สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพุธที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 มี.ค. 2566

| 7,853 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๑๕ มี.ค. ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ
และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. ภารกิจการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศของกรมการกงสุล (ร่วมกับ นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล)

๑.๑ ภาพรวมของภารกิจการคุ้มครองคนไทยและดูแลผลประโยชน์คนไทยใน ตปท. กรมการกงสุล

  • ผอ. กองคุ้มครองฯ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศมีภารกิจในการคุ้มครองและช่วยเหลือคนไทยที่เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ อาทิ หนังสือเดินทาง/ทรัพย์สินสูญหาย การเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง การเสียชีวิต การถูกจับกุมหรือจำคุก นอกจากนี้ มีภารกิจพิเศษโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอพยพคนไทยกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งภารกิจในการช่วยเหลือแรงงานไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานประมงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์

    ๑.๒ สถิติการให้ความช่วยเหลือคนไทยใน ตปท.

  • ผอ. กองคุ้มครองฯ ในปี ๒๕๖๕ กต. โดย สอท./สกญ. ไทยในต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยทั้งสิ้น ๗๑,๘๓๑ ราย อันดับที่ ๑ เป็นเรื่องตกทุกข์ได้ยากทั่วไป เช่น หนังสือเดินทางสูญหาย อันดับที่ ๒ แรงงาน อันดับที่ ๓ การเข้าเยี่ยมนักโทษไทย อันดับที่ ๔ การติดตามหาญาติ อันดับที่ ๕ ผู้ที่เข้าข่ายเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ (จำนวน ๑,๔๑๓ คน)

    ๑.๓ การดำเนินการของ สอท./ สกญ. ในกรณีคนไทยเสียชีวิตใน ตปท.

  • ผอ. กองคุ้มครองฯ แบ่งเป็น ๒ กรณี ได้แก่ (๑) กรณี สอท. /สกญ. ได้รับแจ้งจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง (๒) กรณี สอท./ สกญ. ได้รับแจ้งจากญาติของผู้เสียชีวิต หาก สอท. ได้รับแจ้งจากหน่วยงานท้องถิ่น สอท./สกญ. จะติดต่อเพื่อแจ้งญาติของผู้ที่เสียชีวิตทราบ โดยจะแนะนำให้ญาติมอบอำนาจให้กับ สอท. / สกญ. เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับศพของผู้ที่เสียชีวิต อาทิ การฌาปนกิจศพในต่างประเทศและนำส่งอัฐิกลับไทย โดยการฌาปนกิจศพในต่างประเทศและส่งอัฐิกลับมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งศพกลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในไทยเป็นอย่างมาก โดยญาติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และ สอท./ สกญ. จะช่วยอำนวยความสะดวก กรณีเป็นแรงงานถูกกฎหมาย อาจได้รับเงินช่วยเหลือ/สิทธิประโยน์จากนายจ้างหรือกระทรวงแรงงานของประเทศเจ้าบ้านด้วย ในกรณีไม่มีทุนทรัพย์ ญาติสามารถทำสัญญายืมเงินทดรองราชการเพื่อใช้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
  • นอกจากนี้ หากมีมูลนิธิหรือหน่วยงาน NGO ท้องถิ่นช่วยดำเนินการส่งศพกลับ กระทรวงฯ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวก แต่ค่าใช้จ่ายจะเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าว

    ๑.๔ กรณีไปทำงานแล้วสภาพการทำงานการจ้างงานไม่ดี ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

  • กรณีเป็นแรงงานถูกกฎหมาย จะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองจากกระทรวงแรงงาน โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสำนักงานแรงงานไทยในประเทศนั้น ๆ (หากมี) หรือติดต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
  • กรณีเป็นแรงงานผิดกฎหมาย สามารถขอรับความช่วยเหลือจาก สอท. / สกญ. โดย สอท./สกญ. จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศดังกล่าว อาทิ ตำรวจท้องถิ่น เพื่อเข้าทำการช่วยเหลือ
  • หากไม่มีเงินในการเดินทางกลับ จะสามารถทำสัญญายืมเงิน และสามารถชำระเงินคืนแก่กรมการกงสุลเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยได้
  • ทางการไทยมีความพยายามเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งออกแรงงานได้ถูกต้องตาม กม. หรือเพิ่มโควตาแรงงาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศปลายทางด้วย

    ๑.๕ กระทรวงฯ มีบทบาทอย่างไรบ้าง ในกรณีคนไทยถูกหลอกไปทำงาน Call Center ใน ปท. เพื่อนบ้าน

  • กรณี Call Center ไม่ได้เป็นปัญหาที่พบในไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค กระทรวงฯ พยายามจะผลักดันความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในกรอบของอาเซียน นอกจากนี้ สอท. ต่าง ๆ ได้เข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศปลายทาง เนื่องจากต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศนั้น ทั้งนี้ การขอความช่วยเหลือในกรณีนี้ ผู้ร้องควรส่งพิกัดที่อยู่ที่ชัดเจน เพื่อ สอท./สกญ. จะได้ประสานให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

    ๑.๖ ด้วยความแตกต่างในแต่ละประเทศและข้อจำกัดทางบุคลากรของ สอท./ สกญ. คนไทยใน ตปท. มีส่วนช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้อย่างไร

  • ผอ. กองคุ้มครองฯ แจ้งว่า ชุมชนไทยเป็นแขนขาและเป็นหูเป็นตาที่สำคัญในการสอดส่องและให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อยู่ห่างไกล สอท./สกญ. ได้
  • อธ. กรมสารนิเทศ ขอบคุณชุมชนคนไทยใน ตปท. ที่ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่และสนับสนุนการดำเนินงานของ สอท./ สกญ. โดยสอท./ สกญ. พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
  • ผอ. กองคุ้มครองฯ ตามสถิติ กลุ่มคนที่ถูกหลอกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นกลุ่มคนที่อายุน้อย (๒๐ - ๓๐ ปี) โดยถูกหลอกผ่านโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ หรือหลอกให้ไปทำงานในประเทศที่ห่างไกล โดยอ้างว่าทำแค่วีซ่าท่องเที่ยวก็เพียงพอในการไปทำงานต่างประเทศ โดยความเป็นจริงถือว่าเป็นการทำงานอย่างผิดกฏหมาย จึงขอให้ผู้ที่จะทำงาน ตปท. ตรวจสอบสัญญาจ้าง พฤติกรรมนายจ้าง และติดต่อกระทรวงแรงงานเพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้น
  • กรมการกงสุลได้จัดทำแอปพิเคชัน Thai Consular ซึ่งมีข้อมูลหมายการติดต่อ สอท./สกญ. ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสามารถขอรับความช่วยเหลือหากตกทุกข์ใน ตปท. ได้ โดยสามารถกดปุ่ม SOS เพื่อบอกพิกัดที่อยู่ได้ทั่วโลก นอกจากนี้ สามารถติดต่อหมายเลข hotline ของกรมการกงสุล๐๒ ๕๗๒ ๘๔๔๒ หรือ hotline ของ สอท. / สกญ. ได้

 

๒. พิธีเปิดตัวโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund: MLCSF)

  • ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๖ กลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีกำหนดร่วมกันจัดพิธีเปิดตัวโครงการไทยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund: MLCSF) เพื่อเฉลิมฉลองสัปดาห์กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Week) ประจำปี ๒๕๖๖ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
  • นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัด กต. และนายหาน จื้อเฉียง ออท. สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในฐานะประธานร่วม จะให้เกียรติกล่าวเปิดงาน โดยมีหน่วยงานราชการไทยหลายแห่ง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้าร่วมงานเพื่อนำเสนอโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน MLCSF
  • ผู้สนใจสามารถร่วมรับชมพิธีเปิดฯ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๖๖ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๑๑.๐๐ น. ด้วยตนเองทาง Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน

 

๓. งานสัมมนา "Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhanced Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean"

  • ในวันศุกร์ที่ ๒๔ มี.ค. ๒๕๖๖ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศแถบลาตินอเมริกา ๙ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และเปรู มีกำหนดจัดงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ครั้งที่ ๓ ในหัวข้อ “Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhanced Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean ซึ่งเป็นเรื่องของแนวทางที่จะร่วมมือกันระหว่าง ปทท. และ ปท. ในแถบละตินอเมริกาทั้งเก้าประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะดำเนินรายการเป็นภาษาอังกฤษ
  • การสัมมนาครั้งนี้ คุณพรพิมล กาญจนลักษณ์ ทปษ.รมว.กต. พร้อมด้วยผู้แทนจาก สอท.ประเทศแถบลาตินอเมริกาข้างต้นร่วมกันบรรยาย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนภาคเอกชนไทยชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (success stories) และการดำเนินธุรกิจด้าน BCG ด้วย
  • ภูมิภาคลาตินอเมริกามีศักยภาพทาง ศก. มาก เป็นคู่ค้าที่ไทยและอาเซียนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิด-๑๙ ที่ผ่านมา มีประชากรกว่าร้อยละ ๘.๒ ของโลก และมี GDP กว่าร้อยละ ๖ ของโลก มีศักยภาพรอบด้าน อาทิ ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ บุคลากรรุ่นใหม่ พลังงานสะอาด การแพทย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการพัฒนา ศก. BCG ของไทย
  • ผู้สนใจสามารถร่วมรับฟังการสัมมนาฯ ในวันศุกร์ที่ ๒๔ มี.ค. ๒๕๖๖ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. ทาง Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศ

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/5820156111426148/

 

* * * * *

กองการสื่อมวลชน
กระทรวงการต่างประเทศ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_15_มีค_66_as_of_15Mar23.pptx