สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๖๗ ที่ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook live
๑. การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากอินเดียมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
- กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ และรัฐบาลอินเดีย ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตาม “โครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง” จาอินเดียมาประดิษฐาน
เป็นการชั่วคราวที่ในไทย ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่
- กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สนับสนุนการประสานงานกับรัฐบาลอินเดียและการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ
- นับเป็นครั้งแรกที่ศาสนิกชนชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะได้ร่วมสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “พระธาตุกบิลพัสดุ์” (Kapilvastu Relics) อัญเชิญมาจากพุทธวิหาร เมืองสาญจี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับอินเดียด้วย
- ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนศาสนิกชนไทยและต่างชาติร่วมรับชมขบวนการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๐๐ น. ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนทางโทรทัศน์ช่อง ๙ และช่อง ๑๑ หรือผ่านทาง facebook live ที่หน้าเพจ facebook “Phralan” (พระลาน) จากนั้น ในเวลา ๑๗.๐๐ น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในมีพิธีเปิดงานและพิธีเจริญพระพุทธมนต์
- ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น.
- ประชาชนสามารถเข้าสักการะบูชา โดยขอความร่วมมือแต่งกายด้วยชุดสุภาพ งดเว้นสีดำ ตามวันและสถานที่ ดังนี้
- ระหว่างวันที่ ๒๔ ก.พ. – ๓ มี.ค ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
- ระหว่างวันที่ ๕ – ๘ มี.ค. ๒๕๖๗ ที่หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
- ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๓ มี.ค. ๒๕๖๗ ที่วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จังหวัดอุบลราชธานี
- ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๘ มี.ค. ๒๕๖๗ ที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จังหวัดกระบี่
- ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทั้งในไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ได้ตามวันและเวลาข้างต้น
๒. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
- รองนายกรัฐมนตรีฯ เดินทางเยือนกรุงเบอร์ลิน และนครเบรเมิน เยอรมนี ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๕ กุมภาพันธ์
- เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้มอบนโยบายให้ทีมประเทศไทยในเยอรมนี และร่วมงานเสวนาของมูลนิธิการเมือง Konrad Adenauer Stiftung (KAS) ที่จัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน โดยกล่าวเปิดงานเสวนาในหัวข้อ “Thailand and Germany: Perspectives and Opportunities in the Indo-Pacific” ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทด้านการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อเสวนาเดียวกัน และร่วมเสวนาในอีกหัวข้อหนึ่ง กับอธิบดีกรมเอเชีย-แปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โดยมีผู้แทนภาควิชาการเยอรมนีและสมาชิกรัฐสภาเยอรมนีด้วย
- ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ จะเดินทางไปยังนครเบรเมิน เพื่อกล่าวเปิดงานและเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองการก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน (Ostasiatischer Verein Bremen: OAV Bremen) OAV Stiftungfest ครั้งที่ ๑๒๓ โดยจะมีผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจระดับสูงของรัฐเบรเมินเข้าร่วมประมาณ ๓๕๐ คน ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจเยอรมนีในรัฐเบรเมิน โดยเฉพาะด้าน ยานยนต์ โลจิสติกส์ และการเดินเรือ
- การเยือนเยอรมนีในครั้งนี้ เป็นการสานต่อการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๔ – ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคมนี้
- รองนายกรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุม JC ไทย-อินเดีย ที่กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ กุมภาพันธ์
- รองนายกรัฐมนตรีฯ จะเดินทางเยือนอินเดีย เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดีย ครั้งที่ ๑๐ (The 10th Meeting of India-Thailand Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ร่วมกับ ดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่กรุงนิวเดลี หลังจากที่มีการประชุม JC ไทย – อินเดีย ครั้งที่ ๙ ไปเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕
- การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย – อินเดียให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การส่งเสริมการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน อีกทั้งยังเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจร่วมกันด้วย
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะนักธุรกิจเยือนสาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๕ กุมภาพันธ์
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปคาซัคสถาน เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
- คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีสำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียกลาง มีทรัพยากรแร่ธาตุ น้ำมันสำรอง และสามารถผลิตแร่ธาตุต่าง ๆ ได้จำนวนมาก อีกทั้งในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจากคาซัคสถานเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่า ๑๗๒,๒๘๒ คน และล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายการยกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวคาซัคสถานอีก ๖ เดือน (๑ มีนาคม – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๗)
- การเยือนดังกล่าวมีภารกิจ ดังนี้
- พบหารือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน ด้านการลงทุน เพื่อรับทราบตัวเลขการลงทุน สาขาอุตสาหกรรมสำคัญ นโยบายและมาตรการดึงดูดนักลงทุน และการขอรับการสนับสนุนการเจรจา Thailand - Eurasian Economic Union (EAEU) FTA
- พบหารือผู้แทนกระทรวงเกษตรคาซัคสถาน เพื่อรับทราบสินค้าเกษตรและอาหารหลัก ความเชี่ยวชาญ ห่วงโซ่คุณค่าและอุปทาน และหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร นอกจากนี้ คณะฯ จะพบหารือกับผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาซัคสถาน ระหว่างการเยือนครั้งนี้ด้วย
- พบหารือรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของคาซัคสถาน
- กล่าวเปิดงาน “Amazing Thailand : A Glimpse of the Land of Smiles”
๓. การประชุม Strategic Dialogue ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๙ การประชุม Strategic and Defense Dialogue ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๒ และการหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ (Defense Strategic Talks : DST) ครั้งที่ ๘ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
- กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับฝ่ายสหรัฐฯ ดังนี้
- การหารือ Thailand-U.S. Strategic and Defense Dialogue หรือการหารือ ๒+๒ ครั้งที่ ๒ โดยมีประธานร่วมฝ่ายไทย ได้แก่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงกลาโหม และประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ ได้แก่ นาย Daniel K. Kritenbrink ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และนาย Jedidiah P. Royal รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้านกิจการความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก
- การหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Strategic Dialogue: SD) ครั้งที่ ๙ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ
- การหารือยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐฯ (Defense Strategic Talks : DST) ครั้งที่ ๘ ระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับสหรัฐฯ
- การหารือข้างต้นเป็นกลไกและเวทีที่สำคัญในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – สหรัฐฯ โดยเฉพาะภายหลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการ และพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวมถึงบุคคลสำคัญอื่น ๆ ของฝ่ายสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา โดยการประชุมทั้งสามดังกล่าวเป็นการประชุมต่อเนื่องในลักษณะ back to back ซึ่งการประชุมครั้งก่อนจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
- สหรัฐฯ เป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดและเป็นพันธมิตรของไทยมายาวนาน โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย
ที่มีการจัดทำสนธิสัญญากับสหรัฐฯ เมื่อปี ๒๓๗๖ และทั้งสองฝ่ายได้ฉลองโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ๒๕๖๖ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังมุ่งเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศและบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในระดับทวิภาคีและเวทีระหว่างประเทศ
๔. การเปิดให้บริการสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ. สระแก้ว
- กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเปิดให้บริการสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว แห่งใหม่
ที่จังหวัดสระแก้ว ณ ศูนย์การค้าอินโดจีน อรัญประเทศ อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสาร ชั้น ๒ โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ ๒๗ ก.พ. ๒๕๖๗ เปิดทำการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- การเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางแห่งนี้เป็นไปตามการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๖ และการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ซึ่งเห็นพ้องว่าจังหวัดสระแก้วมีประชากรจำนวนมากและเป็นจุดสำคัญที่ประชาชนใช้เดินทางเข้า – ออกกัมพูชา กอปรกับประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้มีสำนักงานหนังสือเดินทาง จึงได้มีดำริให้จัดตั้งสำนักงานดังกล่าว
- ขณะนี้ กรมการกงสุล นอกจากการจะให้บริการทำหนังสือเดินทางที่อาคารสำนักงาน ถ. แจ้งวัฒนะแล้ว ยังมีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวทั่วประเทศ รวม ๒๕ แห่ง ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ๕ แห่ง และต่างจังหวัดอีก ๒๐ แห่ง สระแก้วจะเป็นสำนักงานฯ แห่งที่ ๒๖
- ผู้ที่สนใจสามารถหาที่อยู่ของสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวได้ที่เว็บไซต์ของกรมการกงสุล https://consular.mfa.go.th/ หรือค้นหาคำว่า “กรมการกงสุล” ใน google ได้
- ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ จะมีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดพะเยา และจะมีการให้บริการกงสุลสัญจรในพื้นที่ ประชาชนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงสามารถไปรับบริการได้
ประเด็นเพิ่มเติม
- ย้ำเตือนกรณีการแอบอ้างเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ เพื่อหลอกลวงชุมชนไทยในต่างประเทศ รวมถึงการหลอกลวงคนไทยให้ไปโอนเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครไปทำงานในต่างประเทศ
- ล่าสุด ในสหรัฐฯ มีขบวนการโทรศัพท์หลอกลวงชุมชนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างชื่อข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตข้าราชการสถานกงสุลใหญ่ หรือข้าราชการที่ยังประจำการอยู่
- กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำเตือนพี่น้องชุมชนไทยในต่างประเทศอีกครั้งว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ไม่มีนโยบายหรือแนวทางให้เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างโทรศัพท์สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลหรือขอให้โอนค่าธรรมเนียมกงสุลใด ๆ จากผู้ร้องทั้งสิ้น โดยกระทรวงฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจ สอบสวนกลาง กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อตรวจสอบหากมีการรั่วไหลของข้อมูลอีกทางหนึ่งด้วยแล้ว
- นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการหลอกลวงในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ กรณีคนไทยกรอกข้อมูลส่วนตัวใน Linkedin เพื่อสมัครงาน และได้รับการทาบทามทางอีเมลจากคนต่างชาติอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย แจ้งว่าสนใจรับเข้าทำงาน และได้ดำเนินการเสมือนการสมัครงานทุกประการ รวมถึงให้โอนเงินค่าธรรมเนียมการยื่นขอใบรับรองประวัติอาชญากรรมของอินโดนีเซีย เป็นเงินจำนวนประมาณ ๒,๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า ๘ หมื่นบาท ซึ่งเมื่อคนไทยบุคคลดังกล่าวได้สอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูต
ณ กรุงจาการ์ตา จึงได้ทราบข้อเท็จจริงว่า บริษัทน้ำมันดังกล่าวไม่ได้ติดต่อไป และเอกสารรับรองประวัติอาชญากรรมที่ออกให้ผู้มีถิ่นพำนักในอินโดนีเซีย มีค่าธรรมเนียมประมาณ ๗๐ บาทเท่านั้น จึงขอเตือนคนไทยให้ตรวจสอบให้ดีก่อนการทำธุรกรรมทางการเงินกับปลายทาง โดยหากมีข้อสงสัย สามารถตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในพื้นที่ได้
- รายงานข่าวเกี่ยวกับชาวเมียนมาขอรับการตรวจลงตราจำนวนมาก
- ตามที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับ การที่ชาวเมียนมาจำนวนมากต่อแถวที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศไทย ขอเรียนว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และขณะนี้ สามารถรับคำร้องได้กว่าวันละ ๘๐๐ ราย โดยมีการเปิดใช้ระบบจองคิวออนไลน์ ทำให้ไม่มีการยืนต่อแถวบริเวณด้านหน้าสถานเอกอัคราชทูตฯ แล้ว อนึ่ง คนเมียนมาสามารถเดินทางเข้าไทยได้หากพำนักไม่เกิน ๑๔ วันโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา
- การช่วยเหลือตัวประกันคนไทยที่ยังถูกลักพาตัวในสถานการณ์อิสราเอล-กาซา
- สำหรับประเด็นการติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยที่ถูกลักพาตัวในสถานการณ์อิสราเอล-กาซา อีก ๘ ราย กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของไทย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังคงประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้มีการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด
- สำหรับคนไทยที่ไม่สามารถติดต่อพี่น้องที่ทำงานอยู่ หรือกลับไปทำงานที่อิสราเอลแล้วได้ ซึ่งในบางกรณีเกิดจากสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง ก็สามารถแจ้งชื่อและหมายเลขติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อให้เป็นผู้ติดต่อให้ได้อีกทางหนึ่ง
รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/pb6H7LUtZ4BGAvHz/?
* * * * *