สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐ สมัยพิเศษ และการเยือนสหรัฐฯ ของ นรม. (๑๒ - ๑๓ พ.ค. ๖๕)
- นรม.ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน ในวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐฯ ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน (Joe Biden) ปธน.สหรัฐฯ
- นรม.และผู้นำอาเซียนได้พบหารือกับ ปธน.สหรัฐฯ นางคามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รอง ปธน.สหรัฐฯ นางแนนซี เพอโลซี (Nancy Pelosi) ปธ.สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้แทนพิเศษระดับสูงจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และนายจอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนผู้นำภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce: USCC) และคณะนักธุรกิจ National Center for APEC (NCAPEC)
- นรม.เน้นย้ำกับฝ่ายสหรัฐฯ ถึงความสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวต่อไปสู่ยุค “ความปกติถัดไป” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้ผลักดันความร่วมมือใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่
(๑) การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค การทำงานร่วมกับอาเซียนและผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งเสนอให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญประเด็นด้านมนุษยธรรมเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจากสภาวการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่าง ๆ
(๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน เชิญชวนให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ร่วมลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค อาทิ สาขายานยนต์ไฟฟ้า และ
(๓) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ และการร่วมมือกันผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล
- ปธน.สหรัฐฯ รวมทั้งผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เน้นย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ พร้อมทั้งประกาศข้อริเริ่มใหม่จำนวน ๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้าน
การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา ความร่วมมือทางทะเล และความมั่นคงด้านสาธารณสุข
- ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน และปธน.สหรัฐฯ ยังได้ประกาศการเสนอชื่อนายโจฮานเนส อะเบเบ อับราฮัม (Johannes Abebe Abraham) ให้เป็น ออท.สหรัฐฯ ประจำอาเซียนด้วย
- สำหรับภารกิจของ รอง นรม./รมว.กต. เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๖๕ ได้พบหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รมว.กต.สหรัฐฯ เรื่องการส่งเสริม
ความร่วมมือที่มีอยู่ในทุกมิติอย่างครอบคลุม ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการรับมือกับโควิด-๑๙ การป้องกันและ
ปราบปรามการค้ามนุษย์ และการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านระหว่างวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยกับสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖ เป็นไปอย่างมีความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ
- นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนและการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา
- เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๖๕ รอง นรม./รมว.กต.ได้พบหารือกับนายจอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้แทนพิเศษของ ปธน.สหรัฐฯ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อหารือถึงแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทยและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ และสามารถเชื่อมโยงต่อไปยังวาระการเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ
๒. ผลการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ รอง นรม./รมว.กต. (๑๕ - ๑๙ พ.ค. ๖๕)
- รอง นรม./รมว.กต. นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน ๗๘ คน จาก ๒๘ หน่วยงาน และภาคธุรกิจ จำนวน ๕๗ คน จาก ๓๙ บริษัท เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
- การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีภายหลังการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ รวมถึงติดตามประเด็นที่สองประเทศแสดงเจตนารมณ์ผลักดันร่วมกันภายหลังการเยือนของ นรม. เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อเดินทางถึง รมว.การลงทุน ซาอุดีฯ ได้ให้การต้อนรับ รอง นรม./รมว.กต. ที่สนามบิน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ รมว.การลงทุนเดินทางมารับผู้แทนต่างชาติถึงสนามบิน
- รอง นรม./รมว.กต. ได้พบหารือกับรัฐมนตรี ๓ กระทรวงของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ รมว.การลงทุน รมว.กต. และ รมว.การท่องเที่ยว
- ในการพบกับ รมว.การลงทุน ได้มีการหารือการจัดทำแผนขับเคลื่อน หรือ roadmap ส่งเสริมการลงทุน เชิญชวนซาอุดีฯ ลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ดิจิทัล สุขภาพและสุขภาวะ และสมาร์ทโลจิสติก
- ในการพบหารือกับ รมว.ท่องเที่ยวซาอุดีฯ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ โดยไทยมุ่งแบ่งปันประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศแก่ซาอุดีฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ
การแพทย์ และโรงแรม ขณะที่ซาอุดีฯ มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการโรงแรมในภูมิภาค
- ในการหารือกับ รมว.กต.ซาอุดีฯ ทั้งสองยินดีความก้าวหน้าหลังการปรับความสัมพันธ์และหารือแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือ (roadmap) และการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีฯ – ไทย สนับสนุนการเยือนในระดับสูง ความร่วมมือด้านกงสุล และกรอบพหุภาคี รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ยูเครนด้วย
- รอง นรม./รมว.กต. ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Saudi - Thai Investment Forum ซึ่งเป็นการพบปะครั้งแรกของเอกชนไทยและซาอุดีฯ จากหลายสาขา เพื่อเสริมการค้าและการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพของทั้งสองฝ่าย และชี้ว่าวิสัยทัศน์ ๒๐๓๐ ของซาอุดีฯ ซึ่งเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมที่สุด สอดคล้องกับการขับเคลื่อนและการพัฒนาไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ภาคเอกชนของสองฝ่ายมีโอกาสหารือถึงโอกาสและความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีบริษัทซาอุดีฯ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า ๑๑๐ บริษัท
- นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าซาอุดีฯ รวมทั้งระหว่างบริษัทเอกชนของไทย ได้แก่ Gulf of Energy, Indorama Ventures, Siam Cement Group, Minor Hotel กับกระทรวงการลงทุนซาอุดีฯ และบริษัทเอกชนซาอุดีฯ อีก ๔ ฉบับ โดย รอง นรม./รมว.กต.เป็นสักขีพยาน ร่วมกับ รมว.การลงทุนซาอุดีฯ
- รอง นรม./รมว.กต. ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน Thailand Halal Food Festival 2022 ที่ตลาด Hypermarket ชื่อ Lulu ณ กรุงริยาด ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยในซาอุดีฯ
- รอง นรม./รมว.กต. และคณะศึกษาดูงานที่เมือง Al-Ula (อัลอูลา) ซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมว่า ๓ พันปีก่อนคริสตกาล รบ.ซาอุดีฯ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยประกาศ Al-Ula Vision ซึ่งสอดคล้องกับ Saudi Vision 2030 เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างรีสอร์ท/เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ
- รอง นรม./รมว.กต. และคณะได้เดินทางไปนครเจดดาห์เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำและกิจกรรม Business Matching จัดโดยสภาหอการค้าเจดดาห์และมักกะ โดยมีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมกว่า ๓๘ บริษัท จาก ๑๔ สาขา และมีนักธุรกิจจากเจดดาห์และมักกะเข้าร่วมกิจกรรมถึง ๗๓ บริษัท เจดดาห์เป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของ
ซาอุดีฯ โดยประเด็นที่กลุ่มธุรกิจไทยและซาอุดีฯ มีความสนใจร่วมกัน คือ การท่องเที่ยว บริการและสุขภาพ ธุรกิจการชะลอวัย ศูนย์ดูแลสุขภาพ พลังงานสะอาด วัสดุก่อสร้าง ห่วงโซ่อุปทาน และดิจิทัล
- ในวันที่ ๑๘ พ.ค. ๒๕๖๕ คณะได้เยี่ยมชม King Abdullah Economic City นอกเมืองเจดดาห์ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญในภาคตะวันตกของซาอุดีฯ และเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 เพื่อสำรวจศักยภาพและลู่ทางที่จะลงทุนด้านการท่องเที่ยว การบริการ และการโรงแรม
- ผลลัพธ์สำคัญของการเยือน คือ การสร้างโอกาสในการสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ
(๑) ด้านแรงงาน ซาอุดีฯ กำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาเมือง ทำให้มีความต้องการแรงงานไทยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบริการ
(๒) ด้านการเกษตร ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนปุ๋ยเคมีจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รอง นรม./รมว.กต. ได้เสนอขอซื้อปุ๋ยเคมี
โดย รมว.การลงทุนซาอุดีฯ ตอบว่าขณะนี้มีหลายประเทศที่ติดต่อขอซื้อปุ๋ย แต่ซาอุดีฯ จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไทยก่อน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดในโอกาสต่อไป
(๓) ด้านอาหาร มีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารฮาลาลจากไทยกว่า ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ รายการ แสดงให้เห็นว่าคนซาอุดีฯ นิยมอาหารไทยค่อนข้างมาก
ภาพลักษณ์การรับรองฮาลาลของไทยค่อนข้างเป็นที่ชื่นชอบ การปรับความสัมพันธ์อย่างรวดเร็วระหว่างไทยกับซาอุดีฯ นอกจากนี้ ซาอุดีฯ ยังมีความสนใจในทุเรียนไทยเป็นอย่างมาก
(๔) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจซาอุดีฯ สนใจไปศึกษาดูงานโรงงานที่ไทย
(๕) ด้านวัสดุก่อสร้าง ซาอุดีฯ มีแผนการขยายเมืองจึงทำให้มีความต้องการสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก
(๖) ด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ภาคธุรกิจของซาอุดีฯ ประสงค์เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนความรู้กับไทย โดยรวมถึงการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มโรงพยาบาล ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพของไทย
(๗) ด้านการตรวจลงตรา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) หนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างกัน ขณะที่ฝ่ายซาอุฯ รับที่จะไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนไทย ๘๐๐ คนที่อยู่ในซาอุดีฯ จนเกินกำหนดวีซ่าด้วย
- ภาคเอกชนไทยกล่าวว่าการไปเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้เกินความคาดหวังและประทับใจอย่างมาก ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายมีความกระตือรือร้นและตั้งใจจะทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในยุคหลังโควิด-๑๙
๓. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (๙ - ๑๙ พ.ค. ๖๕)
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ (SOM2) เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ physical และ online ประมาณ ๑,๒๐๐ คน จาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้สานต่อการขับเคลื่อนหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย (“Open. Connect. Balance.”) มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลัง
โควิด-๑๙ เพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหาแนวทางรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยมีผลลัพธ์สำคัญ ๓ ด้าน ดังนี้
(๑) เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ไทยตั้งเป้าหมายนำประเด็นความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-๑๙ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้เอเปคจัดทำแผนงานเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมของสมาชิกเอเปคเพื่อเข้าร่วมความตกลงฯ ในอนาคต
(๒) เชื่อมโยงในทุกมิติ ไทยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูการเดินทางในเอเปคอย่างสะดวกและปลอดภัยซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ที่ประชุม SOM2 เห็นพ้องให้เอเปคเดินหน้าตามข้อเสนอของไทยเพื่อทำให้การตรวจสอบเอกสารประกอบการเดินทางข้ามพรมแดนรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคของใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน ตามเป้าหมายภายในเดือน ส.ค. ๒๕๖๕ รวมทั้งเห็นพ้องให้เอเปคมีหลักการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนในภูมิภาคตามความสมัครใจ
(๓) สร้างสมดุลในทุกด้าน ไทยได้เสนอจัดทำเอกสารระดับผู้นำภายใต้ชื่อ “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG” เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อน
ความยั่งยืนในภูมิภาค ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในร่างเอกสารฯ เพื่อพัฒนาและเสนอให้ที่ประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ ในเดือน พ.ย. นี้รับรองต่อไป
- การประชุม SOM2 เป็นก้าวสำคัญที่ไทยได้ขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคมาได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งไทยจะยังคงเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามแผน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล ให้คนไทยและทุกคนในภูมิภาคต่อไป
๔. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายรชา อารีพรรค ผอ.กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “ไทยเป็นประธาน BIMSTEC ปี ๒๕๖๕” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- วันศุกร์ที่ ๒๐ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) ได้สัมภาษณ์นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ ออท. ณ กรุงไนโรบี หัวข้อ "Africa Day" รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๕. รายการเวทีความคิด
- วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๐.๕๘ น. รายการ “เวทีความคิด” ช่วงสายตรงจาก กต. ได้สัมภาษณ์ อธ.สารนิเทศและโฆษก กต. ในหัวข้อ “ไทยในเวทีโลก ปี ๒๕๖๕ : ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ” รับฟังได้ทาง FM 96.5 หรือรับฟังย้อนหลังทาง youtube “MFA Thailand Channel”
* * * * *
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/d6U6yKPNMY/
คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand
กองการสื่อมวลชน
กรมสารนิเทศ