บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ก.ค. 2565

| 14,462 view

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

บันทึกความเข้าใจ

ระหว่าง

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

กับ

รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

ว่าด้วย

การส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

 

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (โดยเรียกรวมว่า “ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย” หรือเรียกแต่ละฝ่ายว่า “ผู้เข้าร่วม” จากนี้เป็นต้นไป)

โดยตระหนักว่าสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. ๑๘๓๓ และเอกสารความร่วมมือสืบเนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าว รวมถึงสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ค.ศ. ๑๙๖๖ ได้กระชับมิตรภาพ เสริมสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน และสร้างเวทีเพื่อให้ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศเจริญรุ่งเรือง

โดยประสงค์ที่จะกระชับมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และ

โดยย้ำความสนใจร่วมกันในห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง หลากหลาย และมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ร่วมกันจากการหารือ การร่วมมือ และการประสานงานเพื่อลดความเปราะบางในห่วงโซ่อุปทานลดภาวะการหยุดชะงัก และเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าสำคัญได้ตลอด

ได้มีความเข้าใจร่วมกัน ดังต่อไปนี้

. วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล การหารือ และการพัฒนาโครงการ เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกันในห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส มั่นคง ยั่งยืน หลากหลาย เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ โดยส่งเสริมสาธารณสุข ความมั่นคง และความมั่งคั่งในภาพรวมของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

. ขอบเขตของความร่วมมือ

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความตั้งใจที่จะร่วมมือกัน รวมถึงผ่านกิจกรรมในสาขากว้าง ๆ ดังนี้

(๑) การแบ่งปันข้อมูล รวมถึงด้านตลาด ภาวะการหยุดชะงัก ภาวะการขาดแคลน หรือข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ พร้อมทั้งโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านการพัฒนากฎหมาย นโยบาย มาตรฐาน และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งอาจเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

(๒) การพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการดำเนินการที่หลากหลายในวงกว้างโดยภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ และเพื่อลดความเปราะบางที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดและสภาวะทางสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง ความมั่นคงทางกายภาพและทางไซเบอร์ และการกระจุกตัวทางภูมิศาสตร์ของวัตถุดิบ
ความสามารถในการแปรรูป และการผลิต

(๓) การหารือทวิภาคีโดยเร็ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาวะการหยุดชะงักของการผลิต การค้า หรือการคมนาคม รวมทั้งยุทธศาสตร์การบรรเทาผลกระทบที่เป็นไปได้ และ

(๔) การหารือกับภาคเอกชน รวมถึงการเชื่อมโยงภาคเอกชนของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการลงทุนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ที่มีศักยภาพเป็นหุ้นส่วนทางการค้า เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ภาคเอกชนของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนในการบรรเทาภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

. วิธีการดำเนินความร่วมมือ

วิธีการดำเนินความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจรวมถึงการดำเนินความร่วมมือ ดังต่อไปนี้

(๑) การหารือโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวล หรือความเปราะบางที่พบในห่วงโซ่อุปทานโลก และการพัฒนาวิธีการเพื่อรับมือกับข้อห่วงกังวลดังกล่าว

(๒) การพัฒนาวิธีการเพื่ออำนวยให้เกิดความเข้ากันได้ของสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงแค่สาขาสำคัญ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าด้านสุขภาพ อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย อุปกรณ์โทรคมนาคม สินค้าพลังงาน และยานพาหนะยุคใหม่

(๓) การพัฒนาโครงการความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาความเป็นไปได้ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและลดความเปราะบาง รวมทั้งผ่านการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงชายแดน เครือข่ายคมนาคม ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การวิจัยร่วมกัน และความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(๔) การพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความหลากหลาย และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ

(๕) การหารือเป็นระยะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทบทวนความคืบหน้าภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แผนยุทธศาสตร์ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทาย โอกาส และประเด็นที่สำคัญ โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยผู้จัดทำบันทึกความเข้าใจทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะจัดการหารือดังกล่าวปีละสองครั้ง หรือตามที่จำเป็น

. การดำเนินการและระยะเวลา

(๑) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะเริ่มใช้ได้ในวันที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายลงนาม และกำหนดให้มีผลเป็นระยะเวลาห้าปีจากวันดังกล่าว

(๒) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สามารถขยายระยะเวลาได้โดยการตัดสินใจที่เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

. การแก้ไขและการสิ้นสุด

(๑) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สามารถแก้ไขได้ได้โดยการตัดสินใจที่เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

(๒) ผู้เข้าร่วมอาจบอกเลิกบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้ทุกเมื่อ โดยแจ้งการบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงผู้เข้าร่วมอีกฝ่าย อย่างน้อยสามสิบ (๓๐) วัน ก่อนการสิ้นสุด

. อื่น ๆ

(๑) ผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่ายเข้าใจว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีทางกฎหมาย และไม่จำกัดความร่วมมือกับฝ่ายอื่น

(๒) บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มิได้มีเจตนาเป็นข้อผูกมัดต่อผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายในการสนับสนุนงบประมาณ หรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ  โดยข้อผูกพันในลักษณะดังกล่าวจะระบุอยู่ในการจัดทำความตกลงแยก ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายอาจจัดทำขึ้น นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มิได้เป็นข้อผูกมัดให้ผู้เข้าร่วมให้การปฎิบัติที่ได้เปรียบแก่ผู้เข้าร่วมอีกฝ่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กิจกรรมทั้งหมดที่ดำเนินการโดยผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย

(๓) ผู้เข้าร่วมแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของฝ่ายตนเองที่เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้

ลงนามในสองฉบับ ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ในภาษาอังกฤษ

ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย            ในนามรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา

 

นายดอน ปรมัตถ์วินัย                              นายแอนโทนี เจ บลิงเกน

รองนายกรัฐมนตรี                                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the United States of America on Promoting Supply Chain Resilience>> 

https://www.mfa.go.th/en/content/mou-promoting-supply-chain-resilience