วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ธ.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ รายละเอียด ดังนี้
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางลงพื้นที่ในการกำกับในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและเขตตรวจราชการที่ ๑๒ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะ กำหนดเดินทางเยือนจังหวัดขอนแก่น ในภารกิจกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและเขตตรวจราชการที่ ๑๒ ครอบคลุม ๔ จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยมีกำหนดการสำคัญ ได้แก่
- ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อติดตามงานนโยบายของรัฐบาล และมอบหมายนโยบายในการกำกับการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค ซึ่งประเด็นหลักในการหารือ ได้แก่ การดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรม การดำเนินการของปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ การเตรียมแผนรับมือภัยแล้งและอุทกภัย ราคาเกษตรตกต่ำ การบริหารจัดการขยะ น้ำเสียและ ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น
- หารือร่วมกับภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- ตรวจเยี่ยมโครงการและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจังหวัดขอนแก่น และภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ (๑) โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และศูนย์ SCOPC : Smart City Operation Center ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (๒) โครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ โครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ และ Railway Innopolis (TRAM) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ (๓) บ้านปราชญ์ด้านการปลูกผักอินทรีย์
- เยี่ยมชมและทำกิจกรรมโรงเรียนยุวทูตความดี ณ โรงเรียนสนามบิน ขอนแก่น
๒. การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒๐ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓
นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association - IORA) ครั้งที่ ๒๐ และการประชุมที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ ระหว่าง ๑๓.๐๐ - ๑๙.๓๐ น. ซึ่งการประชุมสภารัฐมนตรี IORA จัดขึ้นทุกปี ปีละ ๑ ครั้ง
IORA ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๘ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และสนับสนุนการพัฒนาในภูมิภาค ปัจจุบันมีสมาชิก ๒๒ ประเทศ และมีหุ้นส่วน คู่เจรจา (Dialogue Partner) ๑๐ ประเทศ ไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งและเป็นประเทศร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือ ๓ สาขา ได้แก่ (๑) การประมง (๒) เศรษฐกิจภาคทะเล และ (๓) การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี
ในการประชุมในครั้งนี้ ไทยจะร่วมผลักดันประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) ความร่วมมือในสาขาการทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะครอบคลุมการทำประมงอย่างยั่งยืนอย่างครบวงจร (๒) การสนับสนุนแนวคิดการสร้างความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างรอบด้าน เชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลอย่างยั่งยืน ตลอดจนการนำเสนอศักยภาพของไทย โดยเฉพาะท่าเรือระนอง และการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมกับโครงการคมนาคมในลุ่มน้ำโขง ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจีน
IORA มีประเทศสมาชิก ๒๒ ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน มอริเชียส อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย มัลดีฟส์ โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน บังกลาเทศ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เซเชลส์ โคโมรอส โซมาเลีย และไทย
๓. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศในสถานการณ์โควิด-๑๙ และการอำนวยความสะดวกชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทย
นับตั้งแต่มีมาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๓ จนถึงปัจจุบัน (สถานะ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้อำนวยความสะดวกนำคนไทยเดินทางกลับประเทศไทย แล้วทั้งสิ้น ๑๔๐,๔๒๙ คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ได้รายงานไปแล้ว ๕,๖๓๐ คน แบ่งเป็น ทางบก ๒๙,๖๙๓ คน ทางอากาศ ๑๐๘,๖๔๙ คน ทางน้ำ ๒,๐๘๗ คน ในจำนวนคนไทยเดินทางกลับทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ มาจาก ๖๗ ประเทศ สะสมทั้งหมด ๙๙๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๗๐ ของผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งหมด
กระทรวงฯ ได้สำรวจจำนวนคนไทยแสดงความประสงค์ที่จะกลับไทยในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ เพื่อประโยชน์ในการเตรียมมาตรการในการรองรับ มีคนไทยประสงค์กลับจำนวน ๓๓,๒๖๙ คน แบ่งเป็นทางบก ๑,๗๓๒ คน และทางอากาศ ๓๑,๓๑๗ คน กระทรวงฯ ได้ออก COE สำหรับชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น ๕๑,๔๒๔ คน (สถานะ ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓) มีผู้ลงทะเบียนในระบบ COE ออนไลน์กลางแล้วทั้งสิ้น ๕๒,๓๕๙ คน เพิ่มจากการรายงานครั้งก่อน ๑๐,๔๔๙ คน แบ่งเป็นคนไทย ๓๓,๒๗๓ คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน และคนต่างชาติ ๑๙,๐๘๖ คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กพท. อนุญาตให้สายการบินต่าง ๆ สามารถให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ (semi-commercial flight) เพื่ออำนวยความสะดวกคนไทยและคนต่างชาติให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย ปัจจุบัน มีสายการบินที่พร้อมดำเนินการ/ดำเนินการให้บริการแล้ว จำนวน ๔๔ สายการบิน
ความพร้อมด้านสถานที่กักกันโรค (Quarantine Facilities) ปัจจุบันมีสถานที่สำหรับกักกันโรคเพื่อรองรับคนไทยและคนต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สถานะเมื่อวาน (๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓) ดังนี้
๑. SQ (สำหรับคนไทย) จำนวน ๒๗ แห่ง ขณะนี้มีจำนวนห้องว่าง ๒,๔๒๙ ห้อง
๒. ASQ จำนวน ๑๒๑ แห่ง รวม ๑๕,๕๕๐ ห้อง
๓. ALQ จำนวน ๔๖ แห่ง รวม ๔,๖๘๓ ห้อง (ชลบุรี ๑๓ แห่ง ภูเก็ต ๒๑ แห่ง บุรีรัมย์ ๑ แห่ง ปราจีนบุรี ๑ แห่งสุราษฏร์ธานี ๗ แห่ง มุกดาหาร ๑ แห่ง เชียงใหม่ ๑ แห่ง พังงา ๑ แห่ง ๔. AHQ (สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก) ๑๒๘ แห่ง
ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจากกัมพูชา ผ่านด่านอรัญประเทศ สามารถใช้บริการ ALQ ที่ตั้งอยู่ใน จ.ปราจีนบุรี ได้
ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจาก สปป.ลาว ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพ ๒ (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) สามารถใช้บริการ ALQ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดมุกดาหารได้ ส่วนผู้เดินทางมายังท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถใช้บริการ ALQ ในจังหวัดภูเก็ต
๔. ความคืบหน้าของโครงการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจให้ภาคเอกชนไทยในการเป็นคู่ค้ากับสหประชาชาติ
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับ UNESCAP จัดโครงการส่งเสริมลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจกับสหประชาชาติ เพื่อสร้างช่องทางให้กับภาคเอกชนไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการขยายตลาดสินค้าและบริการกับหน่วยงานของสหประชาชาติ
กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในห้วงเวลา ๕ เดือนที่ผ่านมา สามารถผลักดันให้บริษัทไทยจำนวน ๓๙ บริษัท ลงทะเบียนในระบบจัดซื้อจัดจ้างของสหประชาชาติ (United Nations Global Marketplace : UNGM)
จากสถิติการลงทะเบียน UNGM ของภาคเอกชนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการทำธุรกิจกับสหประชาชาติ โดยล่าสุด บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ลงทะเบียนในระบบดังกล่าว ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญให้บริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติทั่วโลกต่อไป รวมทั้งจะช่วยสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนไทยกับสหประชาชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องในการขยายตลาดสินค้าและบริการกับหน่วยงานของสหประชาชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างไทยกับสหประชาชาติ กระตุ้นภาคการผลิตและการส่งออก ส่งเสริมการจ้างงาน และกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยสหประชาชาติพร้อมเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ภาคธุรกิจไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อย และยินดีเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วนของไทย ตามหลักให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs
โครงการดังกล่าวได้ช่วยชูบทบาทการเป็นประเทศเจ้าบ้านที่สร้างสรรค์และแข็งขันของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของ UNESCAP โดยเฉพาะการเจรจาร่างข้อมติการจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร UNESCAP ในคณะกรรมการ ๕ ของ การประชุมสมัชชาสหประชาขาติ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศจะร่วมกับ UNESCAP จัดกิจกรรมต่อยอดในรูปแบบที่น่าสนใจในปี ๒๕๖๔ ต่อไป
๕. กิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - กัมพูชา และไทย - สปป. ลาว
ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ จะเป็นวันครบรอบ ๗๐ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – กัมพูชา และไทย – สปป.ลาว โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาและ สปป. ลาว จัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าวและเพื่อสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับทั้งสองประเทศ
สำหรับ สปป. ลาว เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญดังกล่าว รัฐบาลไทยได้มอบอุปกรณ์การแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ กับรัฐบาล สปป. ลาว ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือ อาทิ การจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “รถไฟลาว-จีน:โอกาสและความท้าทาย”
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ ได้จัดงานเสวนาวิชาการ “๗๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว: ก้าวสู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมี นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ นายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประจำประเทศไทย และนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ นายกสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ ได้ร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ การเสวนาครั้งนี้ เน้นการส่งเสริมด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้กรณีศึกษาของ (๑) ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซ้อน - ห้วยซั้ว (หลัก ๒๒) ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ (๒) โรงพยาบาลโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของ สปป. ลาว นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดตัวตราสัญลักษณ์ครบรอบ ๗๐ ปีความสัมพันธ์ฯ อย่างเป็นทางการอีกด้วย
สำหรับกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองการครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และงานสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชา ทั้งนี้ ได้เชิญชวนให้ประชาชนทั้งสองประเทศส่งผลงานภาพถ่ายมาประกวดเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๗๐ ปีอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังจะมีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดี โดยในส่วนของไทย – กัมพูชา นายกรัฐมนตรีจะแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีกับ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และในส่วนของไทยกับ สปป. ลาว จะมีการแลกเปลี่ยนสารแสดงความยินดีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว
๖. การหารือทางไกลเพื่อให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่เมียนมา
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดการให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่บุคลากรทางการแพทย์ของเมียนมา ครั้งที่ ๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี ศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับ พญ. นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญหลักของฝ่ายไทย ในการให้องค์ความรู้ และมีบุคลากรทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์จากเมียนมา โรงพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงย่างกุ้ง และโรงพยาบาลระดับเมืองจากทุกรัฐ กว่า ๘๐ คน เข้าร่วม
ประเด็นที่แลกเปลี่ยน อาทิ ออกซิเจนกับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ และหลักการใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ ที่มีอาการซับซ้อนและแนวทางในการรักษาของ รพ. ศิริราช
ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่าประสงค์ที่จะรับทราบพัฒนาการของไทยเกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิด-๑๙ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศจะจัดเป็นหัวข้อกิจกรรม ครั้งที่ ๔ ต่อไปในเดือนมกราคม ๒๕๖๔
การหารือทางไกลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปรึกษาทางการแพทย์แก่เมียนมา เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างความพร้อมและการรับมือกับโรคโควิด-๑๙ ก่อนหน้านี้เคยจัดมาแล้ว ๒ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องหลักการในการพัฒนาแนวเวชปฏิบัติ (Clinical Practice Guideline - CPG) ของไทย รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา Favipiravir ที่รัฐบาลไทยได้สนับสนุนแก่เมียนมา มีผู้เข้าร่วมฝ่ายเมียนมา ๓๐ คน ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีประเด็นหลักคือการรักษาผู้ป่วยวิกฤตและการติดเชื้อในปอด มีผู้เข้าร่วมฝ่ายเมียนมา ๕๐ คน
๗. ประเด็นประชาสัมพันธ์ รายการ ‘คุยรอบโลกกับโฆษก กต.
ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและผู้สนใจติดตามรายการ ‘คุยรอบโลกกับโฆษก กต.’ หรือ ‘Spokesperson Live’ ในเรื่อง ‘เปิดประสบการณ์ไลฟ์โค้ชกับ startup การศึกษาข้ามทวีปเพื่อคนรุ่นใหม่’ ในวันศุกร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ Saranrom Radio และกระทรวงการต่างประเทศ
ครั้งนี้ ได้เชิญคุณแดนนี่ หวังและคุณฮอนด้า เพชรภรณ์ เชิงวิวัฒน์กิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท Point Avenue ไลฟ์โค้ชด้านการศึกษาสำหรับเยาวชน ทั้งในไทย เวียดนาม จีน และเกาหลีใต้ มาร่วมสัมภาษณ์ ทั้งสองท่านเป็นนักธุรกิจและinfluencer รุ่นใหม่ไฟแรง เจ้าของบริษัท “Point Avenue”ซึ่งเป็น start-up ด้านการศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวียดนามและเพิ่งได้มาเปิดสาขาใหม่ในไทย คุณฮอนด้า เพชรภรณ์ เชิงวิวัฒน์กิจ เป็นนักธุรกิจและinfluencer ชาวไทย ซึ่งนอกจากจะเป็น นักธุรกิจแล้ว ยังเป็นนักกีฬาไตรกีฬา ด้านคุณแดนนี่ หวัง เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ และได้ผันตัวเองจากทหารผ่านศึกเข้าสู่แวดวงธุรกิจด้านการศึกษาและการลงทุน
๘. ประเด็นถาม – ตอบ
๘.๑ มาตรการการขยายให้คนต่างชาตินอกเหนือจากประเทศที่มีกลุ่มเสี่ยงต่ำจากโรคโควิด-๑๙ เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น มีจำนวนผู้ที่ขอเดินทางเข้าประเทศเข้ามากขึ้นหรือไม่
อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าเหตุผลหนึ่งที่คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นคือมาตรการที่รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น เช่น การเปิดให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ สามารถพำนักได้ประเทศไทยนานยิ่งขึ้น มีการเพิ่มสายการบินในลักษณะ semi-commercial โดยกรมการกงสุลและ กพท. ได้เจรจากับสายการบิน ทำให้มีสายการบินเพิ่มมากขึ้นกว่า ๔๐ สายการบิน อย่างไรก็ดี มาตรการทางสาธารณสุขยังคงมีความเข้มงวด การกักตัว การขอรับ COE ยังคงมีเช่นเดิม ส่วนการเดินทางเป็นการเดินทางเข้าส่วนบุคคล เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่มีอยู่แล้ว
๘.๒ ท่าทีกระทรวงการต่างประเทศต่อกรณีวุฒิสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาการออกข้อมติเกี่ยวข้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย
อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงฯ รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้ดำเนินการทุกวิถีทางในการเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเพื่อสื่อสารแจ้งท่าทีของรัฐบาลไทยต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว นอกจากนี้ได้ใช้ทุกช่องทางที่จะสื่อสารให้ประชาคมระหว่างประเทศ และมิตรประเทศของเรา รวมถึงสหรัฐฯ แจ้งท่าทีและเพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงของการชุมนุมในไทย ขณะนี้ ข้อมติที่เกี่ยวกับไทยยังเป็นเพียงร่างรอการประชุมวาระของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ และวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ จะเป็นวันประชุมวันสุดท้ายในปีนี้ของรัฐสภาสหรัฐฯ หากร่างข้อมติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา ก็จะถือว่าตกไปแต่สามารถเสนอใหม่ในการประชุมสมัยหน้า
หลักการร่างข้อมติดังกล่าวสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การชุมนุมที่เกิดขึ้นในไทย รัฐบาลได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการ มาโดยตลอด เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยพกพาอาวุธ มีเพียงหมวก โล่ และกระบอง บางครั้งตำรวจก็ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายได้รับบาดเจ็บ การฉีดน้ำที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างเมื่อครั้งที่ผู้ชุมนุมพยายามจะบุกเข้าไปเขตหวงห้าม เช่น อาคารรัฐสภา เป็นต้น แต่ตำรวจก็มีการดำเนินการตามขั้นตอนและมีการเตือนก่อนฉีดน้ำหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายไทย และทำตามหลักสากลอย่างเต็มที่ และขอย้ำว่ากระทรวงการต่างประเทศและผู้บริหารกระทรวงฯ ได้ใช้ทุกช่องทางในการชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อฝ่ายสหรัฐฯ โดยเฉพาะวุฒิสภา และรัฐบาลสหรัฐฯ
สามารถรับชมย้อนหลังได้ โดยคลิกที่นี่>>>
*****************
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **