเป็นกลุ่มประเทศที่ส่งเสริมแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับ BCG อาทิ เศรษฐกิจที่ใช้ไฮโดรเจนสีเขียวและการทูตสีเทอร์ควอยซ์ปกป้องมหาสมุทรและระบบนิเวศบนพื้นดินของชิลี เศรษฐกิจสีส้มที่ใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโคลอมเบีย เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ใช้ทรัพยากรมหาสมุทรของปานามา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบสีเขียวของบราซิล และการจ้างงานในอุตสาหกรรมสีเขียวของอาร์เจนตินา

หัวข้อที่ (๒) ได้แก่ “Looking beyond challenges: How can Thai businesses utilise the BCG Economic Model to Enhance Thailand - Latin America and the Caribbean partnerships” ซึ่งผู้แทนภาคเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ ดร. สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย คุณนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการเทคโนโลยี บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) คุณรวี บุญสินสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจใหม่และนวัตกรรม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณชลัมพล โลทารักษ์พงศ์ กรรมการผู้จัดการและเจ้าของ บริษัท วี.ที. การ์เม้นท์ จำกัด และคุณนพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด (Start-up เครื่องหมายการค้า “นอนนอน”) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจด้วยโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์แบบ BCG ประสบการณ์ ความสำเร็จและความท้าทาย ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้าน BCG ระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาฯ

นอกจากนี้ งานสัมมนายังประกอบด้วย งานแสดงสินค้าขนาดเล็ก (Mini Business Fair) ซึ่งมีการออกบูธของสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาฯ ประจำประเทศไทยและบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยและลาตินอเมริกาที่ประกอบธุรกิจบนหลักการของโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวม ๒๕ บูธ และงานเลี้ยงอาหารกลางวันสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Business Networking Luncheon) เป็นโอกาสให้ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาฯ หน่วยงานภาครัฐของไทย และผู้ประกอบการจากบริษัทเอกชนลาตินอเมริกาฯ และไทยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการดำเนินธุรกิจแบบ BCG ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี

งานสัมมนาครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันผลักดันเป้าหมาย Bangkok Goals on BCG Economy ที่ได้รับการรับรองในการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ สู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นแนวทางสู่การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในด้านการค้า การลงทุน และการวิจัยและพัฒนาระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนในสาขาอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องกับ BCG ที่ไทยให้ความสำคัญ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ