ไทยและบราซิลกระชับมิตรภาพและความร่วมมือในการประชุม Political Consultations ครั้งที่ ๓ ที่กรุงบราซิเลีย

ไทยและบราซิลกระชับมิตรภาพและความร่วมมือในการประชุม Political Consultations ครั้งที่ ๓ ที่กรุงบราซิเลีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 มิ.ย. 2566

| 6,863 view

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมในการประชุม Political Consultation (PC) ครั้งที่ ๓ ระหว่างไทยกับบราซิล กับนายอีดูวาร์ดู ไปส์ ซาบอยยา รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศบราซิลด้านเอเชียและแปซิฟิก ณ กระทรวงการต่างบราซิล โดยมีนายศักดิ์สีห์ พรหมโยธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย และผู้แทนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการประชุมฯ

ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และความเป็นหุ้นส่วนในหลากหลายมิตินับตั้งแต่การหารือครั้งล่าสุดในการประชุม PC ครั้งที่ ๒ เมื่อกว่า ๕ ปีก่อน ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นโอกาสที่ดีและศักยภาพในการขยายขอบเขตความร่วมมือและข้อริเริ่มในหลากหลายสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อเร่งการฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยได้หารือความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ อาทิ การเมือง การค้า การลงทุน วิชาการ การเกษตร การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา กีฬา พลังงาน การทหาร และความร่วมมือระหว่างสถาบันการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังได้หารือในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญในลำดับต้น ได้แก่ พัฒนาการในภูมิภาค กรอบความร่วมมือพหุภาคีและการปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนประเด็นด้านกงสุล

ในด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสการครบรอบ ๖๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับบราซิลในปี ๒๕๖๗ อันจะนำมาซึ่งการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐและระดับประชาชนต่อประชาชน ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่ร่วมมือกันเพิ่มพูนปริมาณและมูลค่าการค้าทวิภาคี ตลอดจนแก้ไขภาวะขาดดุลทางการค้าและการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ รวมทั้งความท้าทายด้านระบบโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนไทยและบราซิลจะร่วมลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยความร่วมมือด้านการลงทุนที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งมีความสำคัญต่อการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ พลังงานทดแทน (โดยเฉพาะเอทานอล) พลาสติกชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve อื่น ๆ

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ความร่วมมือใต้-ใต้มีความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือทางวิชาการให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมุ่งที่จะร่วมกันผลักดันข้อริเริ่มหลักให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือด้านการเกษตรและการเปิดตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงกฎระเบียบและข้อบังคับที่จำเป็นในการนำเข้าและส่งออกสินค้าของแต่ละประเทศ ตลอดจนประเด็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ข้อริเริ่มอื่น ๆ ด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะช่วยให้ทั้งไทยและบราซิลเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศของอีกฝ่าย และยังช่วยเชื่อมโยงประชาชนของทั้งสองประเทศ ประกอบด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงอาหาร แฟชั่น เทศกาล ศิลปะการต่อสู้ และภาพยนตร์ การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการและการศึกษา กีฬา โดยเฉพาะมวยไทย ฟุตบอล และเซปักตะกร้อ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกงสุลเพื่อร่วมกันแก้ไขและป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ

ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านพัฒนาการในภูมิภาค โดยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-เมร์โกซูร์ ในปี ๒๕๖๖ ไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับบราซิล ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานเมร์โกซูร์ ในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกัน เพื่อฟื้นฟูความร่วมมืออาเซียน-เมร์โกซูร์ อีกทั้งยังได้แสดงการสนับสนุนการปฏิรูปกรอบความร่วมมือพหุภาคีให้ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และกลุ่ม BRICS นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนเรื่องการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี ๒๕๖๕ ที่กรุงเทพฯ การขยายสมาชิกภาพของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และโอกาสในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสําหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

การประชุมเสร็จสิ้นด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับสถาบันฮิวบรังกูแห่งกระทรวงการต่างประเทศบราซิล ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกันในการฝึกอบรมนักการทูต โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย แต่ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการทูตและการต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการศึกษาวิจัย หลักสูตร การสัมมนา ตลอดจนกิจกรรมด้านวิชาการ การศึกษาและการฝึกอบรมอื่น ๆ ระหว่างสองประเทศ

อนึ่ง การประชุม PC ครั้งที่ ๓ เป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยมุ่งเสริมสร้างมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อกระชับความร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ