สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.ค. 2565

| 12,046 view

รุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของ กต.สหรัฐฯ

  • เมื่อวันที่ ๑๙ ก.ค. ๒๕๖๕ กต.สหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 TIP Report) ซึ่งรวบรวมรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ จัดให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นจากระดับ Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกล่าวถึงพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ จำนวนการสืบสวนคดีและการระบุตัวผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้น การจัดตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหายแห่งใหม่ การจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) เสร็จสมบูรณ์ โดยขยายระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรองก่อน การคัดแยกผู้เสียหายเป็น ๔๕ วัน การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคัดกรองผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
  • รมว.กต.สหรัฐฯ ได้มอบรางวัล 2022 TIP Report Heroes ให้แก่ ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านต่อต้านการค้ามนุษย์จากประเทศต่าง ๆ ในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลจาก ๖ ประเทศ ซึ่งนางอภิญญา ทาจิตต์ รอง ผอ.ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล องค์กร Stella Maris ประเทศไทย ได้รับรางวัลดังกล่าวจากผลงานที่โดดเด่นในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากแรงงานบังคับโดยเฉพาะในภาคการประมง มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านค้ามนุษย์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
  • หน่วยงานในทุกภาคส่วนของรัฐบาลไทยมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาโดยต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม โดยเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ และที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  • รัฐบาลไทยยังได้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการขยายขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และต่อต้านการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ กต.ได้สนับสนุนการเชื่อมโยงความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของไทย อาทิ สนง.ตำรวจแห่งชาติ ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ก.แรงงาน กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของต่างประเทศ อาทิ กต.สหรัฐฯ ก.แรงงานสหรัฐฯ และศูนย์ National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) ของสหรัฐฯ รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลียภายใต้โครงการ ASEAN-Australia Counter Trafficking เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

 

๒. ผลการประชุม COVID-19 Global Action Plan Foreign Ministerial Meeting (๑๙ ก.ค. ๒๕๖๕)

  • รนรม./รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมทางไกล COVID-19 Global Action Plan (GAP) Ministerial Meeting ร่วมกับ รมต.จากกว่า ๒๐ ประเทศทั่วโลก และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตามคำเชิญของ รมว.กต.ญี่ปุ่น และ รมว.กต.สหรัฐฯ
  • รนรม./รมว.กต.ย้ำคำมั่นของไทยที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการยุติการ แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเร็วที่สุด โดยบังคับใช้มาตรการที่บูรณาการและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการรับมือกับ COVID-19 อย่างครอบคลุม เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข อีกทั้งย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชนในการลดผลกระทบจาก COVID-19 ต่อประชาชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
  • นอกจากนี้ ได้เน้นประเด็นสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขผ่านการบรรลุเป้าหมายเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่องการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข และการสร้างบุคลากรฯ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางให้เพียงพอต่อความต้องการ (๒) การส่งเสริมการเข้าถึงมาตรการป้องกันทางการแพทย์อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม โดยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และ (๓) การลงทุนในด้านการฝึกอบรมและการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุขในภูมิภาคและระดับโลก
  • ในส่วนของไทย โครงการด้านการพัฒนาที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ครอบคลุมหลากหลายสาขาด้านสาธารณสุข อาทิ การบริหารจัดการและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานการป้องกันและการควบคุมโรค
  • ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อน GAP ร่วมกับประเทศพันธมิตรด้านสาธารณสุขโลกและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดในอนาคต อย่างยั่งยืน โดยไทยได้มีบทบาทร่วมเป็นประเทศที่ผลักดันการดำเนินการในสาขาที่ ๔ เรื่องการสนับสนุนบุคลากรทางสาธารณสุข
  • การดำเนินการตามข้อริเริ่ม GAP จะมีการสานต่อในการประชุมระดับสูงที่คาดว่าจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ในเดือนก.ย.นี้ ต่อไป

 

๓. ผลการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (๑๒ – ๑๕ ก.ค. ๒๕๖๕)

  • รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
  • การประชุม HLPF2022 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Building back better from the coronavirus disease (COVID-19) while advancing the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development” เพื่อติดตามและทบทวนการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยในปีนี้ มีการหารือเชิงลึกเพื่อทบทวนการดำเนินการในการขับเคลื่อน SDGs ๕ เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่เท่าเทียม เป้าหมายที่ ๕ ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ ๑๔ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เป้าหมายที่ ๑๕ การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก และเป้าหมายที่ ๑๗ ความร่วมมือเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน
  • รนรม./รมว.กต. ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าผ่านเวทีการประชุมในช่วงต่าง ๆ ได้แก่ (๑)เป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวรายงานผลงานประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ ๙ และนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาของภูมิภาคฯ ในการประชุม Messages from the regions (๒) กล่าวเปิดกิจกรรมคู่ขนานของ Group of Friends of UHC and Global Health ซึ่งได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการศึกษาและสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะในบริบทของการรับมือกับโควิด-๑๙ และ (๓) กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยในช่วง General Debate ของการประชุม ECOSOC High-level segment
  • การประชุม HLPF ปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) และประธาน Coordination Segment ของ ECOSOC โดยนายสุริยา จินดาวงษ์ ออท./ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในฐานะรองประธาน ECOSOC ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม HLPF 2022 ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของวง K-pop “aespa” (เอสปา) ที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ด้วย และมีผลให้การเปิดการประชุม HLPF 2020 ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งยังเป็นรองประธาน ECOSOC คนเดียวที่ได้รับเชิญให้ร่วมพูดคุยหารือกับ ปธน. บอตสวานา เลขาธิการสหประชาชาติ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ และประธาน ECOSOC ในช่วงก่อนพิธีเปิดการประชุมฯ ด้วย
  • ผู้สนใจสามารถสแกน QR Code เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ของไทยในมิติ 5Ps (People, Partnership, Peace, Prosperity and Planet) ตามแนบ

๔. ไทยได้รับเลือกเป็นรองประธานการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ ๕๕ (๒๗ มิ.ย. - ๑๕ ก.ค. ๒๕๖๕)

  • นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธ.กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law: UNCITRAL) สมัยที่ ๕๕ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก UNCITRAL ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ ๗
  • คณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงท่าทีของไทย ในระเบียบวาระที่อยู่ในความสนใจ เช่นการลดอุปสรรคทางกฎหมายสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นต้น
  • ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างอนุสัญญาว่าด้วยผลทางระหว่างประเทศของการขายเรือโดยกระบวนการทางศาล ข้อแนะนำเพื่อให้ความช่วยเหลือศูนย์ไกล่เกลี่ยและองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยภายใต้ข้อบังคับการไกล่เกลี่ยของ UNCITRAL และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการใช้และการยอมรับการบริหารจัดการด้านการระบุตัวตนของผู้ใช้งานและระบบการสร้างความไว้วางใจข้ามพรมแดน
  • UNCITRAL ถือเป็นกลไกสำคัญของสหประชาชาติในการพัฒนากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศของไทย ปัจจุบัน UNCITRAL มีสมาชิกทั้งสิ้น ๗๐ ประเทศ มาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาสหประชาชาติ

๕. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายวราวุธ ภู่อภิญญา ออท. ณ กรุงอาบูดาบี ในหัวข้อ “โอกาสทางการค้าและการลงทุนใน UAE ของผู้ประกอบการไทย” สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๒๒ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางมาระตี นะลิตา อันดาโม ผอ.กองประมวลและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ ในหัวข้อ "International Academic Forum and 5th APEC Media Focus Group at Mahidol University" สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

๖. รายการเวทีความคิด

  • วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. จะสัมภาษณ์นายพจน์ หาญพล ออท. ณ กรุงโคลัมโบ ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕: สถานการณ์ในศรีลังกาและบทบาทของไทย (ในฐานะมิตรประเทศ) ต่อศรีลังกา” สามารถรับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”

 

๗. รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๒๒ ก.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ท่านทูต Delia D Albert อดีต รมว.กต.ฟิลิปปินส ในหัวข้อ “ผู้บุกเบิกการทูตสตรีแห่งอาเซียน” สามารถรับชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/eoOGCsqUKO 

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”

: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

* * * * *

                   กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

infographic_5P.pdf