สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยรองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น.

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยรองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ก.พ. 2567

| 3,486 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และ Facebook live

 

๑. ผลการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา (๗ ก.พ. ๖๗) – ร่วมกับอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก

  • เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และภริยา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล และเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง
  • กำหนดการสำคัญ
    • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
    • การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี พิธีลงนามเอกสารสำคัญ ๕ ฉบับ และการแถลงข่าวร่วม
    • การเข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา
  • ผลการเยือนสำคัญ
    • ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ยกระดับสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เน้นการเสริมสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างเต็มศักยภาพ
    • สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเสียมราฐ และสถานกงสุลใหญ่กัมพูชา ณ จังหวัดสงขลา มีกำหนดเปิดทำการภายในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายและประชาชนของสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายกรัฐมนตรีมาเยือนไทยอีกครั้งในพิธีเปิดสถานกงสุลใหญ่กัมพูชาดังกล่าวด้วย
    • การยกระดับความร่วมมือทวิภาคี
      • ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาตอบรับคำเชิญของนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) กับไทย สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งไทยแสดงความพร้อมช่วยเหลือด้านวิชาการและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแก่กัมพูชา
      • ด้านการค้า เสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Committee - JTC) ครั้งที่ ๗ และการพิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ที่จังหวัดชายแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือในรายละเอียดต่อไป
      • ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมสานต่อความร่วมมือตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เครือข่ายขบวนการหลอกลวงออนไลน์ และการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม
    •  นายกรัฐมนตรีสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารจำนวน ๕ ฉบับ ได้แก่
      • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉิน
      • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
      • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้า
      • บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา
      • บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา

๒.  ผลการเยือนศรีลังกาของนายกรัฐมนตรี (๓-๔ ก.พ. ๖๗) 

  • นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ ได้เดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๓ - ๔ กุมภาพันธ์ ๖๗ เพื่อเป็นแขกเกียรติยศในโอกาสวันประกาศเอกราชปีที่ ๗๖ ของศรีลังกา โดยเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้หารือกับประธานาธิบดีศรีลังกา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา และการหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะด้วย
  • ทั้งสองฝ่ายย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นบนพื้นฐานของความเชื่อมโยงทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ยาวนาน โดยไทยได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจศรีลังกา
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ถือเป็นความสำเร็จทางการทูตที่สำคัญเนื่องจากช่วยเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบไทยในภูมิภาคเอเชียใต้และยังสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของศรีลังกาที่ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน บริการเดินอากาศ จัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรือสำราญ ๓ ประเทศอินเดีย-ศรีลังกา-ไทย รวมถึงความร่วมมือด้านการประมง พลังงานทดแทน และการดูแลช้างไทยในศรีลังกา
  • การเยือนครั้งนี้สะท้อนว่า ศรีลังกาให้ความสำคัญกับไทยอย่างมาก การลงนามเอกสารสำคัญต่าง ๆ ถือเป็นความสำเร็จของการทูตไทย ซึ่งสามารถต่อยอดเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

๓. ผลการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (IPMF) ครั้งที่ ๓ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (AEMM) ครั้งที่ ๒๔ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม (๓๑ ม.ค. - ๔ ก.พ. ๖๗)

  • เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุม IPMF ครั้งที่ ๓ และการประชุม AEMM ครั้งที่ ๒๔ ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อหารือความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการรับมือความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาเซียน-EU สามารถร่วมมือเพื่อตอบสนองความท้าทายร่วมกันได้ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีดิจิทัล
  • รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำว่า ไทยมุ่งสานต่อความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทย-อาเซียน-EU ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันด้านโครงการสร้างพื้นฐาน ห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับข้อริเริ่มของไทยด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดน-ไทยเมียนมา ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่หลวงพระบาง สปป.ลาว ให้ความเห็นชอบเมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๗ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจาก EU ด้วย
  • นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังมีโอกาสได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าฮังการี เพื่อผลักดันการจัดทำ FTA ไทย-EU FTA อาเซียน-EU โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถึงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของไทย ซึ่งฮังการีรับที่จะสนับสนุน
  • การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ EU จะได้รับรู้บทบาทของไทยและรับฟังไทยมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยต่อยอดความสัมพันธ์ไทย-EU ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ต่อไปได้

๔. การประชุมหารือเชิงนโยบาย (Policy Consultation) ไทย-เบลเยียม ครั้งที่ ๒

  • เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ไทยและเบลเยียมได้จัดการประชุมหารือเชิงนโยบาย (Policy Consultation) ไทย-เบลเยียม ครั้งที่ ๒ โดยมีหัวหน้าคณะเป็นระดับอธิบดี/รักษาการอธิบดี
  • ปีนี้ ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียมครบรอบ ๑๕๖ ปี จึงเป็นโอกาสอันดีให้ทั้งสองฝ่ายได้พัฒนาความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในสาขาที่ไทยและเบลเยียมมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง อาทิ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ เภสัชกรรม การวิจัยและวิชาการ และ green transportation ของท่าเรือทั้งสองฝ่าย เป็นต้น รวมถึงได้หารือแนวทางส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
  • ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน พลังงานสะอาด การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรม BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล-กาซา สถานการณ์ในยูเครน และสถานการณ์ในเมียนมา

๕. การจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอลให้แก่ผู้ที่สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อน

  • ตั้งแต่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ จนถึง ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กระทรวงการต่างประเทศได้รับเอกสารคำร้องจากกระทรวงแรงงานประมาณ ๔,๙๐๐ ราย ซึ่งสำหรับผู้ที่ยื่นเอกสารครบถ้วนมีประมาณ ๒,๕๐๐ ราย และกระทรวงการต่างประเทศได้โอนเงินชดเชยเข้าบัญชีธนาคารผู้ยื่นคำร้องแล้ว ๑,๕๐๐ ราย และจะโอนเงินสำหรับผู้ยื่นคำร้องที่เหลืออีกประมาณเกือบพันรายให้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
  • สำหรับผู้ร้องอีกประมาณ ๒,๔๐๐ รายที่ส่งเอกสารให้กระทรวงแรงงานแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารและติดต่อผู้ยื่นคำร้องที่เอกสารไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินชดเชยต่อไป
  • กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และพร้อมเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด

๖. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

  • ภารกิจการลงพื้นที่ อ. แม่สอด จ. ตาก (๘-๙ ก.พ. ๒๕๖๗)
    • รองนายกรัฐมนตรีฯ จะเดินทางลงพื้นที่ที่ อ. แม่สอด จ. ตาก ระหว่างวันที่ ๘ - ๙ ก.พ. ๒๕๖๗ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุขชายแดนในพื้นที่ รวมถึงการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่เมียนมา พร้อมถือโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ถึงผลกระทบและประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย
  • การเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ (๑๐-๑๔ ก.พ. ๒๕๖๗)
    • รองนายกรัฐมนตรีฯ มีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ที่กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๔ ก.พ. ๒๕๖๗ เพื่อพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน
    • นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังมีกำหนดพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในด้านการต่างประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รับชมการแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/share/p/c9rmpUrbWzpBrzHe/?mibextid=lpLi9V

 

 * * * * * * * * * *

กองการสื่อมวลชน

๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ