การประชุมคณะทำงานร่วมไทย-ซาอุดีอาระเบีย ครั้งที่ ๑ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – ซาอุดีอาระเบีย

การประชุมคณะทำงานร่วมไทย-ซาอุดีอาระเบีย ครั้งที่ ๑ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – ซาอุดีอาระเบีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 เม.ย. 2565

| 2,761 view

เมื่อวันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานร่วมไทย - ซาอุดีอาระเบีย ครั้งที่ ๑ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนาย Faisal Al-Amodi อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นประธานร่วม

การประชุมดังกล่าวซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่ายประมาณ ๑๐๐ คน ได้ร่วมกันพิจารณายกร่างแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - ซาอุดีอาระเบีย หรือ Roadmap to Strengthen Bilateral Relations between the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Saudi Arabia เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองประเทศประสงค์จะผลักดันระหว่างกัน ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์หลักใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (๒) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (๓) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม และร่วมกันยกร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือไทย - ซาอุดีอาระเบีย หรือ Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Saudi Arabia on the Establishment of Saudi - Thai Coordination Council ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกประสานงานและขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีตามแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีฯ (Roadmap) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๕ นายเชิดเกียรติ อัตถากร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ให้เกียรติเป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย - ซาอุดีอาระเบีย ณ ราชนาวิกสภา และภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้ผู้แทนจากภาคเอกชนของไทยได้มีโอกาสได้หารือถึงโอกาสในการร่วมมือกับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การโรงแรม การท่องเที่ยวและภาคบริการ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรม ความมั่นคงทางอาหาร และการพยาบาล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ