คำแปลการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 12.00 – 12.15 น. ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

คำแปลการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีในการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 12.00 – 12.15 น. ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 เม.ย. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 เม.ย. 2568

| 888 view

คำแปลการแถลงข่าว (Press Conference)

โดยนายกรัฐมนตรี

การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6

วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 12.00 – 12.15 น.

ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

 

ท่านผู้มีเกียรติ,

สื่อมวลชน,

สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

          วันนี้ ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2547 เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พาบิมสเทคกลับมายัง ณ กรุงเทพมหานคร และมีโอกาสต่อยอดบนรากฐานที่ได้วางไว้ตลอดช่วง 20 ปี

          แนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทยคือ "บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง" ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อม การบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงการจัดตั้งกลไกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น

          วันนี้ผู้นำรัฐสมาชิกบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ได้แก่


          ฉบับแรก วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของพวกเราที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง "บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง" (PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์


           ฉบับที่สอง ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของพวกเราในการส่งเสริมบิมสเทคและผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030


           ฉบับที่สาม กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานของบิมสเทค ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานของบิมสเทค


           ฉบับที่สี่ รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030

           ฉบับที่ห้า เราได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน


          ฉบับที่หก ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งเป็นการแสดงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นของบิมสเทคในการสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นการยืนยันความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยธรรมชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น


          นอกจากนี้ กรอบแนวคิด PRO BIMSTEC จะทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศได้อย่างแข็งขันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์


          ผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์โดยตรงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับประชาชนไทย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลจะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่ด้านการตลาดและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

 

ประเด็นทวิภาคี

          ก่อนการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 และ ฯพณฯ นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อวันที่ 3 - 4 เมษายน 2568

           การเยือนของนายกรัฐมนตรีเนปาลครั้งนี้นับเป็นการเยือนทางการครั้งแรก เราได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือหลากหลายด้าน รวมถึงการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมให้การทำธุรกิจง่ายยิ่งขึ้น การเกษตรการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่เนปาลมากกว่า 50 ปี และในระหว่างการเยือนนี้ ได้มีการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านต่าง ๆ 8 ฉบับด้วยกัน


          การเยือนของนายกรัฐมนตรีอินเดียยังได้มีการประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ไทย - อินเดียสู่ความเป็น "หุ้นส่วนยุทธศาสตร์" เราตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือด้านการเมืองและการป้องกันประเทศ การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงทางกายภาพ ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและประเด็นระดับโลกต่าง ๆ พวกเรายังได้ยินดีต่อการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและอินเดียที่สำคัญหลายฉบับ


          สุดท้ายนี้ ดิฉันขอแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทคทุกประเทศต่อความสำเร็จของการประชุมผู้นำในวันนี้ และรอคอยด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความสำเร็จภายใต้การนำของบังกลาเทศต่อไป


          ขอบคุณค่ะ

* * * * *