สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.พ. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.พ. 2568

| 2,945 view

สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์

โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.00 . ณ ห้องแถลงข่าว

และทาง Facebook/TikTok live กระทรวงการต่างประเทศ

   1. การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (5-8 กุมภาพันธ์ 2568)

  • ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2568 นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง และเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
  • นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการที่สำคัญ เช่น 1) การเข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 2) พบหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน 3) นายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
  • นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีกำหนดพบหารือกับภาคเอกชนของจีนและไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันรวมถึงการเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมืออีก 13 ฉบับ ครอบคลุมผลประโยชน์ในหลายสาขา อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล เทคโนโลยีนิวเคลียร์ อวกาศ และปัญญาประดิษฐ์
  • ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ฤดูหนาว หรือ Asian Winter Games ครั้งที่ 9 ณ นครฮาร์บิน เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจทางการที่กรุงปักกิ่ง
  • การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นปีทองแห่งมิตรภาพไทย - จีน (Golden Jubilee for Thailand - China Friendship) ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย – จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

   2. การเดินทางเยือนอิสราเอลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเยี่ยมคนไทย 5 คน และบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ

  • เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ตัวประกันชาวไทย 5 คน ได้รับการปล่อยตัว และได้รับความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ของอิสราเอลที่โรงพยาบาล Al-Shamir Medical Center ในกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวไทยทั้ง 5 คน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยทุกคนมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีสภาพจิตใจที่ดี
  • ในระหว่างการเยือนอิสราเอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอิสราเอล และเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณต่อฝ่ายอิสราเอลที่ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายอิสราเอลในการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยที่เหลืออยู่คนสุดท้ายอีกหนึ่งคน และเร่งนำร่างตัวประกันอีก 2 คน ที่เสียชีวิตกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป ตลอดจนขอให้ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานไทยในอิสราเอล
  • นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ประสานในการนำครอบครัว 4 ครอบครัว ให้เดินทางไปเยี่ยมคนไทยทั้ง 5 คนที่อิสราเอลด้วย
  • ทั้งนี้ ชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจำนวน 5 คน จะเดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยสายการบิน Emirates เที่ยวบินที่ EK 374 ในวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 07.35 น. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศจะไปให้การต้อนรับคนไทยทั้ง 5 คน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย

    3. ผลการจัดโครงการ OLÁ BL&GL THAILAND IN BRAZIL นำซีรีส์วายและศิลปินนักแสดงไทยสู่ประเทศบราซิล (29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2568)

    • กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับมูลนิธิไทย และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย ดำเนินโครงการ OLÁ BL&GL THAILAND IN BRAZIL ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยการนำศิลปินนักแสดงซีรีส์วายของไทย จำนวน 4 คู่ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมคอนเทนต์วายไทย จำนวน 8 บริษัท เดินทางไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ณ นครเซาเปาโล สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและความนิยมคอนเทนต์วายของไทยในตลาดบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกา
    • กิจกรรมที่สำคัญระหว่างการเดินทางของคณะ เช่น การเข้าเยี่ยมคารวะรัฐบาลรัฐเซาเปาโล โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยเฉพาะผ่านกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการส่งเสริมคอนเทนต์วายไทยในรัฐเซาเปาโลและบราซิล ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูง
    • นอกจากนี้ ศิลปินไทยได้ขึ้นเวทีจัดการแสดงและพบปะแฟนคลับกว่า 1,500 คน ณ Terra SP Concert Hall ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสื่อมวลชน และแฟนคลับทั้งชาวบราซิลและประเทศใกล้เคียง พบปะกับ Influencer และสื่อมวลชนท้องถิ่นหลายสำนัก ตลอดจนถ่ายทำ content ในสถานที่ต่าง ๆ เผยแพร่ผ่าน social media ซึ่งเป็นการต่อยอดความนิยมศิลปินไทย อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ตลอดจนศิลปินไทยยังได้จัดกิจกรรมต่อยอดขยายผลทันทีอีก 2 กิจกรรม ซึ่งมีแฟนคลับชาวบราซิลและลาตินอเมริกาซื้อบัตรเข้าร่วมทั้งสองรายการเป็นจำนวนมาก
    • ผู้ประกอบการของไทย ทั้ง 8 ราย ได้แก่ บริษัท เฮโล โปรดักชั่น, Be on Cloud, ฮอลลีวูด จินเล่อ, กองทัพ โปรดักชั่น, ก้าวหน้า โปรดักชั่น, FRT Entertainment, Mediaplex International และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกาที่สำคัญกว่า 15 บริษัท โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการทำธุรกิจจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์การนำศิลปินนักแสดงของไทยเดินทางไปจัดการแสดงและพบปะแฟนคลับ และความร่วมมือต่อยอดทางธุรกิจในลักษณะต่าง ๆ รวมกว่า 275 ล้านบาท
    • โครงการ OLÁ BL&GL Thailand in Brazil เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านการทูตวัฒนธรรม การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และแนวคิดการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global) ในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ของไทยให้ “รุกไปในระดับโลก” ตามแนวนโยบายรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีในระดับประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะขยายไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยกับบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกาให้มีความแน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป


    4. ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568

    • ตามที่ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ PRO BIMSTEC เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในช่วงที่ไทยเป็นประธาน มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 และรับมือความท้าทายต่าง ๆ ผ่านการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือ ตลอดในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
    • บิมสเทคประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย
    • ในปีนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ซึ่งนับเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกภายใต้รัฐบาลนี้
    • สิ่งที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมครั้งนี้ คือ
    1. วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (BIMSTEC Bangkok Vision 2030) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญ (deliverable) ของการเป็นประธานของไทย เพื่อ (1) กำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของความร่วมมือบิมสเทค (2) กำหนดประเด็นสำคัญที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (3) ส่งเสริมบิมสเทคในฐานะพื้นที่แห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และ (4) ยกระดับความร่วมมือในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    2. กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบิมสเทค (Rules of Procedure for BIMSTEC Mechanisms) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบกลไกการดำเนินงานและกำหนดความรับผิดชอบของโครงสร้างต่าง ๆ ภายในบิมสเทค
    3. ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 (6th BIMSTEC Summit Declaration) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำบิมสเทค โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการ ผลงาน และประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของบิมสเทคในช่วงที่ไทยเป็นประธาน และมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐสมาชิกในการขับเคลื่อนความร่วมมือบิมสเทคตามวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
    4. รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิบิมสเทค (Report of the BIMSTEC Eminent Persons’ Group) เป็นเอกสารข้อเสนอแนะทางนโยบายของคณะผู้ทรงวุฒิฯ เพื่อพัฒนาบิมสเทคให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
    • ในช่วงวาระประธานของไทยนี้ ไทยได้พยายามให้ความร่วมมือในกรอบบิมสเทค เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยมีสิ่งที่ได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมหลายประการ เช่น ในมิติเศรษฐกิจ ได้ส่งเสริมประเด็น เช่น การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น การยกระดับความเชื่อมโยงในภูมิภาค การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย หรือ MSME (Micro, Small and Medium Enterprises) ทำให้ประชาชนสามารถขนส่งสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพนี้มีต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะทางทะเล รวมถึงการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการทุกขนาดสามารถเข้าถึงตลาดในภูมิภาคนี้ได้ง่ายขึ้น
    • สำหรับในมิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ไทยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุขเพื่อพลิกฟื้นความมั่นคงให้แก่รัฐสมาชิกบิมสเทค ซึ่งทำให้คนไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม (traditional medicine) การขยายตลาดสินค้าเกษตร และการเพิ่มพูนความมั่นคงทางอาหารกับกลุ่มประเทศสมาชิกได้
    • นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทำให้นักท่องเที่ยวจากอินเดียและเอเชียใต้ เป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทยในขณะนี้ และเป็นดาวรุ่งด้านการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน
    • ในห้วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในวันที่ 4 เมษายนนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชนไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ต้อนรับผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่มาร่วมการประชุมบิมสเทค เพื่อส่งต่อวาระประธานให้แก่บังกลาเทศต่อไป

     

    รับชมย้อนหลังที่: https://www.facebook.com/share/v/17mXpyAXS1/?mibextid=wwXIfr

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ