สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ม.ค. 2567

| 4,139 view

๑. การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลของประธานาธิบดีเยอรมนี (๒๔-๒๖ มกราคม ๒๕๖๗)

  • เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ นายกรัฐมนตรีได้ให้การต้อนรับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยาที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่
    ๒๔-๒๖ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดีจากเยอรมนีในรอบ ๒๒ ปี (ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕)
  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจหมุนเวียน เซมิคอนดักเตอร์ ระบบราง และอาชีวศึกษา รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหวังจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ในอนาคตทั้งนี้ ในการแถลงข่าวร่วมกัน ฝ่ายเยอรมันให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสีเขียว (green transition) และยังได้กล่าวว่าไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่ง (exciting) สำหรับนักลงทุนเยอรมัน
  • ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ม.ล. ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้นำหน่วยงานภาคธุรกิจของไทยเข้าร่วมการหารือกับภาคเอกชนเยอรมนีที่เดินทางมาพร้อมคณะด้วย ซึ่งนำโดยนายมิชาเอล เคลเนอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจ พร้อมแนวทางการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ทั้งนี้ ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายประกอบด้วย ๕ สาขา ได้แก่ (๑) นิทรรศการ/งานแสดงสินค้านานาชาติ (๒) ไฟฟ้า/ยานยนต์ (๓) พลังงานหมุนเวียน/สิ่งแวดล้อม (๔) บริการ/ดิจิทัล/การศึกษา และ (๕) การก่อสร้าง/โครงสร้างพื้นฐาน
  • ในโอกาสการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยาได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่จังหวัดสมุทรปราการ และเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก รวมถึงโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย ตลอดจนเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติ ผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติยอดนิยม ทั้งนี้ หน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้องจะขยายผลการเยือนในมิติต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวและการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป

    ๒. สรุปภารกิจรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วง World Economic Forum Annual Meeting ๒๐๒๔ (WEF2024) ที่เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส (๑๖-๑๘ มกราคม ๒๕๖๗)
  • เมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมรวมกว่า ๒,๘๐๐ คน เป็นผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลกว่า ๑๐๐ ประเทศ และเป็นระดับประมุข/ผู้นำรัฐบาลมากกว่า ๕๐ ประเทศ
  • รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้หารือทวิภาคีกับ (๑) ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เพื่อขอบคุณสำหรับการประสานการช่วยเหลือตัวประกันไทยในอิสราเอล และ (๒) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อหารือในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน และย้ำความสนใจของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อไป
  • นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในกรอบ WEF รวม ๔ รายการ ได้แก่

(๑) การหารือ Diplomacy Dialogue on Myanmar เป็นการหารือเชิงวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยย้ำบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาและการขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงรุกและสร้างสรรค์เพื่อมุ่งสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ถ้อยแถลงนี้แก่สื่อมวลชนด้วยแล้ว

(๒) การเสวนา National Action to Advance the Circularity of Plastics ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการใช้พลาสติกหมุนเวียน 

(๓) การเสวนา Roundtable on Trade, Climate, and Finance ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการใช้นโยบายการค้าและการคลังในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(๔) การเสวนา Informal Gathering of World Economic Leaders (IGWEL) Roundtable: Preventing Economic Fracture ร่วมกับผู้นำ รัฐมนตรี รวมถึงผู้นำองค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

  • รองนายกรัฐมนตรีฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้ร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำภาครัฐ
    และองค์การระหว่างประเทศด้วย ได้แก่ (๑) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (๒) ประธานาธิบดีสหพันธรัฐสวิส
    (๓) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม (ประธานสหภาพยุโรป มกราคม – มิถุนายน ๒๕๖๗) (๔) นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
    (๕) นาย Tony Blaire ประธาน Tony Blair Institute for Global Change และ (๖) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF 
  • WEF เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๕ มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำทั่วโลกจากหลากหลายสาขากว่า ๑,๐๐๐ บริษัท รวมถึงบริษัทไทย ๑๐ บริษัท ได้แก่ ปตท. CP Group ไทยเบฟฯ ปูนซีเมนต์ไทย Indorama บางจาก ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย SCB X และ Bitkub โดยมีการประชุมประจำปีเป็นที่รู้จักจากการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหารือระหว่างผู้นำจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ เอกชน และภาคประชาสังคม ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดและตรงไปตรงมา

    ๓.สรุปภารกิจการเดินทางร่วมประชุม NAM Summit ครั้งที่ ๑๙ ที่กรุงกัมปาลา ยูกันดา และการเยือนแอฟริกาใต้ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มกราคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ครั้ง ๑๙ ที่กรุงกัมปาลา ยูกันดา โดยได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ NAM พร้อมได้ขอรับการสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (HRC) ของไทย วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ด้วย ในโอกาสนี้ ยังได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยย้ำว่า ไทยเรียกร้องให้มีการหาทางออกโดยสันติและการหยุดยิงอย่างถาวร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที ขณะที่ในประเด็นสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนการทำงานของ สปป.ลาวในฐานะประธานของอาเซียน เพื่อหาทางออกอย่างสันติต่อสถานการณ์ในเมียนมา และแจ้งด้วยว่า ไทยอยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายเมียนมาเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
  • ระหว่างการเยือน รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดียูกันดา รวมทั้งหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเลโซโท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเบนินด้วย
  • หลังจากนั้น เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ได้เดินทางเยือนแอฟริกาใต้ และได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือแอฟริกาใต้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการแข่งขันแอฟริกาใต้ รวมถึงภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าไทยในแอฟริกาใต้ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและผลักดันความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งขอรับการสนับสนุนต่อข้อริเริ่มของไทยในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทยสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) และต่อการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของไทย วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ด้วย
  • การเดินทางเยือนในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือกับภูมิภาคแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง

    ๔. การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (๒๖-๒๙ มกราคม ๒๕๖๗)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนจะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ มกราคม ๒๕๖๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การค้า การลงทุน ความมั่นคง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
  • กำหนดการสำคัญ ได้แก่ (๑) การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี(๒) การเป็นประธานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมกลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย - จีน ครั้งที่ ๑ และ (๓) การลงนามร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีฯ ในความตกลงระหว่างรัฐบาล
    แห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ โดยความตกลงดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย

    ๕. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

        ๕.๑ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers (AMM) Retreat)ที่นครหลวงพระบาง สปป. ลาว (๒๘-๒๙ มกราคม 
        ๒๕๖๗)

  • การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว โดย สปป.ลาว จะแจ้งประเด็นสำคัญที่จะผลักดันในการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๗ ภายใต้แนวคิดหลัก “ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience” และเป็นโอกาสให้ทุกประเทศหารือเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินการของอาเซียนตลอดปี ๒๕๖๗ รวมทั้งหารือประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน อาทิ ASEAN Vision 2045 สถานการณ์ในเมียนมาและบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีท่าทีร่วมกันกับ สปป. ลาว ในหลายประเด็น จะสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานของ สปป.ลาว รวมทั้งผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยและอยู่ในความสนใจร่วมกันอย่างเต็มที่

        ๕.๒ การประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum – IPMF) ครั้งที่ ๓  และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู)
        (ASEAN-EU Ministerial Meeting – AEMM) ครั้งที่ ๒๔ ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม (๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗)

  • จะเป็นโอกาสในการหารือและพิจารณาทิศทางการดำเนินความร่วมมือของไทยและอาเซียนกับอียู ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อรับมือกับความท้าทาย ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน
  • การประชุม IPMF ครั้งที่ ๓ จะเป็นเวทีการหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอียู ๒๗ ประเทศ และรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในอินโด-แปซิฟิก อาทิ IORA และ PIF ซึ่งคาดว่าจะมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า ๘๐ ประเทศ/องค์กร
  • การประชุม AEMM ครั้งที่ ๒๔ เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิกอียูทั้ง ๒๗ ประเทศ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๒ ปี เพื่อหารือและติดตามการดำเนินความสัมพันธ์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับอียูในทุกมิติ ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์อาเซียน-อียูเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

    ๖. การเตือนข่าวปลอมของกรมการกงสุล การแอบอ้างสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
  • การเตือนข่าวปลอม ในช่วงที่ผ่านมา กรมการกงสุลได้ประกาศเตือนระวังเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นเว็บกรมฯ ขอให้ประชาชนไม่หลงเชื่อคนที่ชักชวนให้ลงทะเบียนทำพาสปอร์ต ขอแอดไลน์ หรือเก็บ biometrics และขอให้ทุกท่านเช็คว่า เป็นเว็บไซต์กรมการกงสุลที่ลงท้ายด้วย .th เท่านั้น (www.consular.go.th) อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพปลอมแปลง Facebook และ application ของกรมการกงสุลที่หลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปทำธุรกรรมในทางทุจริต
  • การแอบอ้างสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีขบวนการ call center โทรติดต่อคนไทยในออสเตรเลียจำนวนมากเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เสมือนของสถานกงสุลใหญ่ฯ และหมายเลขโทรศัพท์เดิมของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมลเบิร์น ที่ปัจจุบันปิดทำการแล้ว โดยมี ๒ ลักษณะ คือ (๑) ติดต่อให้รับพัสดุโดยโอนสายไปยังบุคคลที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ และขอข้อมูลส่วนบุคคล และ (๒) แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ แจ้งว่าพบการกระทำผิดต่าง ๆ และหลอกล่อให้ยืนยันตัวตนโดยแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้แจ้งเหตุเตือนภัยผ่านทาง Facebook และ LINE Official ให้ชุมชนไทยทราบแล้ว อีกทั้งได้แจ้งความกับ SCAM Watch ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจในการรับแจ้งเหตุและช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ด้วยแล้ว
  • การแอบอ้างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ในช่วงที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประกาศเตือนให้ระวังโทรศัพท์จากมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ พูดภาษาไทยและใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่แสดงหมายเลขหรือเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ปลอมแปลงมา เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปทำธุรกิรรมในทางทุจริต หรือหลอกให้โอนเงิน โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้แจ้งความกับตำรวจญี่ปุ่นในท้องที่ที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก และขอรับคำแนะนำเพิ่มเติม รวมถึงแจ้งเบาะแสกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๙๐-๔๔๓๕-๗๘๑๒

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ