เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๖ นายมนต์ศักดิ์ แจ้งอริยวงศ์ อุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้การต้อนรับคณะคณาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๖๕ รวม ๓๐ คน นำโดยพลตรี ศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยาการความมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
อุปทูตฯ ได้บรรยายสรุปภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในบริบทของนอร์เวย์ นอกจากนี้ นางสาวกนกนภัส สุขสง เจ้าหน้าที่ค้นคว้าวิจัย บริหารจัดการและประสานงาน Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) ประจำประเทศนอร์เวย์ ได้บรรบายสรุปเกี่ยวกับนโยบาย Green Transition ของนอร์เวย์ นอกจากนี้ ได้ร่วมตอบคำถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของคณะ
ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๖ นางสาวพจมาศ แสงเทียน ที่ปรึกษา และนางสาวกนกนภัสฯ ได้นำคณะฯ ศึกษาดูงานที่บริษัท Norner (SCGC ถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐) เมือง Porsgrunn โดยได้เยี่ยมชม Norner Innovation Center ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสติกและโพลิเมอร์ (polymer) ของบริษัท Norner และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของ Norner และเอสซีจีซี (SCG Chemical) ที่ตึก Powerhouse ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท เอสซีจีซี นอร์เวย์ คณะได้เยี่ยมชมกิจการของบริษัท Norcem และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) ของบริษัท Norcem
ในโอกาสนี้ คณะฯ วปอ. ได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ เมือง Brevik ด้วย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณชุมชนไทยในพื้นที่ นำโดยสมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทยในเกรนลันด์ และบุคลากรจากคณะวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่มาให้การต้อนรับคณะฯ อย่างอบอุ่น มา ณ ที่นี้
บริษัท Norner ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาพลาสติกและโพลิเมอร์ เน้นการพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และการพัฒนาพลาสติกจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ในขณะที่ บริษัท Norcem ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ด้วยการปรับใช้พลังงานและวัสดุทางเลือก บริษัท Norcem เป็นบริษัทปูนซีเมนต์แห่งแรกของโลกที่กำลังดำเนินโครงการ CCS ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลนอร์เวย์ร้อยละ ๗๕ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Longship ของรัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์ ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Longship ของรัฐบาลนอร์เวย์ สามารถสืบค้นได้ที่เว็ปไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ https://tinyurl.com/2c7xy3v6
การเยือนนอร์เวย์ของคณะ วปอ. เป็นการศึกษาเรียนรู้ความร่วมมือเชื่อมโยงในด้านนโยบาย Green Transition ของนอร์เวย์ และนโยบาย Bio-Circular-Green (BCG) Economy ของไทย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป