คำปราศรัย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม 2567

คำปราศรัย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ต.ค. 2567

| 10,100 view

คำปราศรัย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติ

24 ตุลาคม 2567

 

ึงพี่น้องชาวไทยทุกคน

ดิฉัน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีค่ะ

 

ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มี ‘คน’ ที่มีศักยภาพ  เรียกว่าเป็นประเทศแห่งโอกาส และรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาไปกว่านี้อีกมาก ซึ่งต้องใช้พลังของพวกเราทุกภาคส่วน ในการทำงานขับเคลื่อนประเทศค่ะ

 

แต่ในความงดงาม เราทราบดีค่ะว่า ยังมีสิ่งที่รัฐบาลต้องทำงานอีกมากเพื่อเร่งแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในทุกมิติ

 

ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ คือเหตุผลที่สหประชาชาติหรือ UN มีบทบาทสำคัญที่อย่างยิ่งที่จะเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านี้

 

ในวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง (2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทอันแข็งขันมาตลอด

 

ในการคงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของโลก  ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันความขัดแย้ง ด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ในเรื่องนี้ ดิฉันขอขอบคุณเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยและความกล้าหาญของพวกท่านที่ไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย แต่ยังได้มอบความหวังของโลกที่มีสันติภาพให้กับพวกเราและคนรุ่นต่อไป

 

ในการรักษาโลกที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล  ประเทศไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

 

ในการสร้างโลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน  ดิฉันยินดีและภาคภูมิใจอย่างมากที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น

สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสำหรับปี 2568 – 2570 และขอให้คำมั่นว่า จะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และจะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน  ระดับโลกซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของประเทศไทยที่ชัดเจน โดยเมื่อเราก้าวไปข้างหน้าเราจะต้องพยายาม  ไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

นอกจากนี้ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ประเทศไทยในฐานะ  ศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาคของเรา โดยเป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UNESCAP ดิฉันขอให้พวกเราเป็นเจ้าภาพที่ดีและสนับสนุนการดำเนินงานของ UN ในประเทศไทยและในภูมิภาค เพื่อให้ UN สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประเทศไทยยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราต้องทำให้คำมั่นเพื่ออนาคต หรือ Pact for the Future เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดิฉันเชื่อว่า ความมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกของเราดีขึ้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ดิฉันขอย้ำว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคนในวันนี้ เยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณค่ะ

*****

ผู้สนใจสามารถกดเข้าฟังไฟล์เสียงได้ผ่านลิงก์นี้:
https://www.youtube.com/watch?v=yg-ZP296tUk

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ