สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (๒๐-๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕)
- รนรม./รมว.กต. และนางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษา รมว.กต.จะเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) ซึ่งฝรั่งเศสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส
- ฝรั่งเศสได้เชิญ รมว.กต.ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ รวมทั้งแคนาดา รวม ๕๗ ประเทศ
เข้าร่วม โดยจะมีการเสวนาโต๊ะกลมรายสาขาใน ๓ เวที คือ (๑) การป้องกันประเทศและความมั่นคง (๒) ความเชื่อมโยงและประเด็นดิจิิทัล และ (๓) ประเด็นระหว่างประเทศ (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณสุข) โดย รนรม./รมว.กต.จะเข้าร่วมและกล่าวในเวทีประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทนําของไทยและการผลักดันผลประโยชน์ของไทยตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของอาเซียน (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific – AOIP) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป
- รนรม./รมว.กต.จะหารือทวิภาคีกับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) รมว.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส และจะร่วมลงนามในแผนการ (Roadmap) สําหรับการดําเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนผลประโยชน์ของไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
๒. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (๑๗ ก.พ. ๒๕๖๕)
- รนรม./รมว.กต.จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting Retreat: AMM Retreat) ผ่านระบบ
การประชุมทางไกล
- การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของปี โดยกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๕ จะนำเสนอแนวคิดหลัก “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together” ที่เน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้สามารถรับมือปัญหาท้าทายที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน
- รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะสานต่อประเด็นที่ผู้นำอาเซียนได้หารือกันในการประชุมสุดยอดครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙ เมื่อปี ๒๕๖๔ โดยเฉพาะการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีภายนอก รวมทั้งจะแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและประเด็นท้าทายของโลก รวมถึงการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาด้วย
- รนรม./รมว.กต.จะผลักดันความร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และชูบทบาทนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
ทั้งในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕ การเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น
๓. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (๑๔ ก.พ. ๒๕๖๕)
- รนรม./รมว.กต.พบหารือกับ ดร. มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ( Mohammad bin Abdulkarim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League: MWL) ที่ กต.
- ทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นการแสวงหาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนมุมมองในการอยู่ร่วมกันโดยสันติในสังคม เลขาธิการ MWL กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมทั้งชื่นชมนโยบายของรัฐบาลไทยในการสร้างปฏิสัมพันธ์ เสรีภาพและความปรองดองในสังคม ซึ่งเลขาธิการ MWL พบว่าคนไทยทุกเชื้อชาติและศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยมีความเคารพกฎหมายบ้านเมือง มีจิตสำนึกในการแบ่งปัน
ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของรัฐบาลที่จะขอนำไปศึกษาและปรับใช้เป็นแบบอย่างสำหรับ MWL ในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดองในประเทศและเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ
- เลขาธิการ MWL ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีกำหนดเข้าเฝ้าเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เข้าเยี่ยมคารวะประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร จุฬาราชมนตรี และพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และจะเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๘ ก.พ. ๒๕๖๕ ด้วย
๔. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ ๑ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (๑๔-๒๕ ก.พ. ๒๕๖๕)
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ. ๒๕๖๕ โดยคณะผู้แทนไทยได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้แทนเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคในการประชุมคณะทำงานต่าง ๆ รวม ๑๙ กลุ่ม ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การประมงและทรัพยากรทางทะเล ทรัพย์สินทางปัญญา พิธีการศุลกากร และการส่งเสริมการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล การประชุมในช่วง ๔ วันแรกแบ่งเป็น ๒ หัวข้อหลักคือ
- หัวข้อ (๑) การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมิติการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน โดย ๓ การประชุมคณะทำงานเน้น ได้แก่
- การประชุมคณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง ได้หารือแนวทางการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing - IUU) และการลดขยะทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งการจัดทำแผนงานการส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งไทยได้นำเสนอโครงการการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการข้อมูลการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และการอบรมเชิงเทคนิคด้านการจัดการขยะทะเล
- การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง มีการหารือผลกระทบของสถานการณ์โควิด-๑๙ ต่อการค้าไม้ผิดกฎหมายและแนวทางการรับมือ การนำนวัตกรรมมาส่งเสริมการค้าไม้ถูกกฎหมาย รวมทั้งเตรียมการจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ ๕ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ส.ค. ๒๕๖๕ โดยไทยจะนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการอำนวยความสะดวกการค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้
- การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยเป็นประธาน ได้หารือเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี
ค.ศ. ๒๐๓๐ และปฏิญญาว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคในช่วงเดือนสิงหาคมต่อไปด้วย ที่ประชุมฯ จะเน้นการนำแนวคิด BCG และการนำนโยบาย 3S (Security, Safety, Sustainability) มาส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
- การส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในฐานะเจ้าภาพเอเปค ตลอดทั้งปี ไทยจะผลักดันการนำแนวคิด BCG มาขับเคลื่อนการทำงานของเอเปคเพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ ควบคู่กันไป การประชุมคณะทำงานต่าง ๆ จึงถือเป็นบันไดสำคัญเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การประชุมที่เป็นรูปธรรมที่จะให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคร่วมกันรับรองในที่ประชุมผู้นำฯ ในเดือนพฤศจิกายนต่อไป
- หัวข้อ (๒) การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล มาใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและสุขภาวะที่ดี เช่น
- การประชุมหุ้นส่วนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หารือถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนและสร้างภูมิภาคที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยไทยได้นำเสนอข้อริเริ่มการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความยั่งยืนของ SMEs ในภูมิภาครวมทั้งการจัดการขยะชุมชนตามแนวทาง BCG
- คณะอนุกรรมการด้านพิธีการศุลกากร ไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคโควิด-๑๙ และสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าดิจิทัล
- กลุ่มงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยเป็นประธานจะช่วยขับเคลื่อนการทบทวนการทำงานของเอเปคตามแผนแม่บทเอเปคด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล และได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรฐานเอกสารทางการค้าดิจิทัลในเอเปคร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าดิจิทัล
- คณะทำงานด้านสุขภาพ ไทยเป็นประธานและมีการหารือเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมด้านสุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเสริมสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ โดยไทยจะจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ ด้วย
- การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อการต่อต้านการทุจริต” และได้หารือร่วมกับคณะทำงานฯ เกี่ยวกับการยกร่างแผนยุทธศาสตร์เอเปคในการต่อต้านการทุจริตฯ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๙
- การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และมีพลวัตและเป็นกลไกหลักของแนวคิด BCG การประชุมข้างต้นนี้จึงช่วยวางกรอบการดำเนินงานของคณะทำงานต่าง ๆ ของเอเปคให้เอื้อต่อการผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลต่อไป
๕. การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งที่ ๑ (๑๕-๑๗ ก.พ. ๒๕๖๕)
- สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (เอแบค) ได้จัดการประชุมเอแบค ครั้งที่ ๑ แบบผสมผสาน ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ ก.พ. ๒๕๖๕ ที่สิงคโปร์ โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานเอแบคประจำปี ๒๕๖๕ เป็นประธาน ในการนี้ นายธานี ทองภักดี ปลัด กต. และประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้เข้าร่วมการประชุมในวาระการประชุมเต็มคณะ และการหารือระหว่างเอแบคกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (ABAC-SOM Dialogue) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจของเอเปคในวาระการเป็นประธานของไทย
- ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้รายงานผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค สภาวะเศรษฐกิจและ
การคลัง เศรษฐกิจดิจิทัล การรื้อฟื้นการเดินทาง ไปจนถึงการสร้างความยั่งยืนและความครอบคลุมโดยเฉพาะการส่งเสริม SMEs ซึ่งจะถูกถ่ายทอดไปยังที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ ต่อไป
- สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือภาคเอกชนของเอเปค ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในการเปิดเสรีและอำนวย
ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน เอแบคจะจัดการประชุมปีละ ๔ ครั้ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำในช่วงปลายปี
- ที่ผ่านมา เอแบคมีบทบาทโดดเด่นในการผลักดันการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) และเรื่องบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business travel Card: ABTC)
๖. งานเสวนา “From Waste to Runway : รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก”
- กรมสารนิเทศ กต. ร่วมกับนิตยสาร VOGUE Thailand
จัดงานเสวนา “From Waste to Runway : รักษ์โลกแบบไทย ไปรันเวย์โลก” ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของผู้ที่อยู่ในแวดวงแฟชั่นและ Circular Fashion Industry ของไทยในระดับนานาชาติ วิทยากรได้แก่
- คุณฟอร์ด กุลวิทย์ เลาสุขศรี - บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue Thailand
- คุณหมู พลพัฒน์ อัศวะประภา - ดีไซเนอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ASAVA
- คุณโย ทรงวุฒิ ทองทั่ว - ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Renim Project สร้างชื่อเสียงด้วยแนวคิดความยั่งยืนและนำเสื้อผ้าสตรีตแวร์รักษ์โลก ไปโลดแล่นบนรันเวย์ LA Fashion Week
- คุณวัธ จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ - เจ้าของแบรนด์ SC GRAND ผู้ผลิตผ้า รีไซเคิลให้กับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำต่างๆ และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Circular ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากเส้นใยรีไซเคิล
- ดำเนินรายการโดย คุณเอ๊ด อกนิษฐ์ วิเชียรเจริญ
- การเสวนาดังกล่าวจะเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของไทย ตามแนวทางการผลักดันและส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F สู่ระดับโลก (Food/Film/Fashion/Fighting/Festival) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรากฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และ BCG Economy
- ผู้สนใจร่วมรับฟังการเสวนาดังกล่าวผ่าน Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศที่ com/ThaiMFA
๗. การเตรียมการสำหรับคนไทยในสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ซึ่งมีเขตอาณาดูแลประเทศยูเครนด้วย ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนไทยในยูเครน เช่น การตั้งกลุ่มไลน์พิเศษสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ และกลุ่มคนไทยในยูเครน (ประมาณ ๒๓๐ คน) หารือกับฝ่ายรัฐบาลยูเครน รัฐบาลโปแลนด์และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทยในการเตรียมแผนอพยพคนไทยในกรณีฉุกเฉิน ออกประกาศเตือนร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ ๑๓ ก.พ. ๒๕๖๕ ขอให้คนไทยที่ไม่มี
ความจำเป็นเร่งด่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยูเครนในระยะนี้
- นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เดินทางลงพื้นที่โดยรถยนต์ไปยังเมือง Lviv (ลวิฟ) ประเทศยูเครน
(อยู่ทางทิศตะวันตกของยูเครน ใกล้ชายแดนโปแลนด์) ระหว่างเมื่อ ๑๓-๑๕ ก.พ. ๒๕๖๕ เพื่อสำรวจความพร้อมในการที่จะใช้เมือง Lviv เป็นฐานในการอพยพคนไทยกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินหรือเดินทางเข้าโปแลนด์เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ในโอกาสดังกล่าว คณะของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้พบหารือกับผู้จัดการสนามบินนานาชาติเมือง Lviv และสำรวจเส้นทางจากเมือง Lviv ไปยังกรุงวอร์ซอ รวมทั้งสำรวจโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ศูนย์ตรวจ Covid-๑๙
- เอกอัครราชทูตฯ ได้เดินทางไปร้านสปา Wai Thai (ไหว้ไทย) เพื่อเยี่ยมคนไทยในพื้นที่และสอบถามความเป็นอยู่และสร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงได้มอบข้าวหอมมะลิให้ด้วย ซึ่งได้ทราบว่า คนไทยในพื้นที่ยังมีขวัญกำลังใจดี ไม่ตื่นตระหนก
- ในวันที่ ๑๗ ก.พ. ๒๕๖๕ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะร่วมการประชุมที่มีอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธาน เพื่อหารือในการเตรียมความพร้อมของแผนอพยพคนไทยในยูเครนหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องด้วย
๘. การมอบเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลตองกากรณีภูเขาไฟระเบิด (๑๖ ก.พ. ๒๕๖๕)
- น.ส. บุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เป็นผู้แทนรัฐบาลจัดพิธีถวายเงินช่วยเหลือจำนวน ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๘๗๕,๐๐๐ บาท) แด่ Her Royal Highness Princess Angelika Latufuipeka Tuku’aho เอกอัครราชทูตตองกาประจำออสเตรเลีย เพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูประเทศจากเหตุภูเขาไฟระเบิด
- เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้กราบทูลเอกอัครราชทูตตองกาประจำออสเตรเลีย เกี่ยวกับการบริจาคเงินของกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาชาวไทย ผ่านทาง กต. จำนวน ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท) เพื่อช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลตองกาอีกจำนวนหนึ่ง โดยเอกอัครราชทูตตองกา ในฐานะผู้แทนสมเด็จพระราชาธิบดี
ทูโพที่ ๖ รัฐบาลและประชาชนตองกา ได้ตรัสขอบพระทัยมิตรภาพของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในที่มีต่อตองกาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
- ทั้งสองฝ่ายถือโอกาสนี้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูตองกาจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด โครงการความร่วมมือไทย-ตองกา เพื่อพัฒนาแปลงเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สำนักพระราชวังตองกาและสถานการณ์โควิด-๑๙ ในไทยและตองกา
๙. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐-๐๘.๔๕ น. รายการ “บันทึกสถานการณ์” ทาง FM 5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายอดิศักดิ์ จันทาทุม นักการทูต
ชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หัวข้อ “งาน GSSD Expo 2022 คืออะไร ไทยได้ประโยชน์อย่างไร” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
- วันศุกร์ที่ ๑๘ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕-๐๘.๒๐ น. รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายอดิศักดิ์ จันทาทุม นักการทูตชำนาญการ
(ที่ปรึกษา) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หัวข้อ “What is GSSD Expo 2022? How can Thailand benefit from it?” รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube “MFA Thailand Channel”
๑๐. รายการ Spokesman Live!!!
- วันศุกร์ที่ ๑๘ ก.พ. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ
กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป หัวข้อ “คนไทยต้องปรับตัวอย่างไรในวันที่ยุโรปเปลี่ยนทิศทาง” สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
* * * * *
รับชมแถลงข่าวย้อนหลัง: https://fb.watch/bdIRTLaSsl/
คลิปแถลงข่าว: ช่อง Youtube “MFA Thailand Channel”: https://www.youtube.com/user/mfathailand