กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นประธานผลักดันความร่วมมือกับมณฑลเจียงซู ในการประชุมคณะทำงานไทย - เจียงซู ครั้งที่ ๕

กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นประธานผลักดันความร่วมมือกับมณฑลเจียงซู ในการประชุมคณะทำงานไทย - เจียงซู ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.ค. 2565

| 9,901 view

          วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานไทย - เจียงซู ครั้งที่ ๕ โดยมีนางสาวลดา ภู่มาศ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นประธานร่วมกับนายหวง ซีเฉียง (Huang Xiqiang) ผู้ตรวจราชการ ชั้น ๑ สำนักงานการต่างประเทศ มณฑลเจียงซู

          การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน โดยฝ่ายไทยประกอบด้วยสมาชิกสำนักงานทีมประเทศไทย ณ นครเซี่ยงไฮ้ ทั้งกงสุลฝ่ายพาณิชย์ ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ฝ่ายเกษตร และสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ส่วนฝ่ายเจียงซูประกอบด้วยผู้แทนหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน กรมเกษตรและกิจการชนบท กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการสาธารณสุข กรมวัฒนธรรมและท่องเที่ยว กรมศึกษาธิการ และสำนักงานต่างประเทศเมืองเหยียนเฉิง

          การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าของการประชุมครั้งที่ ๔ และผลักดันความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างไทยกับมณฑลเจียงซู ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยและจีน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ประเทศไทย ๔.๐ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green) ของไทย กับยุทธศาสตร์ BRI การพัฒนาคุณภาพสูง และการบูรณาการเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ของจีน โดย YRD ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในจีน และมี GDP ประมาณ ๑ ใน ๔ ของ GDP ของจีน 

          นอกจากนี้ การประชุมฯ ยังช่วยสร้างพลวัตในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย - YRD และความสัมพันธ์ไทย - จีน ในภาพรวม โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีนในปี ๒๕๖๕ พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ แม่โขงล้านช้าง อาเซียน - จีน และ APEC ซึ่งไทยดำรงตำแหน่งประธาน APEC ในปีนี้ภายใต้แนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

          กงสุลใหญ่ฯ เน้นย้ำการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก RCEP ในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โอกาสและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC การสร้างความสมดุลและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนความสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาชีวศึกษา ซึ่งเจียงซูมีความเชี่ยวชาญ

          ฝ่ายเจียงซูตระหนักถึงศักยภาพในการลงทุนที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นจุดแข็งของเจียงซู อาทิ การผลิตที่ทันสมัย วัสดุใหม่ พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์พลังงานใหม่ และประสงค์จะนำคณะผู้ประกอบการเจียงซูไปเยือนเขตส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ใน EEC ตลอดจนเสนอขยายความร่วมมือกับไทยในด้านเทคโนโลยีสีเขียว อุตสาหกรรม  สีเขียว การป้องกันและควบคุมโควิด-๑๙ และโรคเขตร้อน และการแพทย์แผนดั้งเดิม เป็นต้น    

          ผู้แทนทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ อาทิ  การค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างกัน การเกษตร เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูง และความร่วมมือระหว่างสถาบันทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนยังมีการหารือในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา ความร่วมมือระดับประชาชน และความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น ในการนี้ กงสุลใหญ่ฯ ยังได้ฝากให้ฝ่ายเจียงซูช่วยดูแลคนไทยและผลประโยชน์ของธุรกิจไทยในเจียงซูอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้นักศึกษาไทยที่เหลือสามารถเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่เจียงซูได้โดยเร็ว และเร่งฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันอย่างปลอดภัย

          อนึ่ง การประชุมคณะทำงานไทย - เจียงซู เริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้และสำนักงานต่างประเทศ มณฑลเจียงซู สลับกันเป็นเจ้าภาพเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเจียงซูเป็นมณฑลสำคัญที่มี GDP สูงเป็นอันดับ ๒ ของจีน และสูงที่สุดในเขต YRD รวมทั้งเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยในปี ๒๕๖๔ การค้าไทย - เจียงซู มีมูลค่า ๑.๘๕ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ ๓๘ ของการค้าไทย - YRD และร้อยละ ๑๔ ของการค้าไทย - จีน และเมื่อปีที่ผ่านมา เจียงซูมีการลงทุนในไทยสูงที่สุดในอาเซียนที่ระดับ ๓๗๓.๐๙ ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๑๕ ของการลงทุนทั้งหมดของเจียงซูในอาเซียน         

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ