สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ธ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ธ.ค. 2567

| 2,684 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์
โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น.

ณ ห้องบัวแก้ว และทาง Facebook live / Tiktok live กระทรวงการต่างประเทศ

 

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางเยือนเครือรัฐออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
    อย่างเป็นทางการ
  • ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จากนั้น ระหว่างวันที่ 12 - 15 ธันวาคม 2567 รัฐมนตรีฯ จะเดินทางเยือนนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการหารือร่วมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์
  • การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่มีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี เป็นกลไกการหารือที่ทั้งสองฝ่ายจัดขึ้นตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน ทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ค.ศ. 2022 - 2025 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูง โดยในปีนี้ ฝ่ายออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุม ครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ณ นคร Adelaide รัฐมนตรีฯ จะเป็นประธานร่วมกับนาง Penny Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการแสวงหาแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การค้าและการลงทุน การเกษตร และการศึกษา โดยเฉพาะภายหลังจากที่ไทยและออสเตรเลียประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เมื่อปี 2563
  • ในช่วงการเยือนออสเตรเลีย รัฐมนตรีฯ จะพบหารือกับ (1) ผู้สำเร็จราชการประจำรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (2) มุขมนตรีรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (3) รัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมและการค้า รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย และ (4) ผู้แทนภาคเอกชนชั้นนำของออสเตรเลีย เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย
  • การหารือร่วมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์เป็นกลไกการหารือที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนาย Winston Peters รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 18 - 19 ตุลาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายนิวซีแลนด์เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการหารือครั้งแรกในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ นครโอ๊คแลนด์ ซึ่งการหารือครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการสานต่อพลวัตของความสัมพันธ์และติดตามการจัดทำแผนร่างแถลงการณ์ร่วมและแผนปฏิบัติการ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์สู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ภายในปี 2569 ตามถ้อยแถลงร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ เมื่อเดือนเมษายน 2567 ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
  • ในช่วงการเยือนนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีฯ จะพบหารือกับ (1) รัฐมนตรีด้านการค้านิวซีแลนด์ และ (2) ผู้แทนภาคเอกชนของนิวซีแลนด์ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน
  • นอกจากนี้ รัฐมนตรีจะเยี่ยมชุมชนชาวไทยในนครซิดนีย์ นครโอ๊คแลนด์ และกรุงเวลลิงตัน ระหว่างการเยือนเครือรัฐออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย

 

  1. ความคืบหน้ากรณีลูกเรือคนไทย 4 คนถูกจับกุมโดยกองทัพเรือเมียนมา
  • ในช่วงเย็นของวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ทางการเมียนมาได้ส่งตัวลูกเรือคนไทยทั้ง 4 คนไปยังจุดตรวจคนเข้าเมืองที่เกาะสองแล้ว
  • ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีฯ ได้สั่งการให้ผู้แทนกรมการกงสุลเดินทางไปเตรียมการรอรับลูกเรือคนไทยทั้ง 4 คนกลับสู่ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ รออยู่ที่ชายแดนจังหวัดระนอง
  • คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee: TBC) ได้ประสานงานกับผู้แทน TBC ฝั่งเมียนมาเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องในการส่งตัวลูกเรือคนไทยกลุ่มดังกล่าวกลับสู่ประเทศไทย ซึ่งฝ่ายไทยจะพยายามดำเนินการให้ทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด

 

  1. “ต้มยำกุ้ง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก
  • เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ณ กรุงอาซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย มีมติให้ขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) ในบัญชีรายการตัวแทน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity – บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO
  • การขึ้นทะเบียน“ต้มยำกุ้ง” ในบัญชี RL ครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของไทย และถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในระดับสากลต่อคุณค่าและความสำคัญของ “ต้มยำกุ้ง” ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหารซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยที่มีการสร้างสรรค์ให้เข้ากับวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ตลอดหลายศตวรรษที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ รวมถึงความเรียบง่าย และวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ พึ่งพาตนเอง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์แสดงความยินดี และย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมถึงย้ำความพร้อมของไทยที่จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับนานาประเทศในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
  • นอกจากนี้ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมฯ ยังมีมติรับรองข้อตัดสินใจการขึ้นทะเบียน “เคบายา” ในบัญชี RL ด้วย ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนร่วมกันระหว่างไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เคบายาเป็นเสื้อสตรีพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายบาบ๋า - เพอรานากันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย
  • ปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว 6 รายการ ได้แก่ โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) สงกรานต์ในประเทศไทย (2566) ต้มยำกุ้ง และเคบายา (2567 – ขึ้นทะเบียนร่วมกับบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์)

 

  1. พิธีมอบรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2567
  • ในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 - 20.00 น. มูลนิธิไทยและกระทรวงการต่างประเทศจะจัดพิธีมอบรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2567 หรือ Thailand’s Public Diplomacy Award 2024 ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
  • รางวัลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ซึ่งได้สร้างชื่อเสียง เกียรติภูมิ และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทยจนเป็นที่ประจักษ์ ในหมู่ชาวต่างชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรเหล่านั้นดำเนินกิจกรรมต่อไป พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า
    ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การทูตสาธารณะของไทย โดยได้จัดการมอบรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2565
  • ปีนี้ คณะกรรมการมูลนิธิไทยมีมติเห็นชอบถวายรางวัลการทูตสาธารณะปี 2567 แด่พระพรหมพัชรญาณมุนี หรือ ฌอน ไมเคิล ชยสาโร และมอบรางวัลแก่นายสมเถา สุจริตกุล และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์รวม 3 รางวัล
  • เกียรติประวัติโดยย่อของผู้ได้รับรางวัล
  • (1) พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ไมเคิล ชยสาโร) เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด มีความสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัย และตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทไทยให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างแพร่หลายและต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ ผ่านการสนทนาธรรม การนำปฏิบัติกรรมฐาน และหนังสือกว่า 100 เล่ม ทำให้ชาวต่างชาติสนใจในพุทธธรรม และเดินทาง เข้ามาศึกษาหลักคำสอนในประเทศไทย
  • (2) นายสมเถา สุจริตกุล เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) ประจำปี 2565 สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 50 ปี เผยแพร่อัตลักษณ์ของไทยและความสามารถของศิลปินไทย ผ่านผลงานด้านดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชม อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
  • (3) สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรที่อนุรักษ์และเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 120 ปี โดยการเป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอความรู้ในสาขาวิชาศิลปวัฒนธรรม สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นแหล่งตีพิมพ์งานวิจัย
    และงานเขียนที่ได้รับการอ้างอิง สืบค้น รวมถึงส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในวงการวิชาการระหว่างประเทศ ตลอดจนเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระดับประชาชนจากหลากหลายวัฒนธรรม และระดับสถาบันสู่สถาบัน ผ่านการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวิชาการด้วย
  • ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมงานและประชาสัมพันธ์ผู้ได้รับรางวัลฯ ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทูตสาธารณะของไทยได้

  1. การตรวจเยี่ยมช้างไทย 2 เชือก ที่ประเทศศรีลังกา
  • ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ให้กระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปตรวจสอบสภาพ ความเป็นอยู่ของช้างที่ไทยมอบให้ศรีลังกา 2 เชือก ได้แก่ พลายประตูผา ที่เมืองแคนดี้ และพลายศรีณรงค์ที่เมืองรัตนปุระ เมื่อวันที่ 12 - 16 สิงหาคม 2567 คณะผู้แทนไทยจาก (1) กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา (2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (3) สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง ได้เดินทางไปหารือกับกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา และตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของช้างทั้ง 2 เชือกแล้ว พบว่ามีสุขภาพแข็งแรงและสภาพความเป็นอยู่เหมาะสมตามหลักสวัสดิภาพพื้นฐาน
  • คณะได้พบหารือกับกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ซึ่งได้ให้คำมั่นในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างไทย ให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Five Freedoms of Animal Welfare) ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแบ่งปันความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับวิธีการดูแลช้างอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการจัดที่นอนของช้างให้ถูกสุขลักษณะและการไม่นำช้างไปใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยคำนึงถึงบริบทและความเคารพในความแตกต่างทางประเพณีและวัฒนธรรมของไทยและศรีลังกา
  • หลังจากนี้ ฝ่ายไทยจะจัดให้สัตวแพทย์ติดตามและตรวจเยี่ยมช้างไทยในศรีลังกาเป็นระยะ รวมถึงจัดทำข้อเสนอวิธีการดูแลช้างไทยให้ฝ่ายศรีลังกาพิจารณา โดยมีกรอบระยะเวลาเพื่อประเมินความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทยกับศรีลังกาเรื่องการดูแลช้างและ
    การพัฒนาสายพันธุ์ช้างด้วย

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1LBCYeWKXb 



รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ