สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. ผลการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีภูฏาน
- เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๘ มิ.ย. ๒๕๖๗ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน พร้อมภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี โดยย้ำความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และการแพทย์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบ ๓๕ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ภูฏาน
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย – ภูฏาน อีกทั้งยินดีกับความสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกของภูฏานเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลของทั้งสองประเทศ และเป็นผลจากการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูฏาน ผ่านทุนการศึกษา การฝึกอบรม และโครงการต่าง ๆ
- เมื่อปี ๒๕๖๖ ไทยและภูฏานมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกือบ ๗๐๐ ล้านบาท มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผ้าผืน ผลไม้สด เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และสิ่งทอ ขณะที่ไทยลงทุนโรงแรม ๒ แห่งในภูฏาน และมีชาวภูฏานเดินทางมาไทยประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนในช่วงปีดังกล่าว
- ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารสำคัญ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือ
ทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ Khesar Gyalpo University of Medical Sciences แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และ (๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วย
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกรมการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) แห่งราชอาณาจักรไทย
- ภารกิจอื่นของนายกรัฐมนตรีภูฏานระหว่างการเยือน ได้แก่ การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ และ
การกล่่าวปาฐกถาพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “Enlightened Leadership”
๒. ผลการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพื่อติดตามความคืบหน้าในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือกันในหลายโอกาส โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่แนบแน่นขึ้นไปในทุกมิติ
- การเยือนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่มีความใกล้ชิดรอบด้าน ทั้งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มั่นคง โดยรัฐมนตรีฯ ได้เข้าเยี่ยมคาราวะสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และมีการหารือเต็มคณะกับนายซก เจินดาโซเพีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงพบปะทีมประเทศไทยและนักธุรกิจไทยในกัมพูชา
- ทั้งสองฝ่ายหวังที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าจากปัจจุบันประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ขึ้นเป็น ๕๒๕,๐๐๐ ล้านบาท ผ่านการเจริญเติบโตที่เป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่าย และยังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกันหรือพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งเรื่องการค้าชายแดนและการลงทุน โดยคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) จะหารือร่วมกันในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชาตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล (OCA) และได้แสดงความพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกัน
- ไทยและกัมพูชาแสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในอาเซียน ตามนโยบาย Six Countries, One Destination ของนายกรัฐมนตรีของไทย ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นจะกระชับความร่วมมือในการหาแนวทางบูรณาการแผนงานให้สอดรับกันเพื่อแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงหมอกควัน แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ออนไลน์สแกม และการค้ายาเสพติด
- ในโอกาสนี้ ฝ่ายกัมพูชายังขอบคุณที่ไทยร่วมมือเปิดสถานกงสุลใหญ่กัมพูชา ที่จังหวัดสงขลา และไทยขอบคุณที่กัมพูชาอำนวยความสะดวกการเตรียมเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เสียมราฐ ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ในปีนี้
๓. อินเดียยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทย
- เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ ทางการอินเดียออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา หรือค่าวีซ่า ให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยและขอรับการตรวจลงตราผ่านระบบออนไลน์เพื่อการท่องเที่ยว (e-Tourist visa) ระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ (๖ เดือน) โดยสามารถเดินทางเข้า-ออกได้ ๒ รอบต่อการขอวีซ่า ๑ ครั้ง และพำนักในอินเดียรวมทั้ง ๒ รอบได้ไม่เกิน ๓๐ วัน
- ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยและพำนักได้ไม่เกิน ๓๐ วัน ระหว่างวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ - ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗ และต่ออายุได้ ๑ ครั้งถึง ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราแก่นักท่องเที่ยว ๙๓ ประเทศ/ดินแดน ซึ่งรวมนักท่องเที่ยวอินเดียด้วย ให้สามารถพำนักในไทยได้ไม่เกิน ๖๐ วัน
- ที่ผ่านมา อินเดียไม่มีนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการยกเว้นการตรวจลงตราให้กับประเทศใด นอกจากประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเท่านั้น อาทิ เนปาลและภูฏาน ดังนั้น การยกเว้นค่าธรรมเนียม e-Tourist visa ให้ไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นมาตรการพิเศษที่มอบให้แก่นักท่องเที่ยวไทย เพื่อเป็นไมตรีตอบแทนมาตรการของไทยข้างต้น
- นักท่องเที่ยวอินเดียมาไทยและจากไทยไปอินเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้างต้น ซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงความใกล้ชิดและความสำคัญที่ทั้งสองประเทศมีให้ต่อการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกันมากขึ้นต่อไปด้วย
๔. ภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๔.๑ การเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ
- ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีกำหนดระหว่างวันที่ ๓ - ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ตามคำเชิญของนายเอ็นริเก เอ มานาโล ( Enrique A. Manalo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี ความสัมพันธ์ไทย - ฟิลิปปินส์ และถือเป็นการปูทางสำหรับการเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีภายในปีนี้ด้วย
- รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะพบหารือทวิภาคีกันในช่วงบ่ายของวันนี้ เพื่อหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งด้านความมั่นคง การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ จะพบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจไทยในฟิลิปปินส์และหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยภายใต้ทีมประเทศไทยในฟิลิปปินส์ด้วย
- ฟิลิปปินส์เป็นมิตรประเทศที่เก่าแก่ของไทยและมีความสัมพันธ์โดยรวมในระดับดีและราบรื่น และถือว่าเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย โดยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทยในอาเซียน เมื่อปี ๒๕๖๖ มีมูลค่าการค้ารวมกว่า ๓๘๕,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่การลงทุนของไทยในฟิลิปปินส์มีมูลค่ากว่า ๕๖,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งไทยลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่ ๕ เมื่อเทียบกับอาเซียนประเทศอื่น ตัวอย่างบริษัทไทยที่ไปลงทุนในฟิลิปปินส์ อาทิ เครือซิเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือโรงแรมดุสิตธานี ปตท. เครือ Ital-Thai กลุ่ม EGCO และธนาคารกรุงเทพ
- นอกจากนี้ เมื่อปี ๒๕๖๖ มีนักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์เดินทางมาไทยกว่า ๔๖๐,๐๐๐ คน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปฟิลิปปินส์ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน
๔.๒ การเยือนจีนอย่างเป็นทางการ
- ในสัปดาห์หน้า รัฐมนตรีฯ มีกำหนดเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
- การเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของรัฐมนตรีฯ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นครั้งแรกในรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย ขณะที่นายหวัง อี้ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นครั้งแรกในรัฐบาลปัจจุบันเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๗
- ระหว่างการเยือน รัฐมนตรีฯ จะเป็นประธานการประชุมกลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทย - จีน ครั้งที่ ๒ ร่วมกับนายหวัง อี้ เพื่อติดตามและผลักดันความคืบหน้าจากการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการค้าสินค้าเกษตร การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในภูมิภาค และการฉลองครบรอบ ๕๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน
- นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ จะเข้าเยี่ยมคารวะนายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน และพบหารือกับนายหลิว เจี้ยนเชา รัฐมนตรีกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย
รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/xQJjSB4McyVm3KVa/?
* * * * *