วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ส.ค. 2567
ไทยร่วมรับรองร่างอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ในการประชุมเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ในกรอบคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจของสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ คณะผู้แทนไทย นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมรับรองร่างอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ในการประชุมเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ ๒๙ กรกฎาคม - ๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยร่างอนุสัญญาฉบับนี้จะเป็นตราสารระหว่างประเทศฉบับแรกในกรอบสหประชาชาติที่ครอบคลุมเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีลักษณะข้ามพรมแดนและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การเจรจาร่างอนุสัญญาฉบับนี้อยู่ภายใต้กรอบคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจเพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมในกรอบสหประชาชาติ (United Nations Ad Hoc Committee (AHC) to Elaborate a Comprehensive International Convention on Countering the Use of Information and Communications Technologies for Criminal Purposes) ซึ่งได้เจรจาร่างอนุสัญญาฯ มาแล้วรวม ๘ สมัย จนสามารถบรรลุฉันทามติได้ในการประชุมสมัยสรุปครั้งล่าสุด โดยจะมีการเสนอร่างอนุสัญญาฯ ให้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ ๗๘ พิจารณาให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ และได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ มาตั้งแต่ต้น โดยในการประชุมสมัยสรุปครั้งล่าสุด คณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความยินดีที่คณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ สามารถรับรองร่างอนุสัญญาฯ และหวังให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะปัญหาการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต การค้ามนุษย์ และการค้ายาเสพติด เมื่อคำนึงว่า อาชญากรรมข้ามชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในไทยผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้เป็นลำดับต้น
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **