วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ก.ค. 2565
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา
การตระหนักถึงประวัติศาสตร์ร่วมและการเสริมสร้างอนาคตร่วมกัน
๑. ด้วยไทยและสหรัฐอเมริกาจะร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างกันที่ดำเนินมากว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่สนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ค.ศ. ๑๘๓๓ ความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาจากกติกามะนิลา (Manila Pact) ค.ศ. ๑๙๕๔ แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ ค.ศ. ๑๙๖๒ และสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ค.ศ. ๑๙๖๖ ตลอดจนประวัติศาสตร์ ค่านิยมร่วมกัน และความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการส่งเสริมความเข้มแข็ง หลักประชาธิปไตยที่ครอบคลุม และสร้างความคืบหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งสองประเทศยืนยันความมุ่งมั่นในความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ด้วยความเท่าเทียมทางอธิปไตย และการยึดมั่นแน่วแน่ต่อหลักการแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
๒. เรามุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง
ความร่วมมือด้านข่าวกรอง การส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสาธารณสุข ความร่วมมือระหว่างประชาชน การแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คำมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมทางยุทธศาสตร์
๓. เป้าหมายในระยะยาวของไทยและสหรัฐฯ คือ การขยายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันความขัดแย้ง รักษาบรรยากาศด้านความมั่นคงที่มีสันติภาพ ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และการบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืนและสมดุล เราผลักดันเป้าหมายนี้ด้วยความเท่าเทียมเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยและชาวอเมริกัน ตลอดจนประชาชนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและนานาประเทศ เราจะแสวงหาทางทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าและทรัพยากรที่จำเป็นต่อความมั่นคง ปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรือง เราประสงค์จะสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางอาชญากรรม โดยใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา ค.ศ. ๑๙๘๖ และสนธิสัญญาการว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. ๑๙๘๓ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งสองประเทศ ตลอดจนนานาประเทศในภูมิภาคและโลกปลอดภัยจากเครือข่ายอาชญากร
๔. ในขณะที่เราเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่ต่าง ๆ เราดำเนินปฏิสัมพันธ์อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น เรามุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตอบสนองต่อวิกฤติทางสาธารณสุขในอนาคต และส่งเสริมการสาธารณสุขทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งเน้นย้ำความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ เราจะกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน พัฒนาแหล่งทรัพยากรเพื่ออนาคตในการส่งเสริมนวัตกรรมและขยายการใช้และการผลิตพลังงานหมุนเวียน เราจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการหารือทวิภาคีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอวกาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกใหม่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ
กลไกหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูง
๕. นอกเหนือจากการปฏิสัมพันธ์ระดับสูงที่ดำเนินอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนการหารือและติดตามความคืบหน้าในมิติต่าง ๆ ผ่านกลไกการประชุมด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงไทย-สหรัฐฯ ประจำปีในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งนำผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางกลาโหมและความมั่นคง ประเด็นด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เสถียรภาพของภูมิภาค การดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน และการสื่อสาร และ
การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
พันธกิจร่วมเพื่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างสันติภาพ ความยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรือง
ของทั้งสองประเทศและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ภายใต้ความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทยและสหรัฐฯ จะแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ดังนี้:
๖. การยึดมั่นในหลักการต่าง ๆ การส่งเสริมการพัฒนาทางประชาธิปไตยอย่างเปิดกว้างและโปร่งใสเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันวิสัยทัศน์ร่วมในการเสริมสร้างให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคแห่งความเสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม และยั่งยืน สถาบันประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง ภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระ และการเลือกตั้งที่เสรีและ
เป็นธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวและมีส่วนช่วยให้สังคมของทั้งสองประเทศก้าวหน้าและบรรลุศักยภาพสูงสุด เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างค่านิยมและอุดมคติร่วม ซึ่งรวมถึงหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ การยึดมั่นในหลักการด้านมนุษยธรรม รวมทั้งหลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เรามีความปรารถนาร่วมกันในการส่งเสริมสังคมที่มีความเปิดกว้างและครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มบุคคลชายขอบ เช่น สตรี เด็ก ผู้พิการ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานต่าง ๆ เป็นต้น
ตลอดจนการต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน เรายืนยันความมุ่งมั่น
ในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิของกลุ่มเปราะบางซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
๗. การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไทยและสหรัฐฯ มุ่งพัฒนาและฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาการเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล รวมทั้งผ่านแนวคิดตามนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน การส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และการขยายขีดความสามารถผ่านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีนวัตกรรมบนพื้นฐานของความสมัครใจและการกำหนดเงื่อนไขร่วมกัน เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการสร้างงานและการเติบโตอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนแสวงหาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะและยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร และการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก เราจะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าสำคัญ และประสานงานเพื่อหลีกเลี่ยงการหยุดชะงักทางการค้าในกลุ่มสินค้าจำเป็น ไทยและสหรัฐฯ จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนพัฒนาการทางดิจิทัล และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มั่นคงและปลอดภัย การเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลในภาคแรงงาน และการส่งเสริมการปรับตัวทางดิจิทัลขององค์กรและธุรกิจเริ่มต้น (start-up) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการส่งเสริมนโยบายการค้าดิจิทัล โดยคำนึงว่า
การคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาและความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการค้า นอกจากภายในประเทศแล้ว ทั้งสองประเทศมุ่งแสวงหาแนวทางสานต่อการสร้างโอกาสในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง พลังงาน และดิจิทัล ที่มีคุณภาพสูง ยั่งยืน และเข้มแข็งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านกลไกต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือทางการเงิน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน และความร่วมมือกับประเทศที่สาม
๘. การรับมือกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงภัยคุกคามระดับโลกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยและสหรัฐฯ มุ่งสานต่อ
การดำเนินบทบาทนำในการรับมือกับประเด็นท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในขณะที่ยกระดับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราจะทำงานร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการปรับตัวและความยืดหยุ่น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน การเกษตรอัจฉริยะที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และการจัดเก็บพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะร่วมกันส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค และจะร่วมกันส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความมั่นคงทางน้ำและความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศในบริเวณลุ่มน้ำโขง ทั้งสองประเทศจะแสวงหาความร่วมมือในการกระตุ้นการลงทุนด้านเทคโนโลยีสีเขียว การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนของภาคเอกชน และการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในห่วงโซ่อุปทานทางพลังงานที่สำคัญ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด และเป้าหมายของไทยใน
การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐
๙. การพัฒนาความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญา ทั้งสองประเทศเน้นย้ำการยึดมั่นในพื้นฐานการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และพันธกิจร่วมใน
การรับมือกับประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงในศตวรรษที่ ๒๑ ตามที่ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ค.ศ. ๒๐๒๐ เราจะเสริมสร้างให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม โดยการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลาโหมและขยายขีดความสามารถบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ค่านิยมร่วมทางประชาธิปไตย และผลประโยชน์ร่วมกัน เราตระหนักถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล การศึกษาและการฝึกอบรม การขยายขีดความสามารถ ความสามารถปฏิบัติการร่วม และการเสริมสร้างความทันสมัยของสถาบันทางกลาโหมและความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติของทั้งสองประเทศและภูมิภาคในวงกว้าง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยึดมั่นต่อพันธกรณีที่มีต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทย และการสนับสนุนในระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาความทันสมัย การศึกษาและการฝึกอบรม
ความมั่นคงทางทะเล ข้อริเริ่มด้านไซเบอร์และอวกาศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
๑๐. การขยายและเสริมสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะส่วนหนึ่งของการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะขยาย
ความร่วมมือในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาคในด้านการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการลักลอบค้ายาเสพติด สัตว์ป่าและไม้ และการต่อต้านการก่อการร้ายและการฟอกเงิน ไทยและสหรัฐฯ ยึดมั่นในการขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และการแสวงผลประโยชน์จากเด็ก โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากสถาบันการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ ในการเสริมสร้างเครือข่ายและกระชับความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในภูมิภาค
๑๑. การเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์และความร่วมมือทางเทคโนโลยี เรามุ่งขยายกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในระบบเครือข่ายของทั้งสองฝ่ายการดำเนินคดีกับผู้ก่ออาชญากรรม และการคุ้มครองโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญ โดยสหรัฐฯ ยึดมั่นในการสานต่อการสนับสนุนฝ่ายไทยในการพัฒนาแผนรับมือเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางไซเบอร์แห่งชาติ คณะกรรมการตอบโต้ต่อเหตุฉุกเฉินทางคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National CERT) ศูนย์ประสานงานแห่งชาติ และศักยภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เรามุ่งเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยพลเรือนต่าง ๆ ในการป้องกันและดำเนินคดีด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ และจะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และอื่น ๆ เพื่อให้การสอบสวนและดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นไปโดยยุติธรรม
๑๒. การส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยและสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อสถาปัตยกรรมความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เรายึดมั่นในพันธกิจเกี่ยวกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม การเติบโตที่สมดุล และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราประสงค์ที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนาการตอบสนองต่อประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลกให้ดียิ่งขึ้น เราจะร่วมมือกันเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค เราเน้นย้ำท่าทีร่วมกันในการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและบทบาทสำคัญของอาเซียนที่มีต่อการรับมือกับประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ ผ่านกลไกภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งรวมถึงการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM-Plus) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ภายใต้แนวคิด ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) เราเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง–สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ที่ไทยและสหรัฐฯ ร่วมเป็นสมาชิก แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี–เจ้าพระยา–แม่โขง (ACMECS) ที่ไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง และสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายกำหนดสานต่อความร่วมมือในกลไกด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อาทิ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (APEC) และใช้ประโยชน์จากบทบาทนำของทั้งสองประเทศ ในปี ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เป็นไปอย่างเสรี ยุติธรรม และเปิดกว้าง
พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน
๑๓. การส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขระดับโลก ไทยและสหรัฐฯ จะสานต่อความร่วมมือที่ใกล้ชิดและยาวนานด้านสาธารณสุข เพื่อสนองตอบต่อประเด็นท้าทายอุบัติใหม่ด้านสาธารณสุข และส่งเสริมการดำเนินปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย นำโดยศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกองทัพ (AFRIMS) กระทรวงสาธารณสุขของไทย และหน่วยงานด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อเผชิญกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางสาธารณสุขผ่านการดำเนินโครงการวิจัยทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนและกระบวนการรักษา และความร่วมมือด้านสาธารณสุข นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานร่วมของทั้งสองฝ่ายเป็นประโยชน์ในระดับโลก และเราจะสานต่อความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค และพัฒนาผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขต่อประชาชนทั่วโลก ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธุ์ใหม่ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราจะกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด และตอบสนองต่อการเสริมสร้างการฟื้นฟูระบบสาธารณสุขทั่วโลกให้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง
๑๔. การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความใกล้ชิดและการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย นับเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งในความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองประเทศกำหนดดำเนินงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และพร้อมสานต่อสถานะความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันเข้าสู่ศตวรรษที่สาม ผ่านการดำเนินโครงการพื้นที่แห่งอเมริกัน (American Spaces) ทั้งในประเทศไทยและกิจกรรมของไทยในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ ผ่านการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาด้านการศึกษาและวิชาชีพ ซึ่งรวมถึงโครงการศึกษาในสาชาวิชาภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่ดำเนินการร่วมทั้งในประเทศไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนส่งเสริมโครงการไทยศึกษาในสหรัฐฯ ทั้งนี้ สมาคมศิษย์เก่าไทย-สหรัฐฯ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างศิษย์เก่าสหรัฐฯ จากทั่วประเทศไทย อันจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างค่านิยมและเป้าหมายร่วมต่อไป
๑๕. การเพิ่มขีดความสามารถทางการทูต โดยคำนึงถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไทยและสหรัฐฯ ยึดมั่นในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่แข็งแกร่ง โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดและการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะทบทวนและส่งเสริมการให้การสนับสนุนการดำเนินภารกิจทางการทูตของทั้งสองฝ่าย เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นแฟ้นซึ่งกันและกัน
ลงนามที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยมีคู่ฉบับเป็นภาษาอังกฤษ
ในนาม ในนาม
รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา
นายดอน ปรมัตถ์วินัย นายแอนโทนี เจ บลิงเกน
รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
Thailand-United States Communiqué on Strategic Alliance and Partnership>>
https://www.mfa.go.th/en/content/thailand-united-states-communiqué
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **