เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก ได้ให้การต้อนรับคณาจารย์และผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ นำโดยนางลัดดาวัลย์ ศรีภิรมย์ หรือครูต้อย ประธานชมรมดนตรีนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ โดยมีคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สาขาเครื่องสาย และสาขานาฏศิลป์ ได้แก่ อาจารย์ชัยรัตน์ วีระชัย รองผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาจารย์วรารัตน์ สีชมนิ่ม และ ดร. ขวัญฟ้า ภู่แพ่งสุทธิ์ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงสองสัปดาห์แรก รวม ๑๓ คน เข้าร่วมด้วย
นางลัดดาวัลย์ฯ ได้กล่าวแนะนำคณาจารย์ และกล่าวถึงโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ ๓ ดำเนินการโดยชมรมดนตรีนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ และด้วยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งในปีนี้ คณาจารย์ได้ทำการสอนที่วัดไทยนอร์เวย์ เมือง Gjøvik และเมือง Elverum แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอนที่เมืองSkien และเมือง Porsgrunn โดยที่การเรียนการสอนในช่วงแรกประสบความสำเร็จด้วยดี จึงได้นำคณาจารย์และผู้เข้าร่วมโครงการฯ มาแสดงผลงานที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในวันนี้
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณชมรมดนตรีนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ และคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปฯ ที่ได้ดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ และเห็นว่า การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้มี impact สูงมาก แม้จะมีคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลปฯ เพียง ๕ คน แต่ในเพจ Facebook ของชมรมดนตรีฯ สมาคมชุมชนไทยต่างๆ และผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างแพร่หลาย มีคนส่วนใจเข้าร่วมโครงการฯ ในเมืองต่าง ๆ ในนอร์เวย์กันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะการเรียนรู้ดนตรีไทย ศิลปวัฒนธรรม และนาฏศิลป์ไทย นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทยแล้ว ยังช่วยจรรโลงจิตใจ ทำให้จิตใจเบิกบานด้วย
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวรำลึกถึงกิจกรรมจิตอาสาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมกับชมรมดนตรีนาฏศิลป์ไทยในนอร์เวย์ จัดขึ้น ณ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ กรุงออสโล เมื่อปี ๒๕๖๗ โดยนำดนตรีไทยไปบรรเลงและแสดงนาฏศิลป์ไทยให้แก่ผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจ และดนตรีเป็นสื่อที่ช่วยทำให้เพลิดเพลิน และมีจิตใจที่ดี เอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า การเล่นดนตรี สามารถเปรียบได้กับการปฏิบัติธรรม เพราะผู้เล่นดนตรีต้องมีสมาธิ มีจิตที่ตั้งอยู่ในกุศล และมีความเบิกบาน ดังนั้น จึงประสงค์สนับสนุนให้เยาวชนไทยในนอร์เวย์เข้าร่วมโครงการฯ และหากชาวนอร์เวย์มีความสนใจ ก็น่าจะสนับสนุนด้วย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะสานต่อโครงการฯ ที่ดีเช่นนี้ต่อไป
หลังจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มาในวันนี้ และรับประทานอาหารว่างร่วมกัน โดยผลงานที่แสดงในวันนี้ ได้แก่ การบรรเลงเพลงชวา และเพลงเต้ยโขง และรำ ๓ ชุด ได้แก่ รำอัปสรา โดยคุณองุ่นฯ รำกันตรึม โดยคุณเคียงกายฯ และรำลาวคำหอม โดย ดร. ขวัญฟ้าฯ
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรดนตรีและนาฏศิลป์ไทย มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทยในนอร์เวย์ และพัฒนาต่อยอดจากการเรียนการสอนในโครงการฯ เมื่อปีที่แล้ว กำหนดการต่อไปของโครงการฯ จะมีการเรียนการสอนที่เมือง Moss เมือง Stavanger เมือง Haugesund เมือง Kristiansand และกรุงออสโล