นายกรัฐมนตรีแสดงมุมมองของไทยเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ ๒๖

นายกรัฐมนตรีแสดงมุมมองของไทยเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ ๒๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,181 view

นายกรัฐมนตรีแสดงมุมมองของไทยเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนบทบาทของเอเชียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ ในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ ๒๖

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๒๐ - ๑๑.๕๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ ๒๖ ภายใต้หัวข้อ “Shaping the Post-COVID Era: Asia’s Role in the Global Recovery” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในฐานะองค์ปาฐก (keynote speaker) ตามคำเชิญของหนังสือพิมพ์นิคเค

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาแสดงมุมมองของไทยเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนบทบาทของเอเชียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ โดยได้ย้ำในประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑. การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เป็นสัญญาณเตือน (wake-up call) ให้ประเทศต่าง ๆ มองย้อนกลับมาดูตัวเองเพื่อปรับตัวก้าวข้ามจุดอ่อน และความท้าทายต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหน้า และค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกัน

๒. เอเชียเป็นภูมิภาคแห่งความเข้มแข็ง ความมุ่งมั่น และความยืดหยุ่น เอเชียสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูของโลกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้นได้

๓. ในระดับทวิภาคี ญี่ปุ่นและไทยเป็นหุ้นส่วนที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนการเจริญเติบโตของกันและกัน ไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยให้มากขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๔. ความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคีเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ อย่างรอบด้าน ซึ่งญี่ปุ่นและไทยต่างเป็นผู้เล่นสำคัญ

๕. การอำนวยความสะดวกค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้างเป็นปัจจัยเร่งเพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมในระยะยาว โดยในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ไทยจะริเริ่มการพูดคุยอีกครั้งในเรื่องหนทางที่จะนำไปสู่เขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป (Free Trade Area of the Asia Pacific (FTAAP))

๖. การฟื้นตัวของโลกขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นฟูความเชื่อมโยงเป็นหลัก ในระยะเร่งด่วน เราต้อง (๑) กลับมาเริ่มต้นการเดินทางข้ามพรมแดนอีกครั้ง (๒) จัดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม และ (๓) ยอมรับเอกสารการฉีดวัคซีนระหว่างกัน

๗. เมื่อเรามองไปข้างหน้าหลังโควิด-๑๙ เราจะเห็นว่าความยั่งยืนเป็นกุญแจไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนยาวนาน เพื่อให้เราสามารถ “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” (build back better) เราจำเป็นต้องรวมมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของเรา ด้วยเหตุนี้ BCG Model จึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า

ภายหลังการกล่าวปาฐกถา นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์นิคเคในเรื่องการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ และการส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย

อนึ่ง ในการประชุม Nikkei Forum ครั้งนี้ มีผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม เช่น (๑) ประธานาธิบดีศรีลังกา (๒) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม (๓) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (๔) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน (๖) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (๗) นายกรัฐมนตรีเนปาล เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum)