สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ต.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ต.ค. 2567
| 209 view
สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น.
ณ ห้องแถลงข่าว และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ
สรุปผลการเข้าร่วมการประชุม BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together” ในห้วงการประชุมผู้นำของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ที่เมืองคาซาน รัสเซีย
การประชุมครั้งนี้มีประธานาธิบดีรัสเซียเป็นประธาน และมีผู้นำ ผู้แทนระดับรัฐมนตรี และผู้แทนอาวุโส จากประเทศสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนา 36 ประเทศ พร้อมหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ เข้าร่วม
ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทั้งยังหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่ม BRICS กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในการสร้างระบบพหุภาคีที่เป็นธรรมและยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาปัตยกรรมการเงินระหว่างประเทศ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นท่าทีไทยในการผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีที่เป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งเสนอให้มีการหารือเรื่องการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้มีความสมดุลขึ้น รวมถึงแสดง ความมุ่งมั่นของไทยในการยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS และความพร้อมของไทยที่จะเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่ไทยมีบทบาท เพื่อเพิ่มพลวัตในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของนานาชาติ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางพร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ
การเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส ( CLEAR Sky Strategy) ระหว่างไทย สปป. ลาว และเมียนมา
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป. ลาว และนาย คิน หม่อง ยี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา เปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) 2567 - 2573
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เป็นรูปธรรมและบูรณาการระหว่างกัน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยกับ สปป. ลาว และเมียนมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม
ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ กำหนดแผนงานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และเมียนมา ระหว่างปี 2567 - 2573 ซึ่งรวมถึงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟไหม้ป่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพต่อประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการจัดตั้งสายด่วน (hotline) เพื่อประสานงานระหว่างทั้งสามประเทศ
การเยือนไทยของเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD)
ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2567 นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
เลขาธิการ OECD ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญของไทย ซึ่งรวมถึง (1) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2) ภาคนิติบัญญัติ ได้แก่ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฏร และ (3) ภาคเอกชน ได้แก่ ประธานคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เลขาธิการ OECD ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้มอบ Accession Roadmap ให้กับรัฐมนตรีฯ ซึ่งเป็นรายละเอียดขั้นตอนในการเข้าสมาชิก OECD ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย
การเยือนไทยของเลขาธิการ OECD ครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญต่อกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เนื่องจากสะท้อนให้เห็นการยอมรับจาก OECD และเป็นการปูทางสู่การทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับ OECD โดยไทยได้รับเชิญให้เข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussions) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะแก่การลงทุนที่ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง และยกระดับมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงธรรมภิบาล ความโปร่งใส และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกับประเทศสมาชิก OECD และในเวทีโลกด้วย
การเข้าร่วมประชุม Greater Mekong Subregion Summit (GMS) และ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) Summit ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะติดตามนายกรัฐมนตรี ไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (8th GMS Summit) และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 (10th ACMECS Summit) ระหว่างวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน 2567 ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนเป็นเจ้าภาพการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “Toward a Better Community Through Innovation-driven Development” (มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม) โดยจะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงเช่นเดียวกัน
ในการประชุม GMS Summit ไทยจะมุ่งผลักดันการสานต่อการดำเนินงานตาม 3 เสาความร่วมมือหลัก โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเร่งสร้างเสริมประชาคมที่ดีขึ้น
สปป. ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “Towards Seamless Connectivity for Mekong Sub-regional Integration” (มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. 2019 - 2023 และมีผลลัพธ์ของการประชุมฯ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) (2) การรับรองนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (เพิ่มเติม) และ (3) การรับรองเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ ที่ไทยเป็นผู้เสนอ
ในการประชุม ACMECS Summit ไทยจะมุ่งผลักดันการขับเคลื่อนความร่วมมือ โดยเน้น (1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (2) การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดน และ (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการให้ทุนการศึกษาและจัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรในประเทศสมาชิก รวมถึงเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมมือแก้ไขปัญหาความท้าทายร่วมโดยเฉพาะประเด็นอาชญากรรม ข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ไทยยังมีบทบาทในการเป็นที่ตั้งและทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ซึ่งจัดเปิดตัว Logo และเว็บไซต์ ACMECS แล้ว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ด้วย
* * * * *