สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,479 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

. การปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙

  • ตามที่ประชุมใหญ่ ศบค. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๕ มีมติให้คงการระงับการรับลงทะเบียน Thailand Pass เพิ่มเติมสำหรับผู้เดินทางเข้าแบบ Test and Go ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยยังอนุญาตให้ผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติ และได้รับ QR Code แบบ Test and Go แล้วก่อนหน้านี้ สามารถเดินทางเข้าไทยได้ตามที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม โดย ศบค. จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
  • สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยโดยวิธี Sandbox (อยู่ในพื้นที่ Sandbox ๗ วัน) หรือเข้ารับการกักตัวแบบ Alternative Quarantine - AQ (๗ วันสำหรับผู้ได้รับวัคซีนครบสองโดส และ ๑๐ วันสำหรับผู้ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับวัคซีน) ยังสามารถลงทะเบียนและเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตามปกติ
  • ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ศบค.ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนใหม่สำหรับผู้เดินทางแบบ Sandbox เพิ่มเติม จากเดิมที่ลงทะเบียนได้เฉพาะ จ. ภูเก็ต โดยจะเพิ่มเติมพื้นที่ Sandbox อีก ๓ แห่ง ได้แก่ จ. สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จ. กระบี่และ จ. พังงาเฉพาะพื้นที่ทั้งจังหวัด ทั้งสามจังหวัดดังกล่าวมีความพร้อมด้านการบริหารจัดการและด้านสาธารณสุข
  • สถานะล่าสุดของผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass มีผู้ลงทะเบียนแล้ว ๘๗๖,๙๕๗ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๖๙๖,๙๔๑ คน โดยในจำนวนผู้ได้รับอนุมัติแล้ว เป็นผู้ลงทะเบียนเดินทางเข้าแบบ Test and go ๕๒๘,๖๐๘ คน แบบ Sandbox ๑๒๘,๒๗๔ และแบบ AQ ๔๐,๐๕๙ คน (ข้อมูลสถานะ ณ วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น.)

 

Updates on measures for entering Thailand

  • Updates on measures for entering into the country, as a result of the CCSA General Meeting on Friday, 7 January 2022, are as follows:
  • For the Test and Go scheme, the registration under this scheme is still being suspended until further notice. However, those who have already received QR code can still travel to Thailand as scheduled under test and go measures. The CCSA will evaluate the situation and consider adapting the measures as necessary.
  • Since 11 January 2022 onwards, travelers can register to enter Thailand through Sandbox scheme via additional sandbox areas namely: Surat Thani Sandbox (Koh Samui, Koh Phangan ,and Koh Tao), Phang Nga Sandbox and Krabi Sandbox.
  • As of 12 January 2022, 00 hrs, the total number of travelers registered through the “Thailand Pass” website is 876,957 persons – 696,941 of which have been approved. Among the approved travelers, 528,608 persons registered for entry through Test and go scheme, 128,274 for sandbox scheme, and 40,059 for AQ scheme.

 

. มาตรการเดินทางเข้าไทยจากประเทศต้นทางในทวีปแอฟริกา

  • ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ ผู้เดินทางจากประเทศต้นทางแอฟริกา สามารถลงทะเบียนเดินทาง เข้าประเทศไทยในระบบ Thailand Pass ภายใต้มาตรการ Sandbox เพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย หลังจากที่ได้ระงับการลงทะเบียนในรูปแบบ Sandbox ไปตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
  • สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าจากแอฟริกา ภายใต้ Alternative Quarantine (AQ) ระยะเวลาการกักตัวปรับลดจาก ๑๔ วัน เป็น ๗ วันสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามข้อกำหนดของไทย และ ๑๐ วันสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามข้อกำหนด
  • ผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติให้เข้าประเทศแบบ AQ แล้ว แต่หากต้องการเข้าประเทศภายใต้มาตรการอื่น ต้องทำการลงทะเบียนใหม่เท่านั้น

 

The adjustment of entry measures for travelers departing from Africa

  • Since 11 January 2022, travelers departing from African countries can now register in the Thailand Pass to enter Thailand under the Sandbox scheme. The suspension for registration since 29 November 2021 has been lifted.
  • The quarantine period under the Alternative Quarantine (AQ) scheme for travelers from Africa has been reduced from 14 days to 7 days for vaccinated persons and 10 days for unvaccinated persons.
  • Please be advised that travelers who have been previously approved to enter Thailand under AQ scheme but wish to change to another scheme must re-register on Thailand Pass.

 

. การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร (๑๑ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕)

  • นางอะแมนดา มิลลิง (Amanda Milling) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านเอเชีย) สหราชอาณาจักร (Minister for Asia at the Foreign, Commonwealth and Development Office) ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  • นางมิลลิงมีกำหนดเข้าพบหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และพลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  • ในการหารือทวิภาคีกับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรและหารือแนวทางการเพิ่มพูนและต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการลงทุน การค้าผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ ๑ ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศไทยในปีนี้ รวมทั้งความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางไซเบอร์ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขโดยเร่งให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ระหว่างกันโดยเร็ว
  • ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการเป็นประธานเอเปคของไทยในปีนี้ บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหราชอาณาจักรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค เช่น ACMECS และอาเซียน ซึ่งสหราชอาณาจักรยินดีสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้แก่ภูมิภาค การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการสนับสนุนบทบาทของอาเซียนให้สามารถดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ (Five-Point Consensus: 5PC) และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เมียนมา
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) Initiative ของกลุ่มประเทศ G7 ที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืนและโปร่งใสในประเทศกำลังพัฒนาสอดคล้องกับแนวคิด BCG ของไทย ซึ่งส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ฟื้นตัวที่ยั่งยืนของทั้งสองภูมิภาค
  • ฝ่ายสหราชอาณาจักรแสดงความพร้อมที่จะจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ ที่สหราชอาณาจักรในปีนี้ในระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป

. การลงนามกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework – UNSDCF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๕ -๒๕๖๙ 

  • กรอบนี้เป็นแนวทางระหว่างรัฐบาลไทยและทีมงานสหประชาชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วง ๕ ปีข้างหน้า โดยเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและนางกีต้า ซับบระวาล ( Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator in Thailand) ลงนามกรอบความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ
  • กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมจัดทำกรอบความร่วมมือฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาของไทย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา
  • กรอบความร่วมมือ UNSDCF กำหนดผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่
    • การพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่ครอบคลุมบนฐานของการเร่งรัดการพัฒนาสีเขียว มีภูมิคุ้มกันวิกฤตสูง ปล่อยคาร์บอนต่ำและมีความยั่งยืน
    • การพัฒนาทุนมนุษย์หรือ พัฒนาบุคลากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางสังคมที่ครอบคลุม ได้รับการยกระดับผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกสถาบัน ภาคีความร่วมมือ และการเสริมพลังประชาชน
    • ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง มีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ
  • กรอบความร่วมมือ UNSDCF มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของไทย อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ ที่ให้ความสำคัญกับทิศทางการพัฒนาของไทยตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหประชาชาติในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) รวมทั้งรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่

 

. ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ ๑ ของเอเชีย และอันดับ ๑๑ ของโลก สำหรับประเทศที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ (๑ มกราคม ๒๕๖๕)

  • ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับ ๑ ของเอเชีย และอันดับ ๑๑ ของโลก จากผลการจัดอันดับ The World’s Best Places to Retire in 2022 หรือประเทศที่ดีที่สุดในโลกที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ประจำปี ๒๕๖๕ โดยนิตยสาร International Living ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ที่ผ่านมา โดยได้คะแนน ๗๒.๙ ด้วยเหตุผลที่เป็นประเทศที่มีอากาศดี อาหารอร่อย ค่ารักษาพยาบาลไม่แพงเกินไป และผู้คนเป็นมิตร ส่วนประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ ๑ ของโลก คือ ปานามา
  • ดัชนี Global Retirement เป็นการสํารวจแบบครอบคลุม และในเชิงลึก ใช้การรวบรวมความคิดเห็นและประสบการณ์จริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อจัดอันดับจุดหมายปลายทางในการใช้ชีวิตภายหลังการเกษียณอายุที่ดีที่สุดในโลก ปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการจัดอันดับแบ่งเป็น ๔ หมวด ได้แก่ ทั่วไป การเงิน วิถีชีวิต และหลักธรรมาภิบาล โดยปัจจัยย่อยที่นำมาพิจารณา อาทิ สภาพอากาศ ระบบดูแลสุขภาพ สาธารณสุข ค่าครองชีพ ที่อยู่อาศัย การขอวีซ่า (การตรวจลงตรา) ระดับการพัฒนา และสิทธิพิเศษต่าง ๆ
  • เป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยสำหรับบุคคลที่สนใจ วางแผนชีวิต หรือใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยดึงดูดชาวต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและสามารถพำนักในระยะยาว (long-term stay) ในประเทศไทย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำคัญให้กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นการต่อยอดการพัฒนา เอกลักษณ์ วัฒนธรรม และเป็นโอกาสสนับสนุน Soft Power ไทยในเวทีโลก

 

. ทีมจากประเทศไทยชนะการประกวด S-Booster 2021 จัดโดยสำนักเลขาธิการนโยบายอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น

  • กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีต่อรางวัลชนะเลิศของทีม EcoSpace จากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมงาน S-Booster 2021 รอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ กรุงโตเกียว
  • S-Booster เป็นการแข่งขันประกวดแนวคิดทางธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีอวกาศสําหรับทีมจากเอเชีย และแปซิฟิก เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๐ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการนโยบายอวกาศแห่งชาติ หรือ National Space Policy Secretariat ของญุี่ปุ่นกับพันธมิตรองค์กรด้านอวกาศต่าง ๆ ของญี่ปุ่น
  • ทีม EcoSpace จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ S-Booster 2021 โดยนําเสนอเทคโนโลยีดาวเทียม สําหรับตรวจจับไฟป่า (IOT Satellite, the Wildfire Early Warning Detection Systems) ซึ่งใช้เครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ และใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมของสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จับจุดร้อน (hot spot) ที่เกิดขึ้นในป่า เพื่อลดปัญหาการรับส่งสัญญาณในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานให้กับเจ้าหน้าที่และกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ โดยได้มีการทดสอบต้นแบบที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ – มีนาคม ๒๕๖๔ และได้เริ่มใช้งานแล้วที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ทีมจากประเทศไทยยังได้รับรางวัล Sponsor Award จากบริษัท Sony อีกด้วย
  • นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อปัญหาที่เป็นประเด็นระดับโลก (global issues) เนื่องจากไฟป่าเกิดขึ้นทุกทวีปทั่วโลก จึงเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ต่อสังคมโลก โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ผู้ชนะรางวัลจะได้รับเงินทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและตั้งต้นธุรกิจ รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงนักลงทุนและผู้ให้้คําแนะนําด้านธุรกิจ GISTDA มีบทบาทเป็นหน่วยงานในประเทศ ในการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือก
  • ในรอบชิงชนะเลิศปีนี้ มีทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกว่า ๒๐๐ ทีม มีผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ๑๒ ทีม (จากญี่ปุ่น ๗ ทีม อินเดีย ๒ ทีม ประเทศไทย ๑ ทีม ออสเตรเลีย ๑ ทีม และสิงคโปร์ ๑ ทีม)

 

. กระทรวงการต่างประเทศรับมอบชุด ATK จาก บริษัท ซิงไท่ เทรดดิ้ง จำกัด

  • เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๕ นายเชิดเกียรติ อัตถากร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รับมอบชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยตนเอง ยี่ห้อโบซอน (BOSON RAPID SARS-COV-2 ANTIGEN TEST CARD) จำนวน ๒๐,๐๐๐ ชุด จากนาย ไช่ เสี้ยว ซิง ประธานผู้บริหาร บริษัท ซิงไท่ เทรดดิ้ง จำกัด โดยชุดตรวจดังกล่าวผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากหลายประเทศ รวมทั้งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
  • กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณ บริษัท ซิงไท่ เทรดดิ้ง จำกัด ในการส่งมอบชุด ATK ในครั้งนี้และจะนำชุดตรวจดังกล่าวไปแจกจ่ายแก่บุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังการค้นหาเชิงรุกและการคัดกรองควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

 

. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-๑๙ ของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และหน่วยงานทีมประเทศไทยในต่างประเทศ

  • นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จนถึงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ มีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้างท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และทีมประเทศไทยทั่วโลก รวมถึงครอบครัวทุกระดับ/ตำแหน่ง ติดเชื้อโควิด-๑๙ แล้วรวม ๒๗๙ คน โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้หายป่วยแล้ว ๒๓๗ คน อยู่ระหว่างการรักษาตัว ๓๖ คน เสียชีวิต ๖ คน ทั้งหมดเป็นลูกจ้างท้องถิ่น ในขณะนี้ยังไม่มีข้าราชการเสียชีวิต
  • กระทรวงการต่างประเทศมีความห่วงใยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่อยู่ด่านหน้าในต่างประเทศ ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการติดโควิด-๑๙ ในขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในการดูแลคนไทยในหลายประเทศทั่วโลกในพื้นที่ห่างไกล โดยกระทรวงการต่างประเทศได้กำชับให้ทุกสำนักงานดูแลสวัสดิภาพของบุคลากรอย่างดีที่สุด
  • กระทรวงการต่างประเทศได้จัดส่งยารักษาโรคและอุปกรณ์ป้องกันโรคที่จำเป็น อาทิ หน้ากากอนามัย ชุด PPE และยาเม็ดฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับสนับสนุนจากห่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่และชุมชนไทยในต่างประเทศ

 

 

. การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ ๗๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย

  • ไทยและอินเดียจะเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕ และเพื่อให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และสถานเอกอักครารทูต ณ กรุงนิวเดลี ขอเชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ ภายใต้หัวข้อ “๗๕ ปีแห่งมิตรภาพไทย - อินเดีย” ดังรายละเอียดเงื่อนไข ปรากฏตามเว็บไซต์ https://newdelhi.thaiembassy.org/th/content/การแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์-75-ปี
  • ผู้ชนะเลิศการประกวดการแข่งขัน ฯ จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ จำนวน ๓๒,๐๐๐ บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ จำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานมาที่อีเมล [email protected] ภายในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ 
  • กระทรวงการต่างประเทศจะประกาศผลการประกวด ฯ ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม (อีเมล [email protected] หรือโทร ๐๒-๒๐๓-๕๐๐๐ ต่อ ๑๒๐๒๐)

 

๑๐. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update  โดยการสนับสนุนของกรมประชาสัมพันธ์

  • วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายสุวัฒน์ แก้วสุข เอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต หัวข้อ “โอกาสทางการค้า การลงทุนของไทยในประเทศโอมาน” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”  
  • วันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน หัวข้อ “Thailand’s Economic and Investment Opportunities in Iran” อิหร่านมีความสำคัญเศรษฐกิจต่อไทย โดยเฉพาะโอกาสการค้าการลงทุนจำนวนมาก ทั้งนี้สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๑๑. รายการ Spokesman Live!!! 

  • ในวันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายคมสันต์ แซ่ลี ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท Flash Express หัวข้อ “เจาะลึกความสำเร็จ Flash Express: Startup Unicorn ตัวแรกของไทย” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

 * * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลังhttps://fb.watch/avAdi_JGfB/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบแถลงข่าว_13_มกราคม.pdf