สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 มิ.ย. 2565

| 2,022 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์  
วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. การติดตามผลการเยือนซาอุดีอาระเบียของรอง นรม./รมว.กต.

  • การเยือนซาอุดีฯ ของรอง นรม./รมว.กต. พร้อมภาคเอกชนไทยเมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๘ พ.ค. ๒๕๖๕ ถือเป็นการเยือนที่มีผลสำเร็จในแง่การเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจ โดยมีภาครัฐสนับสนุนและแสดงบทบาทนำในการ “เคาะ+เปิดประตู” ให้ภาคเอกชน ซาอุดีฯ เป็นตลาดที่ยังสดใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในสาขา
    การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ สินค้าเกษตรและอาหาร วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์
  • เมื่อวันที่ ๗ มิ.ย. ๒๕๖๕ ครม.อนุมัติให้ผู้ถือหนังสือเดินทางจากซาอุดีฯ เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ ๓๐ วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า ถือเป็นการต่อยอดจากผลสำเร็จที่ตนได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีฯ ขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ ทำให้ชาวซาอุดีฯ เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งภาคส่งออก แรงงาน และท่องเที่ยวได้รับประโยชน์ คาดว่าจะมีชาวซาอุดีฯ เดินทางเข้ามา ปทท. เพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑๐๐,๐๐๐ - ๑๕๐,๐๐๐ คน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี
  • กต.ขอเรียนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมซึ่งเป็นผลจากการเยือน ดังนี้
    (๑) การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนไทยและกระทรวงการลงทุนซาอุดีฯ จำนวน ๕ ฉบับ ในสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สาขาวัสดุก่อสร้าง
    สาขาเคมีภัณฑ์ สาขาบริการและโรงแรม

    (๒) การเจรจาซื้อปุ๋ย ฝ่ายซาอุดีฯ ตกลงจะขายปุ๋ยในราคามิตรภาพให้ไทย ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาปุ๋ยขาดแคลนในประเทศ
    (๓) การขยายการลงทุนของธุรกิจไทย ไมเนอร์กรุ๊ปประกาศข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการพัฒนาดิริยาห์เกต (Diriyah Gate Development Authority-DGDA) ว่า จะเปิดโรงแรมอนันตราในพื้นที่ และจะมีโครงการอื่น ๆ ของเครือไมเนอร์อีกในอนาคต
  • หอการค้ามณฑลริยาดจะนำคณะภาคเอกชนซาอุดีฯ เยือนไทยระหว่างวันที่ ๔ - ๘ ก.ค. ๒๕๖๕ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน การเยือนครั้งนี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะภาคเอกชนซาอุดีฯ บางส่วนไม่เคยเดินทางมาไทย จึงเป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างกัน และเป็นการสร้างโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนให้กับซาอุดีฯ ในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนต่อไป และจะมีการศึกษาลู่ทางต่าง ๆ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง ธุรกิจพลังงาน และปิโตรเคมี
  • ประเด็นความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายต้องผลักดันต่อ ได้แก่
    (๑) การผลักดันให้ฝ่ายซาอุดีฯ เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC
    (๒) การเร่งให้มีการเจรจาความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (Bilateral Investment Treaty) เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนของทั้งสองประเทศ และดึงดูดให้ธุรกิจซาอุดีฯ มาลงทุนในไทย
    (๓) การส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรระหว่างสองประเทศให้มีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการส่งออกข้าวไทยซึ่งกรมการข้าวจะ
    ต่อยอดจากการที่ กษ.เดินทางไปซาอุดีฯ และพบว่าซาอุดีฯ มีความต้องการข้าวจำนวนกว่า ๓๐ ล้านตัน หากไทยสามารถส่งออกข้าวไปซาอุดีฯ ได้ จะเป็นการเสริมศักยภาพของข้าวไทยในตลาดโลกให้มีอำนาจต่อรองยิ่งขึ้น
  • เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร/รอง นรม./รมว.กห.ซาอุดีฯ จะเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่ง กต.อยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องวันเสด็จเยือน โดยคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี ๒๕๖๕
  • กต.จะจัดการประชุมติดตามผลการเยือนซาอุดีฯ โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนกว่า ๓๐ หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ ที่ กต.

 

๒. ความคืบหน้าการดำเนินการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

  • ในการเยือนจีนเมื่อวันที่ ๒ เม.ย. ที่ผ่านมา รอง นรม./รมว.กต.ได้ผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์กับฝ่ายไทยกับมนตรีแห่งรัฐ/รมว.กต. จีน ได้แก่ การอำนวย
    ความสะดวกการขนส่งสินค้าเกษตร/ผลไม้จากไทยไปจีน และการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกัน มาตรการส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวก การขนส่งสินค้า เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการตรวจปล่อยสินค้าสืบเนื่องจากการบังคับใช้มาตรการ Zero COVID ของจีน ขณะนี้มีพัฒนาการล่าสุดได้ ดังนี้

๑) การเพิ่มศักยภาพการตรวจปล่อยสินค้า การขยายเวลาทำการ และการเพิ่มเจ้าหน้าที่บริเวณด่านต่าง ๆ ของจีน ทั้งทางบก เรือ และอากาศ

  • ทางบก ด่านทางบก ๔ แห่งที่ภาคเอกชนไทยนิยมใช้ในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน ได้แก่ ด่านโหย่ว อี้กวาน ด่านสถานีรถไฟผิงเสียง ด่านตงซิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และด่านโม่ฮาน ในมณฑลยูนนาน โดยฝ่ายจีนได้ขยายวันทำการจาก ๕ วันเป็น ๗ วัน และขยายเวลาทำการจากเฉลี่ย ๘ ชม./วัน เป็น ๑๐ ชม./วัน
  • ทางเรือ จีนเพิ่มศักยภาพการตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านท่าเรือ และภาคเอกชนไทยเลือกขนส่งสินค้าผลไม้ทางเรือไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผ่านท่าเรือในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ ท่าเรือหนานซา นครกว่างโจว และท่าเรือเสอโข่ว เมืองเซินเจิ้น นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เพิ่มความพร้อมในการรับเรือสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น จากเดิม ๔ เที่ยว/สัปดาห์ เป็น ๗ เที่ยว/สัปดาห์ และอยู่ระหว่างการเพิ่มศักยภาพการตรวจและฆ่าเชื้อ เพื่อให้บริการได้เพิ่มขึ้น
  • ทางอากาศ การขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยไปจีนทางอากาศมีช่องทางที่หลากหลายขึ้น ปัจจุบัน ภาคเอกชนไทยสามารถขนส่งสินค้าผลไม้ไปยังสนามบินต่าง ๆ ในจีน อาทิ สนามบินเซินเจิ้นเป่าอัน สนามบินเซี่ยงไฮ้ผู่ตง สนามบินกว่างโจวไป๋หยุน สนามบินหนานหนิงอู๋ซวี สนามบินคุนหมิงฉางสุ่ย และสนามบินเซี่ยเหมินเกาฉี

๒) การพิจารณาจัดตั้ง Green Lane สำหรับสินค้าเกษตร

  • จะมีการหารือจัดตั้ง Green Lane โดยเฉพาะด่านทางบกที่ภาคเอกชนไทยนิยมใช้ในการขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การไหลเวียนของสินค้าห่วงโซ่
    ความเย็นและสินค้าเน่าเสียง่ายให้สอดคล้องกับมาตรา ๔.๑๑ เรื่อง “การตรวจปล่อยสินค้า” ภายใต้ข้อบทที่ ๔ ที่ว่าด้วย “พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า” ของความตกลง RCEP ที่ไทยผลักดันช่วงการเป็นประธานอาเซียน
  • ปัจจุบัน บริษัท China Certification & Inspection Group Co., Ltd. (C.C.I.C.) ประเทศไทย หน่วยงานภายใต้รัฐวิสาหกิจจีน ได้ให้บริการตรวจสอบย้อนกลับ
    ฆ่าเชื้อ และตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ที่ผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์สินค้าส่งออกจากไทยไปจีน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจรับรองโดยบริษัท C.C.I.C. จะได้รับ QR Code เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านด่านในจีนที่มีความร่วมมือกับบริษัทฯ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น เช่น ด่านโหยวอี้กวานในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่ง กษ.อยู่ระหว่างการศึกษาศักยภาพของไทยในการให้บริการในลักษณะเดียวกัน
  • วันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๖๕ กต.เชิญหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง คือ กษ. พณ. กรมศุลกากร หารือร่วมกับ สอท. ณ กรุงปักกิ่ง และ สกญ. ณ นครคุนหมิง และ สกญ.
    ณ นครหนานหนิง เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำข้อเสนอเรื่อง Green Lane เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทย ไปจีนผ่านพรมแดนทางบก ซึ่งจะรวมมิติการตรวจสินค้าจากต้นทางตามมาตรฐานจีนด้วย โดยเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกัน กต.จะจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อส่งให้ฝ่ายจีนพิจารณาต่อไป

๓) การเร่งก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าผลไม้ในด่านอื่นๆ ของจีน

  • จะเร่งรัดการดำเนินการ อาทิ ที่ด่านสถานีรถไฟโม่ฮานในมณฑลยูนนาน และเปิดใช้เป็นด่านจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งผลไม้จากไทยผ่านโครงการรถไฟจีน - ลาว หน่วยงาน GACC ของจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) ได้อนุญาต
    การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการตรวจผ่านสินค้าผลไม้ที่ด่านสถานีรถไฟโม่ฮานแล้ว ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมณฑลยูนนานอยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปี ๒๕๖๕

๔) การเพิ่มเส้นทางขนส่งสินค้าผลไม้จากไทยไปจีน

  • กษ.ได้ส่งรายละเอียดการเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้าผลไม้แบบ hybrid รถ+เรือ (เส้นทาง R12 - ท่าเรือหวุงอ่างหรือ/ท่าเรือไฮฟอง วน. - ท่าเรือชินโจว เขตฯ
    กว่างซีจ้วง) ให้ GACC พิจารณาแล้ว GACC อนุมัติสนามบินหนานหนิงอู๋ซวีเป็นด่านจำเพาะสำหรับนำเข้าสินค้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก ๑ แห่ง โดยเมื่อวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๕ สายการบินเทียนจินแอร์คาร์โก้ (Tianjin Air Cargo) ทำการบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ขนส่งทุเรียนจากไทยเข้าจีนทางสนามบินหนานหนิงแล้ว

๓. ความคืบหน้าการผลักดันให้ นศ.ไทยกลับไปเรียนที่ประเทศจีน

  • ปัจจุบัน จีนยังไม่อนุญาตให้ นศ.ต่างชาติเดินทางเข้าจีนอย่างเสรีเนื่องจากมาตรการ Zero COVID ของจีน อย่างไรก็ดี จีนเริ่มอนุญาตให้ นศ.จากบางประเทศ อาทิ ไทย เกาหลีใต้ หมู่เกาะโซโลมอน ปากีสถาน นิคารากัว รัสเซีย และศรีลังกา หรือ นศ.ของบางมหาวิทยาลัย อาทิ ม. Tianjin Juilliard ม. NYU Shanghai ม. Duke Kunshan และ นศ.ที่ได้รับทุนจากโครงการ Schwarzman Scholars ของ ม. Tsinghua สามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีนได้เท่านั้น
  • ฝ่ายไทยได้ผลักดันในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องกับฝ่ายจีนมาตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนได้เริ่มอนุญาตให้ นศ.ไทยเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีน โดยพิจารณาตามความจำเป็นและความพร้อมของ นศ. โดย นศ.ชุดแรก ๗๖ คนได้เดินทางกลับจีนเมื่อเดือน ก.พ. ๒๕๖๕ ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ของจีนอย่างเคร่งครัด
  • ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการประสานงานให้ นศ.ไทยชุดที่สองเดินทางกลับไปศึกษาที่จีนในอนาคตอันใกล้นี้

๔. พิธีมอบเงินความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครนผ่าน UNICEF (๖ มิ.ย ๒๕๖๕)

  • เมื่อวันที่ ๖ มิ.ย. ๒๕๖๕ รป.กต. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล ได้มอบเงินบริจาคในนามรัฐบาลไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวชาวยูเครนผ่านองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีนางคยองซัน คิม ผอ.องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย เป็นผู้รับมอบ ณ กต. ผอ.ยูนิเซฟฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลและทุกภาคส่วนของไทย และย้ำว่าความช่วยเหลือจากไทยมีความหมายอย่างยิ่งและจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาความทุกข์ยากของชาวยูเครน
  • รป.กต.กล่าวย้ำถึงความห่วงกังวลอย่างยิ่งของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์การสู้รบและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว
    ชาวยูเครนจำนวนมาก โดยเห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศควรให้ความสำคัญแก่การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวยูเครนอย่างเพียงพอและทันท่วงที
  • ไทยยินดีที่ได้มีส่วนส่งความช่วยเหลือผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูนิเซฟ ในครั้งนี้เพื่อร่วมสนับสนุนโครงการการให้ความช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบาง โครงการฯ ได้มีการดำเนินการอย่างแข็งขันและมีผลเป็นรูปธรรม
  • ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนไทย ได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครนผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สภากาชาดไทย สภากาชาดโปแลนด์ สภากาชาดยูเครน สอท.ยูเครน/ประเทศไทย และภาคเอกชนไทยในภูมิภาคยุโรป เป็นมูลค่ารวมกว่า ๑๑ ล้านบาท

๕. นิทรรศการครบรอบ ๒๕ ปี การก่อตั้งบิมสเทค (๑๓ - ๑๙ มิ.ย. ๒๕๖๕)

  • ตามที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือบิมสเทค วาระปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ และในปีนี้ เป็นปีครบรอบ ๒๕ ปีของการก่อตั้งบิมสเทค
  • กต.ขอเชิญร่วมชมนิทรรศการครบรอบ ๒๕ ปีของการก่อตั้งบิมสเทค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือบิมสเทคและผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ รวมถึงบทบาทการเป็นประธานของไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๙ มิ.ย. ๒๕๖๕ ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม
  • พิธีเปิดนิทรรศการจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. โดยมี รอง นรม./รมว.กต.เป็นประธาน พร้อมด้วยเลขาธิการบิมสเทค อธ.กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ ออท.ประเทศสมาชิกบิมสเทค/ประเทศไทย เข้าร่วมงานด้วย

๖. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

  • วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์์นายนิกรเดช พลางกูร ออท. ณ
    กรุงฮานอย ในหัวข้อ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกีฬาซีเกมส์ที่เวียดนาม”รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
  • วันศุกร์ที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายนิกรเดช พลางกูร ออท. ณ
    กรุงฮานอย หัวข้อ "2021 Southeast Asian Games in Vietnam" รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”

๗. รายการเวทีความคิด

  • วันพฤหัสบดีที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. สัมภาษณ์ อธ.สารนิเทศ และโฆษก กต. ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕ : นรม.ลาวเยือนไทย ก้าวใหม่ของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - ลาว” รับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”

๘. รายการ Spokesman Live!!!

  • วันศุกร์ที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะรีรันเทปการให้สัมภาษณ์นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ หัวข้อ “เมืองเจดดาห์ ประตูสู่โอกาสใหม่ของคนไทย” ติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”

 

* * * * *

 

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/dxejFgay0v/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

 

กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_9_มิย_65_as_delivered.pdf