การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๕-๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ สปป. ลาว

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๕-๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ที่ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 มิ.ย. 2567

| 2,382 view

เมื่อวันที่ ๕-๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ รวม ๓ รายการ ได้แก่ หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership: MUSP) กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong: FOM) และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation: Mekong-ROK) ที่เมืองวังเวียงและนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส MUSP ซึ่งมีนางเมลิสซา บราวน์ (Ms. Melissa Brown) รองผู้ช่วยรัฐมนตรี ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายสมบูน สีหานาด (Mr. Somboun Sihanath) อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว เป็นประธานร่วม ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสหรัฐฯ ใน MUSP โดยยินดีกับความสำเร็จของการจัดการประชุมระดับคณะทำงาน MUSP (MUSP Policy Dialogue) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ การดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของ MUSP เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่มุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมภายใต้ ๔ เสาหลัก รวมถึงหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมรัฐมนตรี MUSP และการรับรองแผนดำเนินการ MUSP ฉบับใหม่ ปี ค.ศ. ๒๐๒๔-๒๐๒๖ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗ ในโอกาสนี้ ไทยได้เน้นย้ำการสนับสนุนการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของ MUSP อย่างต่อเนื่อง รวมถึงย้ำบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศลุ่มน้ำโขงในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาขาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะปัญหาขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืน ตลอดจนย้ำถึงการส่งเสริมการประสานงานระหว่าง MUSP กับกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และอาเซียน

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส FOM ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ เป็นประธานได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ ในด้านการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความยืดหยุ่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสมาชิก FOM โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือที่ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้สนับสนุนให้สมาชิก FOM ดำเนินโครงการและกิจกรรมในอนุภูมิภาคฯ อย่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน และมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จาก ACMECS ซึ่งสมาชิก FOM ส่วนใหญ่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และสนับสนุนกิจกรรมจับคู่โครงการ (Mapping Exercise) ของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนส่งเสริมให้ FOM เป็นเวทีในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ ที่ครอบคลุมและเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม 

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส Mekong-ROK ซึ่งมีนายคิม ดง-แบ (Mr. Kim Dong-bae) อธิบดีกรมอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และเจ้าหน้าที่อาวุโส สปป. ลาว เป็นประธานร่วมยินดีกับพัฒนาการทางความร่วมมือใน Mekong-ROK และชื่นชมบทบาทและความมุ่งมั่นของสาธารณรัฐเกาหลีในการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามแผนปฏิบัติการฉบับปัจจุบัน และนโยบาย Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI) โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund: MKCF) เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ และความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มเงินให้กองทุน MKCF เป็น ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ๒๕๗๐ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคตของ Mekong-ROK เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อความท้าทายที่เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยไทยเสนอให้ Mekong-ROK (๑) การร่วมมือกันแก้ไขความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ ปัญหา call centre อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการปราบปรามยาเสพติด (๒) การจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเกษตรกรรม (๓) การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ MSMEs และ Start-ups ซึ่งไทยยินดีที่สาธารณรัฐเกาหลีและ สปป. ลาว จะร่วมกันจัดการประชุม Mekong-ROK Business Forum ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๗ และ (๔) การส่งเสริมการประสานงานระหว่าง Mekong-ROK กับกรอบ ACMECS และ ASEAN ซึ่งจะมีการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างกันภายในปีนี้ ตลอดจนหารือความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ Mekong-ROK ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ