สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันศุกร์ที่ ๒๗ ต.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การเยือน สปป. ลาว อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (๓๐ ต.ค. ๖๖)
- นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๓๐ ต.ค. ๒๕๖๖ ตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว โดย รนรม./รมว.กต. จะร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย
- การเยือนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสานต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดรวมทั้งเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไทยกับ สปป. ลาว
- ในระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว รวมทั้งจะได้เข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว และเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และพบหารือกับนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว
- นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานร่วมกับนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ในพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คําสะหวาด) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.)
- ในส่วนของ รนรม./รมว.กต. มีกำหนดพบหารือกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เพื่อติดตามประเด็นทวิภาคีและภูมิภาคในช่วงเช้าที่ นรม. ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้ โดยเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงรวมถึงการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปีหน้า
- ในช่วงบ่าย รนรม./รมว.กต. มีกำหนดไปเยี่ยมชมเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางรางจากไทยไปยังจีน และพบกับนักธุรกิจไทยที่ลงทุนใน สปป. ลาว เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ สปป. ลาว
๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ
- ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ ต.ค. ๒๕๖๖ รนรม./รมว.กต. ได้เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.กต. เวียดนาม ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนามในปีนี้ และเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ รนรม./รมว.กต.
- เมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค. ๒๕๖๖ รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
- (๑) การเข้าเยี่ยมคารวะนายฝ่าม มิงห์ จ๋ิงห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เพื่อหารือเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ความร่วมมือในกรอบภูมิภาค โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และกรอบความร่วมมืออาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามยังได้เชิญนายกรัฐมนตรีไทยเยือน และเสนอจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามในปี ๒๕๖๗
- (๒) การพบหารือกับนายเล หว่าย จุง ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพื่อหารือความเป็นหุ้้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยประธานสภาแห่งชาติของเวียดนามจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้
- (๓) การพบหารือผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม ซึ่งภาคเอกชนได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดเวียดนาม และ รนรม./รมว.กต. ได้ขอให้ฝ่ายเวียดนามช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทย ซึ่งฝ่ายเวียดนามได้ตอบรับบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
- (๔) การเข้าร่วมงานเปิดตัวการกลับมาให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย และกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ ของสายการบินไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ต.ค. ๒๕๖๖
- เมื่อวันที่ ๒๖ ต.ค. ๒๕๖๖ รนรม./รมว.กต. ได้พบหารือกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.กต. เวียดนาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเตรียมการสำหรับการยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน) การจัดเตรียมการเยือนเวียดนามของ นรม. และการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามในปี ๒๕๖๗ การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในระดับ ปชช. การเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดกับจังหวัด รวมทั้งการเสริมสร้างความเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบกและทางชายฝั่งทะเลในภูมิภาค ในโอกาสนี้ รนรม./รมว.กต. ได้เชิญ รมว.กต. เวียดนาม เยือนไทยอย่างเป็นทางการต่อไปด้วย
- ฝ่ายเวียดนามยังได้แสดงความเสียใจต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ในอิสราเอลต่อแรงงานไทย
๓. การประชุม OECD Southeast Asia Ministerial Forum 2023 ที่กรุงฮานอย
- เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม OECD Southeast Asia Ministerial Forum ๒๐๒๓ ที่กรุงฮานอย และได้เป็นผู้นำการหารือในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนของโลก: ศักยภาพใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
- นอกจากนี้ ในห้วงการประชุมฯ ยังได้พบหารือกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง OECD กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต
- OECD มีสมาชิก ๓๘ ประเทศ และมีประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือกับ OECD ภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ ๒ เน้นด้านการประกอบธุรกิจ การลงทุน การส่งเสริมความยั่งยืน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล นโยบายการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านนโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
- ไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอนาคต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
๔. สถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและความคืบหน้าภารกิจอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล (สถานะข้อมูล ๒๖ ต.ค. ๖๖)
- กต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุมประสานงานศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉิน (RRC) ทุกวัน โดย รมช.กต. เป็นประธาน และในวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมออนไลน์เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่ศูนย์พักพิงด้วย
- สถานการณ์การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป ในบริเวณฉนวนกาซา ชายแดนเลบานอน และ Westbank
- สถานการณ์คนไทยในอิสราเอล
- เสียชีวิต - ในชั้นนี้มีแรงงานไทยเสียชีวิต ๓๓ ราย
- ผู้บาดเจ็บ - ๑๘ ราย โดยยังอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล ๕ ราย
- ผู้ถูกควบคุมตัว - จำนวน ๑๘ ราย อย่างไรก็ดี ตามที่เมื่อวานนี้ (๒๖ ต.ค.) มีกระแสข่าวจากสื่อต่างประเทศอ้างแหล่งข้อมูลจากทางการอิสราเอลว่า มีผู้ถูกจับคนไทยทั้งหมด ๕๔ ราย นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางการอิสราเอลปฏิเสธตัวเลขดังกล่าวและแจ้งยืนยันว่ามีคนไทยถูกจับกุมทั้งสิ้น ๑๘ คน ดังเดิม
- การดำเนินการของทางการไทย
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ส่งร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตกลับสู่ประเทศไทยแล้ว ๒ ครั้ง รวม ๑๕ ราย
- เที่ยวบินอพยพคนไทยจนถึงเมื่อเช้าวันที่ ๒๗ ต.ค. ๒๕๖๖ รวมแล้ว ๒๓ เที่ยวบิน และมีผู้ได้รับการช่วยเหลือผ่านสถานทูตแล้วจำนวน ๔,๗๗๑ คน โดยผู้เดินทางกลับไทยเองด้วยสายการบินพาณิชย์สามารถแสดงหลักฐานได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายชดเชยต่อไป
- สำหรับการช่วยเหลือนักศึกษาไทยในอิสราเอลที่เดินทางไปศึกษาที่สถาบัน Arava International Center for Agriculture Training (AICAT) มี นศ. ที่ได้เดินทางกลับแล้ว ๔๐ คน และอีกจำนวน ๗๕ คน ไม่ประสงค์เดินทางกลับ
- ไทยเป็นชาติที่ดำเนินการอพยพมากที่สุด มีเที่ยวบินต่อเนื่องทุกวัน และทางการไทยขอให้พี่น้องแรงงานไทยในพื้นที่พิจารณาเดินทางกลับประเทศไทยโดยคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน
๕. การช่วยเหลือคนไทยที่ถูกล่อลวงไปทำงานที่เมืองเล้าก์ก่าย เมียนมา
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของฝ่ายเมียนมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
- สถานการณ์คนไทย
- คนไทยที่ถูกล่อลวงในเมืองเล้าก์ก่ายจำนวน ๒๑๙ คน
- คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและอยู่ในความดูแลของฝ่ายเมียนมาจำนวน ๑๕๓ คน ประกอบด้วย
- ดูแลที่ค่ายทหาร ๑๒๐ คน
- อยู่ที่โรงแรม ๒๒ คน เพื่อรอทางการเมียนมามารับ
- อยู่ที่สถานีตำรวจ ๑๑ คน
- ยังไม่ทราบสถานะแน่ชัดอีก ๗๑ คน
- สอท.ฯ มีข้อมูลว่ายังมีคนไทยที่ถูกล่อลวงอยู่ที่เมืองเพียน (Hpyan) ซึ่งไม่ไกลจากเมืองเล้าก์ก่าย อีก ๑๐๗ คน
- ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่าย มม. ได้ช่วยเหลือชาวต่างชาติหลายสัญชาติออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการและเป็นไปตามกฎหมายของทางการ มม.
- ปัจจุบัน เมืองเล้าก์ก่ายเป็นเขตปกครองตนเองที่มีสถานการณ์พิเศษ มีการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องและเป็นเขตที่ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าพื้นที่ การให้ความช่วยเหลือจึงค่อนข้างยากลำบาก อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานงานกับทางการเมียนมาอยู่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
- สอท.ฯ และ กรมการกงสุล ได้จัดทำสื่อ ปชส. เตือนคนไทยอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ไปทำงานประเภทให้บริการรูปแบบต่าง ๆ ในเมืองเล้าก์ก่าย เมืองป๊อก เมืองลา มูเซ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ลึกในดินแดน มม. รวมถึงโดนบีบบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย อาทิ call center
- ช่องทางติดต่อ
- สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง
- หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน +๙๕ ๙๘๘๐๙๑๖๗๙๕ และ +๙๕ ๙๗๙๗๐๐๒๘๐๑
- กรมการกงสุล หมายเลข ๐๒ ๕๗๕ ๑๐๑๙ / ๐๒ ๕๗๕ ๑๐๕๑ / ๐๒ ๕๗๕ ๑๐๔๗-๔๙
รับชมย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/nWXWklggt0/?mibextid=qC1gEa
* * * * *
กองการสื่อมวลชน
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๖