สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ม.ค. 2566

| 9,217 view

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ณ ห้องประชุมกรมสารนิเทศ และทาง Facebook live กระทรวงการต่างประเทศ

 

๑. การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส (๑๖ - ๑๗ ม.ค. ๒๕๖๖)

  • นายจูเวา โกมึช กราวีญู รมว.กต.โปรตุเกส ได้เดินทางเยือนไทย นับเป็นการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง รมว.กต. โปรตุเกส เมื่อเดือนมี.ค. ๒๕๖๕ โดยได้เยือนไทยเป็นประเทศแรกต่อด้วยเวียดนาม และสิงคโปร์
  • รนรม./รมว.กต. ได้พบหารือกับ รมว.กต.โปรตุเกส ทั้งสองฝ่ายหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ อาทิ การเชิญชวนให้ภาคเอกชนโปรตุเกสมาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งเห็นพ้องให้จัดการประชุมหารือทวิภาคีทางการเมือง (Political Consultations) ครั้งที่ ๓ ในโอกาสแรก นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน และอาเซียน
  • ระหว่างการเยือนครั้งนี้ รมว.กต. โปรตุเกสได้พบหารือกับกลุ่มนักธุรกิจไทยในโปรตุเกส ณ สอท.โปรตุเกสประจำประเทศไทย และได้เยี่ยมชมโบสถ์ซางตาครู้สและชุมชนกุฎีจีนด้วย
  • ก่อนหน้านี้ รนรม./รมว.กต. ได้เดินทางเยือนโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ ธ.ค. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งแรกในรอบกว่า ๓๐ ปี
  • โปรตุเกสเป็นประเทศยุโรปที่มีความสัมพันธ์กับไทยยาวนานที่สุดกว่า ๕๐๐ ปี (ครบรอบ ๕๑๒ ปี ในปีนี้) โปรตุเกสเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ ไทยและโปรตุเกสมีมูลค่าการค้ารวม ๒๗๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า โดยมูลค่าการส่งออกของไทยกว่า ๑๗๗.๔๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าจากโปรตุเกสมีมูลค่า ๘๕.๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปโปรตุเกส ได้แก่ (๑) พัดลม (๒) ผลิตภัณฑ์ยาง (๓) วงจรพิมพ์ (๔) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (๕) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
  • สินค้าที่ไทยนำเข้าจากโปรตุเกส ได้แก่ (๑) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (๒) เสื้อผ้าสำเร็จรูป (๓) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (๔) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (๕) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ
  • โปรตุเกสเป็นหนึ่งในตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยในยุโรปใต้ นักท่องเที่ยวโปรตุเกสที่เดินทางมาไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มฮันนีมูน กลุ่มเล่นกอล์ฟ และนักท่องเที่ยวทั่วไป
  • ชุมชนไทยในโปรตุเกสมีประมาณ ๑,๗๔๐ คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ผู้มีถิ่นพำนักระยะยาว เจ้าของกิจการร้านอาหารไทย พนักงานนวดแผนไทย พ่อครัว และแม่บ้าน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในโปรตุเกสอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวน ๑,๔๐๐ คน ผ่านกระทรวงแรงงาน และเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างเก็บผลไม้ในฟาร์มการเกษตร

 

๒. พระธรรมพัชรญาณมุนีเยี่ยมเยียนพุทธศาสนิกชนในรัฐมหาราษฏระ อินเดีย (๘ - ๑๖ ม.ค. ๒๕๖๖)

  • นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ได้ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่คณะของพระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) ที่เดินทางไปเทศนาโปรดพุทธศาสนิกชนในประเทศอินเดีย โดยได้เดินทางไปเมืองอารังคาบัด (Aurangabad) เมืองบุลธนา (Buldhana ) เมืองอะโกลา (Akola) เมืองเมอร์ติซาปูร์ (Murtizapur) เมืองอมราวตี (Amaravati) เมืองนาคปุระ (Nagapura) และเมืองมุมไบ ตามคำนิมนต์ของพุทธศาสนิกชนชาวอินเดียและชาวไทยที่เลื่อมใสศรัทธา
  • พระธรรมพัชรญาณมุนีได้พบปะเยี่ยมเยียนพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งได้แสดงธรรมและสอนการทำสมาธิ ในโอกาสนี้ได้เปิดตัวหนังสือ Without and Within ที่แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษา มราฐี (ภาษาทางการของรัฐมหาราษฏระ) เป็นครั้งแรก โดยเป็นหนังสือรวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยที่ยังเป็นข้อสงสัย ในรูปแบบกระชับ อ่านง่าย และได้มีการจัดพิมพ์ป็นภาษาต่าง ๆ ไปแล้วรวม ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม ท่านผู้สนใจสามารถ Download หนังสือภาคภาษาอังกฤษได้ทาง https://amaravati.org/dhamma-books/without-and-within/
  • สกญ. ณ เมืองมุมไบ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้ไปร่วมฟังธรรม โดยการเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แม้ชุมชนชาวพุทธในรัฐมหาราษฏระจะมีจำนวนไม่มากนัก เพียงร้อยละ ๕.๘ ของประชากรทั้งหมดในรัฐ แต่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มเข็ง เพียงแต่ขาดแคลนพระสงฆ์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนามาอบรมสั่งสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้มีพุทธศาสนิกชนชาวอินเดียมาร่วมฟังธรรมและนั่งสมาธิอย่างเนืองแน่น
  • การอำนวยความสะดวกให้พระธรรมทูต การดูแลวัดไทยและการเข้าร่วมทางกิจกรรมทางศาสนา หรือร่วมกันจัดกับชุมชนไทยในต่างประเทศ เป็นภารกิจที่สำคัญของ สอท./สกญ. ไทยทั่วโลก เพื่อให้ชุมชนมีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังส่งเสริมกิจกรรมของผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ อีกด้วย อาทิ การอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ หรือกิจกรรมการแข่งขันอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นต้น

 

๓. การพัฒนาการให้บริการประชาชนของกรมการกงสุล (๑๘ ม.ค. ๒๕๖๖)

  • กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญในลำดับต้นต่อภารกิจการให้บริการประชาชน กรมการกงสุลมีนโยบายการปรับปรุงพัฒนาระบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
  • โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๖๖ ผู้บริหาร กต. นำโดยปลัด กต. ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกรมการกงสุล โดยเฉพาะการพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบ e-Services อาทิ
    • การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอหนังสือเดินทาง เช่น การยื่นคำร้องผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเอง โดยจะเริ่มให้บริการในปี ๒๕๖๙
    • แผนการขยายการให้บริการตู้ทำหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (kiosk) ไปยังสำนักงานหนังสือเดินทางในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้นในปีนี้ ขณะนี้ มี kiosk ให้บริการอยู่ที่ สนง.นสดท. ปทุมวัน (MBK Center) และ สนง.นสดท. บางใหญ่ (Central Westgate)
    • ระบบ e-Legalization ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการนิติกรณ์เอกสาร ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินโครงการนำร่องที่กรมการกงสุลแล้ว และมีแผนขยายบริการไปยังต่างจังหวัดภายในปีนี้
    • ระบบ e-Visa ระยะที่ ๒ ที่ีจะขยายไปยัง สอท./สกญ.ในต่างประเทศให้มากขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ ๑ ครอบคลุม สอท./สกญ. ๓๘ แห่งใน ๒๓ ประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกชาวต่างชาติอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
    • ระบบ e-Help ใช้เก็บฐานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งในช่วงกลางปี ๒๕๖๖ จะพัฒนาระบบให้ประชาชนสามารถเข้ามายื่นคำร้องทุกข์ และติดตามสถานการณ์ขอรับความช่วยเหลือได้
    • การเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

 

๔. พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ (๒๖ ม.ค. ๒๕๖๖)

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ในวันที่ ๒๖ ม.ค. ๒๕๖๖ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  • รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระราชทานให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานหรือมีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ประกอบด้วย ๒ สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์ และสาขาการสาธารณสุข
  • รางวัลนี้อยู่ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๕ เนื่องในวโรกาส ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จ
    พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลฯ จะจัดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. ของทุกปี โดยพิธีพระราชทานรางวัลฯ ครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖
  • ในปี ๒๕๖๕ มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน ๔ ราย ได้แก่
    • (๑) สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
    • (๒) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี และ ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ ซึ่งร่วมกันทำการศึกษาวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านมะเร็งปากมดลูก
    • (๓) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านมะเร็งปากมดลูก
  • โดยในปี ๒๕๖๕ มีบุคคล/องค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลฯ จำนวน ๘๘ ราย จาก ๓๔ ประเทศ
  • รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประกอบด้วย (๑) ประกาศนียบัตร (๒) เหรียญรางวัล (๓) เงินรางวัล รางวัลละ ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตั้งแต่ปี
    ๒๕๓๕ – ๒๕๖๔ รวมระยะเวลา ๓๐ ปี มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น ๙๐ ราย
  • ขอเชิญชมการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ม.ค. ๒๕๖๖ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๑๐ น.
    • ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ MCOT HD เป็นแม่ข่าย สามารถรับสัญญาณแพร่ภาพ/เสียงในประเทศ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) สถานีโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก สถานีข่าว True vision
    • ถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ-ภาษาไทย โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ต และสัญญาณถ่ายทอดพิธีฯ ทางอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของ MCOT (http://tv.Mcot.net/index) และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (princemahidolaward.org)

 

๕. วารสารวิทยุสราญรมย์ในรูปแบบ e-Book

  • วิทยุสราญรมย์เป็นสื่อของกระทรวงการต่างประเทศที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการต่างประเทศทางคลื่นวิทยุ AM 1575 KHz ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการเพิ่มเติมรูปแบบในการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ mfa.go.th และเฟสบุ๊ค Saranrom Radio ด้วย
  • กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมสารนิเทศ ได้จัดทำวารสารวิทยุสราญรมย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ - ๒๕๖๕ เพื่อรวบรวมบทความด้านการทูตและการต่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น ๘๙ ฉบับ โดยฉบับล่าสุดเป็นการปรับโฉมใหม่ ภายใต้ชื่อ MFA Thailand Channel เพื่อให้ทันสมัยและน่าสนใจยิ่งขึ้น
  • วารสารวิทยุสราญรมย์ได้รวบรวมบทความที่น่าสนใจ มีทั้งสาระความรู้ และเกร็ดปกิณกะที่น่าสนใจจากประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภารกิจด้าน การต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ และเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านด้วยเรื่องราวมากมายจาก     ทั่วทุกมุมโลก
  • ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านวารสารวิทยุสราญรมย์ในรูปแบบ e-Book ได้ทางเว็บไซต์mfa.go.th และเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ

 

* * * * *

รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/i9Wjw864T3/

คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

pwp_ประกอบการแถลงข่าว_20_มค_66_as_delivered.pdf