สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยร่วมลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนการรับมอบวัคซีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ กระทรวงการต่างประเทศ
- การมอบวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ของบริษัท AstraZeneca จำนวน ๑,๐๕๐,๐๐๐ โดส จากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีกำหนดถึงไทยในช่วงค่ำวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ สะท้อนถึงความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยและประเทศอาเซียน ซึ่งรัฐบาลไทยขอขอบคุณไมตรีจิตของรัฐบาลญี่ปุ่น
๒. การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔
- หารือเกี่ยวกับการจัด “การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร” (Thailand - UK Strategic Dialogue - SD) ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ และผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ และความร่วมมือภายใต้โครงการ Better Health Programme ในสาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
- ยินดีที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee – JETCO) โดยรัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งสามารถนำไปสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - สหราชอาณาจักร
- สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยเห็นว่าจะสามารถสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาเซียนด้วย นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรฯ เห็นว่า Phuket Sandbox เป็นนโยบายที่ดี โดยเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติและเพิ่มทางเลือกในการท่องเที่ยวและเดินทางเข้าไทย และพร้อมจะสนับสนุน
๓. ระบบการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry - COE) เพื่อรองรับนโยบาย Phuket Sandbox
- ผู้เดินทางเข้า Phuket Sandbox จะต้องมีคุณสมบัติและแสดงเอกสารสำคัญ ดังนี้
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติที่พำนักใน ๖๖ ประเทศ/พื้นที่เป้าหมาย (สถานะ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔) เป็นเวลาอย่างน้อย ๒๑ วัน
- หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ซึ่งสามารถลงทะเบียนขอรับได้จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์ https://coethailand.mfa.go.th
- ผลตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR ระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง
- เอกสาร Certificate of Vaccination ยืนยันการฉีดวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของไทย หรือได้รับการรับรองจาก WHO หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ครบโดสแล้วอย่างน้อย ๑๔ วันก่อนการเดินทาง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน และเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครอง ให้แสดงใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าไม่มี เชื้อโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR ระยะเวลา ไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง
- หลักฐานการชำระค่าที่พักและค่าตรวจหาเชื้อโรคโดยวิธี RT-PCR โดยระบุเวลาการเข้าพัก ไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน กับโรงแรมหรือสถานที่พักที่จองผ่านระบบมาตรฐาน SHA+ ที่ขึ้นทะเบียนตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด หรือจองที่พักผ่าน https://entrythailand.go.th/ กรณีที่ต้องการพํานักในภูเก็ตไม่ถึง ๑๔ วัน จะต้องมีบัตรโดยสารเที่ยวบินขาออก และเมื่อครบกำหนดพำนักจะต้องเดินทางออกจากไทย
- กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือหลักประกันกรณี ติดเชื้อโควิด-๑๙ ในวงเงินไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
- กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับปรุงระบบลงทะเบียน COE ออนไลน์เพื่อรองรับ Phuket Sandbox และได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลกเตรียมความพร้อม และเปิดระบบลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔
- ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ ๔,๑๐๐ คน โดยกรมควบคุมโรคได้ตรวจเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน ซึ่งอนุมัติไปแล้วกว่า ๕๐๐ ราย และตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกได้ออก COE สำหรับนักท่องเที่ยว Phuket Sandbox แล้ว ๒๔๙ ราย และทยอยเร่งออก COE อย่างต่อเนื่อง (สถานะ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ ๐๙.๓๐ น.)
- โดยที่มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ลงทะเบียนขอ COE ต้องแสดงหลักฐานการชำระค่าตรวจเชื้อโควิด-๑๙ กับโรงแรม/ที่พัก (ค่าตรวจโควิด ๓ ครั้ง ประมาณ ๘,๐๐๐ บาท) เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับ ผู้ที่ยื่นเอกสารอื่น ๆ ครบแล้ว และมีกำหนดเดินทางถึงไทยในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ททท.จะจัดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ที่ภูเก็ต ตามระยะเวลาที่พำนัก จึงสามารถยกเว้นเอกสารหลักฐานการชำระค่าตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ดังกล่าว
๔. การชี้แจงข่าวเท็จ/ข่าวบิดเบือน
๔.๑ กรณีข่าวบิดเบือนเรื่องรัฐบาลสหรัฐฯ เตือนประชาชนสหรัฐฯ ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศไทย
- ตามที่มีการรายงานข่าวบิดเบือนโดยเว็บไซต์บางแห่งว่า สหรัฐฯ เตือนประชาชนชาติสหรัฐฯ ไม่ให้เดินทางเข้าไทย โดยระบุว่า “The CDC rates Thailand as “very high” for Covid-19 level…” ขอชี้แจงว่า สหรัฐฯ มิได้ห้ามชาวสหรัฐฯ เดินทางเข้าไทย แต่ประกาศเตือนให้ชาวสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนพิจารณาหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นมายังไทย ตามคำแนะนำการเดินทางทั่วโลกของสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ซึ่งจัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน ๘๗ ประเทศที่อยู่ในระดับการเตือนภัยระดับ ๓ (สหรัฐฯ จัดไทยอยู่ในระดับ ๓ มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔) หมายถึงการเตือนภัยระดับสูง (High Level) โดยให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นแต่ไม่ได้ห้ามเดินทาง
๔.๒ กรณีข่าวบิดเบือนเรื่องฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้บุคคลที่ฉีดวัคซีนของจีนเดินทางเข้าประเทศ
- ฝรั่งเศสไม่ได้ห้ามบุคคลที่ฉีดวัคซีนของจีนเดินทางเข้าประเทศ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ (๑) แสดงเหตุจำเป็นในการเดินทางตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การศึกษา ทำงานในกิจการขนส่ง คณะทูตและครอบครัว ผู้โดยสาร Transit น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง (๒) ต้องตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยวิธี RT-PCR ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง และ (๓) ต้องได้รับการตรวจเชื้ออีกเมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศส
- เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยระบุว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่รับรองโดยองค์การยาสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) อาทิ Pfizer, Moderna, COVID-19 Vaccine Janssen และ Vaxzevria (AstraZeneca) (ตามจำนวนโดสและระยะเวลาที่ฉีดไปแล้วตามที่ฝรั่งเศสกำหนด) สามารถเดินทางเข้าฝรั่งเศสได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น แต่ต้องตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยวิธี RT-PCR ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน EMA ยังไม่ได้รับรองสูตรของวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตนอกสหภาพยุโรป และวัคซีนของจีน แต่ไม่มีข้อห้ามในการเดินทางเข้าฝรั่งเศส
- กระทรวงการต่างประเทศขอแนะนำให้บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางไปฝรั่งเศสตรวจสอบข้อมูลล่าสุดกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้ครบถ้วนก่อนการเดินทาง
๕. สถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
- จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง มีการจับกุมผู้ลักลอบ เข้าเมือง ระหว่างวันที่ ๑ - ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ถึง ๕,๓๖๙ ราย โดยเป็นชาวเมียนมา ๒,๒๔๙ คน สปป.ลาว ๕๔๐ คน กัมพูชา ๑,๒๔๗ คน มาเลเซีย ๙ คน ไทย ๖๒๒ คน สัญชาติอื่น ๆ ๑๕๓ คน และผู้นำพา ๑๑๔ คน ซึ่ง นับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
- กระทรวงกลาโหมได้ขอให้กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งทหารและตำรวจเพิ่มความเข้มงวดมาตรการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร และเพิ่มความถี่เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบริเวณชายแดนมาเลเซีย กัมพูชาและเมียนมา โดยให้เฝ้าระวังคนไทยที่ลักลอบข้ามแดนไปมาและบ่อนพนันและสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดนเป็นพิเศษ
๖. ประชาสัมพันธ์
๖.๑ รายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต- Spokesman Live!!! สัมภาษณ์นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ในหัวข้อ“ภารกิจการดูแลและบริการคนไทยในยุค New Normal” ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ”และ“Saranrom Radio”
๖.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- รายการบันทึกสถานการณ์ FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นางสาวจันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี หัวข้อ “ยุวทูตความดี : การทูตเพื่อเยาวชน” ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. และรับฟังทาง Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
- รายการ “MFA Update” FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายเกริกภูมิ จิตรานุเคราะห์ ผู้อำนวยการโครงการ สำนักเลขาธิการเอเปค ในหัวข้อ “APEC Secretariat in Singapore” ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ และรับฟังทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”
๖.๓ รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒ สัมภาษณ์นางสาวนิธิวดี มานิตกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย ในหัวข้อ “การทูตในประเทศที่ใหญ่เท่าทวีป ทีมซานโตส และขนมหม้อแกง” วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทาง The Cloud Podcast และ Facebook “Saranrom Radio”
๖.๔ งานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “วีซ่าและการเดินทางเข้าสหรัฐฯ และบริการด้านกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต” จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. ทาง Facebook “Royal Thai Embassy, Washington D.C.” หรือ “EducationUSA Thailand” โดยสามารถส่งคำถามล่วงหน้าได้ที่ [email protected]
* * * * *