เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ให้เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ และนางสาวอุรัสยา เสปอร์บันต์

เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ให้เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำกับ ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ และนางสาวอุรัสยา เสปอร์บันต์

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ก.ย. 2565

| 9,593 view
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้รับเชิญจากสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council – NSC) ให้เข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำกับนาย Asbjørn Warvik Rørtveit ผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ และนางสาวอุรัสยา เสปอร์บันต์ หรือคุณญาญ่า นักแสดงสาวเชื้อสายไทย-นอร์เวย์ ที่ร้าน Sjømagasinet โดยมีนางสาวแคทลียา เสปอร์บันต์ หรือคุณแคท พี่สาวของคุณญาญ่า นางสาวทอแสง ช่วงโชติ ที่ปรึกษาจากบริษัท เฟลชแมน ฮิลลาร์ด นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารข่าวเวิร์คพอยท์ นางอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ นางสาวพจมาศ แสงเทียน ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล และเจ้าหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ เข้าร่วมด้วย
 
นาย Rørtveit กล่าวว่า เนื่องจากอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะซูชิและซาชิมิ เป็นที่นิยมในประเทศไทย การบริโภคแซลมอนสดและฟยอร์ดเทราต์จึงมีปริมาณที่สูง อย่างไรก็ดี สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ประสงค์จะส่งเสริมการนำอาหารทะเลจากนอร์เวย์ไปใช้ในการปรุงอาหารไทยด้วย จึงได้นำคุณญาญ่า และคณะฯ เดินทางเยือนนอร์เวย์เป็นเวลา ๓ วัน เพื่อรวมรวมข้อมูล ภาพ และคลิปวีดิโอ สำหรับการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลจากนอร์เวย์ รวมถึงการใช้อาหารทะเลจากนอร์เวย์ในการปรุงอาหารไทย โดยในระหว่างการเยือน คุณญาญ่าได้ร่วมประกอบอาหารไทยหลายเมนู กับเชฟ Terje Ommundsen ชาวนอร์เวย์ เจ้าของร้านอาหาร Plah และ Ahaan โดยใช้วัตถุดิบหลัก คือ อาหารทะเลจากนอร์เวย์ ด้วย
 
ในโอกาสนี้ นาย Rørtveit ได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้มาร่วมรับประทานอาหาร และเชิญเอกอัครราชทูตฯ เยือนเมือง Bergen เพื่อชมฟาร์มปลาแซลมอน และสำนักงานใหญ่ของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ที่เมือง Tromsø เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาแซลมอนของนอร์เวย์ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนาย Rørtveit ได้กล่าวด้วยว่า เมื่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) แล้วเสร็จ น่าจะสามารถส่งเสริมการนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากอัตราภาษี โดยเฉพาะของอาหารทะเลแปรรูป จะปรับลดลง
 
ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์มากเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับสามของเอเชีย รองจากจีนและเกาหลีใต้ โดยในระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน ๒๕๖๕ นอร์เวย์ส่งออกแซลมอนสดและฟยอร์ดเทราต์ (fjord trout) ไปยังประเทศไทยเป็นจำนวน ๘,๓๘๕ ตัน คิดเป็นมูลค่า ๒.๘ พันล้านบาท นับเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓ และเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๑ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และประมง รับผิดชอบการส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Tromsø และมีสำนักงานภูมิภาคตั้งอยู่ใน ๑๓ ประเทศทั่วโลก ภายใต้สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี ๒๕๖๒ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ย้ายจากสิงคโปร์มาตั้งในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี ๒๕๖๑ ประเทศไทยได้นำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ๒๙,๐๐๐ ตัน รวมถึงปลาแซลมอนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ตัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ