การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕ ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕ ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,466 view

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หารือทบทวนความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย – จีน ทั้งด้านความร่วมมือเพื่อบรรเทาสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาไทยเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีน และประเด็นในระดับภูมิภาค ในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๗.๓๐ น. (เวลาประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕ โดยมีนายธานี ทองภักดีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายอู๋ เจียงฮ่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วม ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมได้ทบทวนความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน นับตั้งแต่การหารือเชิงยุทธศาสตร์ฯ ครั้งที่ ๔ ในปี ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง และติดตามผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) รวมถึงหารือเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙

ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจต่อพัฒนาการทางความสัมพันธ์ไทย - จีนแม้ประสบกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งสะท้อนได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ และการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ รวมถึงการขยายตัวของการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้วยการลงนามในสัญญา ๒.๓ ของโครงการความร่วมมือรถไฟไทย – จีน

ทั้งสองฝ่ายแสดงความขอบคุณในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรเทาสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายจีนสำหรับความร่วมมือในการจัดหาและการบริจาควัคซีนต้านโควิด-๑๙ ให้กับไทย ขณะที่ฝ่ายจีนแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้กับฝ่ายไทย รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีน

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-๑๙ ผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามแดน และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) รวมถึงการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของรัฐบาลไทยกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๔ ระยะ ๕ ปีของรัฐบาลจีน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว ดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการลดความยากจน

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย - จีน ครั้งที่ ๗ การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย - จีน ครั้งที่ ๒๓ และการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ ๒ ภายในปีนี้ ฝ่ายไทยยังได้แสดงความหวังว่าฝ่ายจีนจะพิจารณาคำขอให้สายการบินของไทยกลับมาทำการบินเชิงพาณิชย์ในจีน และอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาไทยในการเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีนในโอกาสแรก นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนให้เร่งรัดหาข้อสรุปการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙) และร่างแผนความร่วมมือไทย - จีนว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ประธานร่วมทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน รวมถึงการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีนสมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน - จีน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ นครฉงชิ่ง ตลอดจนความร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ซึ่งจีนเข้าร่วม ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสอดประสานระหว่างกรอบ MLC กับกรอบ ACMECS นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และสถานการณ์ในเมียนมา โดยฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายจีนที่สนับสนุนบทบาทและความพยายามของอาเซียนในการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ประการ ซึ่งที่ประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ ได้เห็นชอบร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายยืนยันการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม และจะพิจารณาสนับสนุนผู้สมัครของกันและกันในเวทีคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ILC) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) และคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO Council) ในโอกาสนี้ ฝ่ายจีนสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (APEC) ของฝ่ายไทยในปี ๒๕๖๕ ขณะที่ฝ่ายไทยหวังจะได้มีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมการประชุมผู้นำ APEC

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ